วิเคราะห์เชิงอาชญาวิทยา 5 ประเด็นเกี่ยวข้องเหตุ 3 คดี “กราดยิง” ในห้างสรรพสินค้า ใช่พฤติกรรมเลียนแบบหรือไม่ ถอดรหัส สกัดป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำรอย สังคมไทยแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง “กราดยิงปืน” มากขึ้น

เข้าสู่ปี 63 มาเกือบ 2 เดือน เกิดเหตุการณ์ "กราดยิง" สะเทือนขวัญ เป็นข่าวครึกโครมมาแล้ว 5 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ 9 ม.ค. กับเหตุการณ์กราดยิงชิงทองที่ลพบุรีมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต พอเข้าสู่เดือน ก.พ. ในวันที่ 8 ก.พ. เกิดเหตุกราดยิง 4 ครั้ง เร่ิมจากกราดยิงห้างดังในโคราช มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

ผ่านไปไม่ถึงอาทิตย์ในวันที่ 14 ก.พ. เกิดเหตุเครียด กราดยิงปืนรัวขึ้นฟ้ากว่า 20 นัด ในพื้นที่จุฬา ซ.10 กทม. และที่นครปฐม หนุ่มยิงรัว M16 ฉุดแฟนเก่า อีก 2 วันต่อมาที่บุรีรัมย์ เกิดเหตุกราดยิงปืนขึ้นฟ้ากว่า 30 นัด เหตุเครียดและน้อยใจ และล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ก.พ. หนุ่มบุกยิงแฟนเก่าในห้างดัง กทม. จนเสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บ

...

เหตุการณ์สะเทือนขวัญทั้งหมดนี้ เหตุใดปัจจุบันคนไทยหันมาแก้ไขปัญหากันด้วยความรุนแรงเพิ่มถี่ขึ้น แรงกระตุ้นสำคัญคืออะไร แต่ละเหตุการณ์กราดยิงมีความเชื่อมโยงกันหรือไม่ เรามาร่วมกันหาคำตอบได้โดยการวิเคราะห์เชิงอาชญาวิทยา กับ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาฯ ม.รังสิต

5 ประเด็นเกี่ยวข้อง เหตุ “กราดยิง” ในห้างสรรพสินค้า 3 คดีปี 63

การกราดยิงตั้งแต่ชิงทองลพบุรี นครราชสีมา ล่าสุด ยิงอดีตแฟนที่เพิ่งหย่ากันได้ไม่ถึงสัปดาห์ที่ กทม. รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ เริ่มวิเคราะห์กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า แต่ละคดีมีมูลเหตุจูงใจในการก่อเหตุแตกต่างกัน กรณีรายล่าสุดใน กทม. น่าจะเป็นเรื่องความหึงหวง การชิงทองที่ลพบุรีเป็นการประสงค์ต่อทรัพย์ ส่วนการกราดยิงที่นครราชสีมาน่าจะเป็นเรื่องการกดดันที่ถูกกระทำจากผู้บังคับบัญชา ทั้ง 3 กรณีนี้ มีมูลเหตุจูงใจในการก่อเหตุต่างกัน แต่คล้ายกันคือ ก่อเหตุในห้างสรรพสินค้า หรือในที่สาธารณะ

เหตุกราดยิงต่อเนื่องกัน 3-5 ครั้งภายในไม่ถึง 2 เดือน กับข้อสงสัยใช่พฤติกรรมเลียนแบบหรือไม่นั้น รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ อธิบายคำตอบว่า อาจเป็นพฤติกรรมเลียนแบบซึ่งมีปัจจัยส่วนหนึ่งจากการที่ผู้ก่อเหตุอาจจะรับฟังหรือชมผ่านการสื่อสารทางโลกออนไลน์ หรือทางสื่อมวลชน นอกจากนี้มี 5 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเกิดเหตุ “กราดยิง” ในห้างสรรพสินค้าทั้ง 3 คดี ประกอบด้วย

