7 ขั้นตอนทิ้ง "หน้ากากอนามัย"ไม่ให้เสี่ยงต่อการแพร่ไวรัสโคโรนา ป่วยไข้ สบายดีพับต่างกัน จีบคว่ำมีดีมากกว่ารู้ "ใส่ผิด" กทม. คุมเข้มสวม PPE กำจัดขยะหน้ากากอนามัยติดเชื้อ 40 ตันต่อวัน เสริมจุดทิ้ง 3 พันกว่าแห่ง
คนไทยเกิดกระแสตื่นตัวในการสวม "หน้ากากอนามัยทางการแพทย์" (surgical face mask) มากยิ่งขึ้น หลังเกิด สถานการณ์ระบาดฝุ่น PM 2.5 และการแพร่ติดต่อของ "ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019" นับตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค. 62 ทำให้หน้ากากอนามัยเป็นสิ่งจำเป็นอีกอย่างที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน
ในสถานการณ์ที่การใช้หน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นมากอยู่ ณ ขณะนี้ ส่งผลให้เกิดขยะหน้ากากอนามัยจำนวนมากตามไปด้วย หลายคนสงสัยหลังใช้แล้ว ควรทิ้งอย่างไรไม่ให้เป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่ผู้อื่น หากไม่ทิ้งลงถังขยะ โอกาสแพร่เชื้อจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ สุดท้ายแล้วขยะหน้ากากอนามัย กทม. กำจัดอย่างไร
กทม. คุมเข้ม สวม PPE กำจัด "ขยะหน้ากากอนามัย"
...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ สอบถามจาก นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. เปิดเผยว่า ตามหน้าที่ของ กทม. ต้องจัดเก็บขยะตามบ้านเรือนของประชาชน ซึ่งมีทั้งขยะทั่วไป ขยะติดเชื้อ และขยะอันตราย
มาตรการบริหารจัดการขยะหน้ากากอนามัยตามบ้านเรือนของประชาชนได้กำชับสำนักงานเขตแยกเก็บรวบรวมหน้ากากอนามัย และจัดส่งไปกำจัดด้วยการเผาในเตาเผามูลฝอยชุมชน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม หรือเตาเผามูลฝอยติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช โดยจัดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE)ให้แก่เจ้าหน้าที่เก็บมูลฝอย ประกอบด้วย แว่นตา ผ้าปิดจมูก ถุงมือยาง ถุงมือผ้า รองเท้าบูต และเสื้อกั๊กสะท้อนแสง
หน้ากากอนามัยใช้แล้วในสถานพยาบาล คลินิก หรือโรงพยาบาลต่างๆ ถือเป็น “ขยะติดเชื้อ” มีมาตรการจัดเก็บด้วย "รถเก็บขยะอีกประเภท" ซึ่งอยู่ภายใต้การจัดการของ “บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด” ที่ กทม. ถือหุ้น 99.98% รับดำเนินกิจการเกี่ยวกับการให้บริการ และการจัดการงานสาธารณูปโภคพื้นฐานในเขตกรุงเทพมหานคร กรณีหน้ากากอนามัยที่ประชาชนทิ้งตามบ้านเรือน ขอความร่วมมือ “แยก” ออกจากมูลฝอยทั่วไป ใส่ถุงผูกให้แน่นและทิ้งถังขยะตามปกติ แยกวางไว้
7 ขั้นตอน ทิ้ง "ขยะหน้ากากอนามัย" ป่วย ไม่ป่วย พับต่างกัน
วิธีทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธีและปลอดภัย 7 ขั้นตอน ดังนี้ 1. ถอดหน้ากากอนามัยออกด้วยการจับที่เชือกคล้องหู โดยไม่สัมผัสด้านใน หากใส่หน้ากากอนามัยในกรณีที่ป่วย หรือ ถอดหน้ากากอนามัยออกโดยไม่สัมผัสด้านนอกในกรณีที่ใส่เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากผู้อื่น 2. จับที่ขอบแล้วพับครึ่งในกรณีป่วยให้ด้านที่สัมผัสหน้าอยู่ข้างใน หากใส่เพื่อป้องกันให้ด้านสีเข้มอยู่ข้างใน 3. จับที่ขอบแล้วพับครึ่งอีกครั้ง 4. พับครึ่งอีกหนึ่งทบให้เชือกทั้งสองฝั่งอยู่ด้านเดียวกัน 5. ใช้เชือกคล้องหูรัดมัดให้แน่น 6. ใส่ถุงพลาสติก หรือห่อกระดาษให้มิดชิดและนำไปทิ้งขยะ หรือ รพ.ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่งทั่ว กทม. ใกล้บ้าน 7. ล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือเจลล้างมือหลังทิ้งหน้ากากอนามัย
...