1. ผู้ก่อเหตุ มูลเหตุจูงใจก่อเหตุไม่ว่าความรัก ความหึงหวง การประสงค์ต่อทรัพย์ เป็นการชี้ให้สังคมรู้ว่าควรต้องมาทบทวนกันตั้งแต่ในระบบครอบครัว การศึกษา ต้องสอนในเรื่องการปลูกฝังจิตสำนึกในความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันให้มากขึ้น หรือในที่ทำงานต้องจัดอบรมให้มีการสอดแทรกและปลูกฝังจิตสำนึกเหล่านี้มากขึ้น รวมทั้งให้คนเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางศาสนามากขึ้น เช่น ฟังเทศน์ ฟังธรรม น้อมนำคำสอนมาปฏิบัติ เพราะหลักคิดทางวิชาการอันหนึ่ง แนวคิดทางพันธะทางสังคมระบุไว้ หากคนเราไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางศาสนามากยิ่งขึ้นจะทำให้คนละเมิดกฎหมายน้อยลง ปัจจุบันคนไทยไม่ค่อยเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาเท่าที่ควร

...

2. ความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคมไทยที่ได้รับความสำคัญน้อยมาก ประเทศไทยควรใช้ ทฤษฎีหน้าต่างแตก หรือ Broken Windows เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ลดอาชญากรรมไปอย่างมาก จากแนวคิดจัดการเอาผิดจริงจังกับคนกระทำผิดในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหมด เช่น การขีดเขียนตามฝาผนัง ทิ้งขยะในที่ไม่ได้จัดให้ หรือคนเร่ร่อนดมกาวไปนอนหลับตามที่สาธารณะ ซึ่งอเมริกามองว่าอาชญากรรมร้ายแรงเป็นผลมาจากความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยของชุมชนเมือง จากปัญหาเล็กๆ น้อยๆ หากปล่อยละเลยจะจุดชนวนให้เกิดรอยแตกอื่นๆ ขึ้นตามมา เกิดปัญหาลุกลามอาชญากรรมร้ายแรงต่อไป

ต่างจากประเทศไทยที่ปัจจุบันเกิดปัญหาบ่อยๆ เช่น ใช้ปืนขู่ ฉุดกระชากลากกันในงานบวช ทะเลาะกันตามท้องถนน ขับรถปาดกันไปมาก็นำปืนมาขู่ ปัญหาเหล่านี้หากไม่ได้จัดการขั้นเด็ดขาด ติดตามจับกุมทุกคดีอย่างจริงจัง จะทำให้เกิดความรู้สึกไม่มีการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นต้องให้ความสำคัญในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายในทุกคดี ไม่ใช่เฉพาะคดีอุกฉกรรจ์ที่เป็นข่าวเท่านั้น

...

3. ระบบงานตำรวจที่มีความสอดคล้องเกี่ยวข้องสถิติการเกิดอาชญากรรมยังเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจ งบประมาณและนโยบายอยู่ที่ส่วนกลางจัดสรรกันในแต่ละหน่วยพื้นที่ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมโดยมากเกิดจากใช้ระบบการกระจายอำนาจ เช่น อังกฤษ อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย เยอรมนี หรือประเทศญี่ปุ่นเกิดอาชญากรรมน้อยกว่าไทยเกือบ 5 เท่า เพราะใช้ระบบการทำงานแบบผสมผสาน ทำให้คนชุมชนในพื้นที่สะท้อนปัญหาอาชญากรรมให้กับตำรวจในพื้นที่ได้อย่างจริงจัง และตำรวจในพื้นที่ก็รับฟังชาวบ้าน และวางแผนร่วมกันในการป้องกันอาชญากรรมมากกว่าฟังจากส่วนกลางอย่างเดียว ปัจจุบันการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจทำโดยส่วนกลาง ตำรวจเลยไม่สนใจประชาชนในพื้นที่

4. ระบบรักษาความปลอดภัยในที่สาธารณะ หรือห้างสรรพสินค้าของไทยยังล้มเหลว โดยเฉพาะในห้างฯ ที่ผ่านมายังไม่เคยมีคดีกราดยิงใดที่สามารถจับกุมคนทำผิดได้ทันทีทันใดเวลาเกิดเหตุ ระบบการรักษาความปลอดภัยในห้างต้องยกเครื่องใหม่ทั้งหมด ทั้งในเรื่องการป้องกัน การเฝ้าระวังเหตุ ระบบการแจ้งเหตุ ระบบการสกัดกั้นคนร้าย รวมทั้งเรื่องการเช็กเทคโนโลยี กล้องวงจรปิดในการสแกนคนเข้าห้างควรสามารถตรวจจับคนพกพาอาวุธปืนได้เหมือนต่างประเทศในจุดที่ทุกคนต้องเดินผ่าน

...

5. มาตรการการลงโทษการกราดยิงในห้าง หรือคดีอุกฉกรรจ์ คดีสะเทือนขวัญที่สื่อหรือประชาชนให้ความสนใจ ควรมีมาตรการลงโทษ การดำเนินคดีแตกต่างจากอาชญากรรมทั่วๆ ไป เช่น จับกุมได้ต้องไม่ให้ประกันตัว การตัดสินคดีต้องรวดเร็ว ไม่ควรต่อคิวเหมือนคดีปกติ อาจตัดสินคดีจบภายในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้นและเผยแพร่ผลคำพิพากษาสู่สาธารณชนเพื่อให้คนอื่นที่คิดจะกระทำความผิดเกิดความเกรงกลัว รู้สึกว่ารัฐมีการลงโทษได้จริง กฎหมายบังคับใช้ได้รวดเร็ว รวมถึงมาตรการดุลพินิจในการลดโทษตามหลักเกณฑ์ราชทัณฑ์ต้องแยกจากกลุ่มผู้กระทำความผิดในคดีอื่นๆ หรือมีหลักเกณฑ์ต่างหาก ซึ่งขณะนี้ราชทัณฑ์กำลังพิจารณาเกณฑ์ใหม่

“การกราดยิงในห้างสรรพสินค้า คนร้ายอาจมองว่าห้างฯ ยังเป็นจุดที่ระบบรักษาความปลอดภัย การสกัดกั้นคนร้ายยังทำได้ไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นห้างสรรพสินค้าต่างๆ ควรต้องมากำหนดมาตรการ รูปแบบต่างๆ ให้ชัดเจนร่วมกับตำรวจในพื้นที่ ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดเหตุแล้วตามจับ การสืบสวน ติดตามคนร้ายได้รวดเร็วเป็นแค่หนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้คนร้ายที่จะกระทำความผิดรายต่อไปเกิดความเกรงกลัว แต่ไม่ใช่ปัจจัยที่จะหยุดยั้งอาชญากรรายต่อไป” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์วิเคราะห์พฤติการณ์

แนวทาง "สื่อ" นำเสนอข่าว เฝ้าระวังการ "เลียนแบบ" 

ทั้ง 5 ประเด็น จากการวิเคราะห์ของ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ เน้นย้ำกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ไม่ได้หมายความว่าจะหยุดยั้งการก่อเหตุอาชญากรรมได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ในโลกนี้ไม่มีที่ไหนปลอดอาชญากรรม เพียงแต่เชื่อว่าจะทำให้ปัจจัยของการก่อเหตุอาชญากรรมมีแนวโน้มลดลง

กรณีสังคมสงสัย การนำเสนอของสื่อกระตุ้นให้เกิดเลียนแบบพฤติการณ์กราดยิงหรือไม่นั้น รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ให้ความเห็นตามหลักวิเคราะห์เชิงอาชญาวิทยา แต่ละสื่อนำเสนอแตกต่างกัน กรณีกราดยิงโคราช ชิงทองลพบุรี สื่อเอ่ยหรือขึ้นชื่อคนร้ายหลายครั้ง หากคนดูกำลังเผชิญปัญหาไม่ได้รับการยอมรับ อาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบคิดก่อเหตุกระทั่งเป็นข่าวได้ เพราะรู้สึกมีตัวตนในความเชื่อของเขา ซึ่งถือเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาฯ ม.รังสิต
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาฯ ม.รังสิต

แนวทางสื่อในการป้องกันการทำตาม ควรนำเสนอในเนื้อหา ในมุมที่เป็นประโยชน์กับประชาชนที่อยากรู้ แจ้งลักษณะเป็นข่าว ไม่เอ่ยชื่อผู้กระทำความผิดซ้ำๆ เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าคนทำผิดคือฮีโร่ ตรงตามจุดประสงค์ที่คนร้ายตั้งไว้ หรือนำเสนอในมุมที่ประชาชนทั่วไปอยากทราบ เช่น กราดยิงที่โคราช นำเสนอว่าตอนนี้ตำรวจช่วยออกมาได้กี่คน สามารถติดต่อคนที่ช่วยออกมาได้ทางใด ไม่ควรนำเสนอว่าคนร้ายเป็นใคร เห็นหน้าถี่ๆ ซ้ำๆ จะส่งผลต่อพฤติกรรมเลียนแบบได้ ซึ่งเป็นเหตุผลสอดคล้องกับในสหรัฐอเมริกาเมื่อจับผู้ก่อเหตุกราดยิงได้ หลังทำการตรวจสอบค้นห้อง ที่ทำงาน พบผู้ก่อเหตุมีเอกสารและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากคดีกราดยิงที่เคยเป็นข่าวมาก่อน

ต้นตอ "ปืน" ยุติปัญหา สังคมไทย "ตีโจทย์ไม่แตก"

ปัจจุบันมีสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ วิเคราะห์ว่าทำให้มี 2 โลก คือ โลกความเป็นจริง กับโลกเสมือน (โลกออนไลน์) ในเชิงป้องกัน เฝ้าระวังการก่อเหตุกราดยิง หรืออาชญากรรมต่างๆ ถ้าเพื่อนร่วมงานหรือคนที่รู้จักทราบเหตุก่อน ญาติพี่น้องที่อยู่ในเฟซบุ๊ก ควรพูดคุยเพื่อให้ผู้ที่คิดก่อเหตุปรับเปลี่ยนความคิดก่อนไปก่อเหตุ หรือแม้หากเกิดเหตุแล้วสามารถใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทางในการแจ้งเบาะแสกับเจ้าหน้าที่ได้

ตามข่าวที่เห็นกันเป็นประจำ คนในสังคมไทย อารมณ์ร้อน ตัดสินและแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงมากขึ้น ทั้งทำร้ายร่างกาย และรุนแรงหนักถึงขั้น “กราดยิง” ต้นตอปัญหาที่แท้จริงนั้น จากการวิเคราะห์ของ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า ปัจจุบันไทยกำลังเข้าสู่สังคมยุค AI ที่สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ Big Data  อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G เหมือนสังคมโลกซึ่งหนีการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เป็นการมุ่งให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากจนลืมลงทุนหรือให้ความสำคัญกับทุนทางสังคม (Social Capital) ในการ “ยกระดับและพัฒนาจิตใจของคน” ตามการพัฒนาของการเปลี่ยนแปลงของโลก

ในเชิงอาชญาวิทยา ตามหลักวิชาการ หากคนในสังคมมีความเกี่ยวข้อง ผูกพันชุมชน ครอบครัว คนรอบข้าง คนคนนั้นมีโอกาสคิดละเมิดกฎหมายได้น้อยลง และในทางกลับกัน หากคนที่ลดการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ปิดกั้น ไม่ค่อยผูกมิตร ชอบอยู่คนเดียวก็มีโอกาสละเมิดกฎหมายมากขึ้น

“สังคมไทยเราต้องกลับมาทบทวนเรื่องการลงทุนกับคน และเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ความปลอดภัยในที่สาธารณะ โดยเฉพาะการปลูกฝังจิตสำนึกและการสร้างคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น ไม่ใช่สร้างคนคนหนึ่งเติบโตขึ้นมา เมื่อไม่พอใจก็มาฆ่าๆ คนอื่น สังคมไทยตีโจทย์ไม่แตก ต้องช่วยกันขัดเกลาทางสังคม พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องให้เวลา ให้ความรัก ความเอาใจใส่มากยิ่งขึ้น ระบบการศึกษา คุณครู อาจารย์ก็ต้องให้ความสำคัญในการสร้างจิตสำนึก สร้างความรับผิดชอบ ปลูกฝังให้มากยิ่งขึ้น มัวแต่มุ่งเน้น Big data แต่ไม่พูดเรื่องลงทุนกับคน” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์กล่าว

ข่าวน่าสนใจ

สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่