“ไอ จาม มีน้ำมูก มีเสมหะ เชื้อโรคจะอยู่ข้างใน หากถอดหน้ากากควรพับ ม้วนด้านที่สัมผัสใบหน้าเข้าข้างใน ทิ้งในถุงพลาสติก มัดปากถุงให้แน่น แยกต่างหากจากถุงขยะทั่วไป เวลาพนักงานมาจัดเก็บ ควรบอกหรือเขียนไว้ว่าเป็นขยะหน้ากากอนามัย พนักงานจะเก็บแยกใส่ถังสีส้มท้ายรถที่เขียนไว้ว่าเป็นขยะอันตราย” นายชาตรี แนะนำ
40 ตันต่อวัน ขยะติดเชื้อ เสริมจุดทิ้งหน้ากากอนามัย 3 พันกว่าแห่ง
สำหรับการแต่งกายของ “พนักงานเก็บขนและกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ” ต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ด้วยเช่นกัน ประกอบด้วย ถุงมือ ถุงเท้า รองเท้าบูต หน้ากากอนามัย ชุดกั้นเปื้อน หมวก เป็นต้น เพื่อป้องกันอันตรายจากการสัมผัสมูลฝอยที่อาจเกิดขึ้น จากนั้นเมื่อเก็บขยะติดเชื้อแล้ว จะนำไปกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะด้วยวิธีการเผาในเตาเผามูลฝอยชุมชน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม หรือเตาเผามูลฝอยติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช
ความปลอดภัยและป้องกันการแพร่เชื้อของ “รถเก็บขยะติดเชื้อ” นายชาตรี เปิดเผยข้อมูลกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ข้างรถเขียนระบุไว้ “ขยะติดเชื้อ” ภายในห้องเก็บขยะมีการควบคุมอุณภูมิและมีการปกปิดมิดชิด พนักงานเก็บขนและกำจัดมูลฝอยติดเชื้อจะไปเก็บตามคลินิก โรงพยาบาล สถานพยาบาล ร้านเสริมสวย ศูนย์บริการสาธารณสุขทั่ว กทม. 3 พันกว่าแห่ง ที่ไม่มีเตาเผาเป็นของตัวเองในทุกวัน วันละรอบ โดยอัตราค่าบริการคิดเป็นตัน
...
“รถเก็บขยะติดเชื้อจะไม่เหมือนรถเก็บขยะทั่วไปที่เห็นเป็นสีเขียว รถมีความพิเศษ ภายในห้องปกปิดมิดชิด และมีความเย็น เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย ทุกวันนี้ กทม. สามารถกำจัดขยะติดเชื้อได้วันละประมาณ 40 ตันต่อวัน” ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อมให้ข้อมูล
"จีบคว่ำ" หน้ากากอนามัย มีประโยชน์ มากกว่ารู้ "ใส่ผิด"
การป้องกันอันตรายจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เก็บขยะทั่วไป (รถสีเขียว) และ เจ้าหน้าที่เก็บขยะติดเชื้อ นอกจากให้สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตราย (PPE) แล้ว กทม. ยังจัดอบรมเจ้าหน้าที่เก็บขยะมูลฝอยที่สำนักงานเขตอย่างน้อยเดือนละครั้งให้ความรู้ ความเข้าใจด้านอาชีวอนามัย รวมถึงการป้องกันโรค ดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันอันตรายจากการปฏิบัติงานที่อาจเกิดขึ้นได้ พร้อมทั้งจัดตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี นอกจากนี้บางเขต ภาคเอกชนเป็นผู้สนับสนุนประกันชีวิตกลุ่ม
...
การสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้องเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ นายชาตรี แนะว่า ต้องให้คลุมทั้งจมูกและปาก โดยให้ด้านที่มีสีเข้มออกด้านนอก แกนโลหะอยู่ด้านบน กดให้เข้ากับสันจมูกและให้รอยจีบคว่ำลง เพราะหากมีคน ไอ จาม ใส่ในระยะ 1 เมตร สารคัดหลั่ง ละอองฝอย น้ำมูก น้ำลายก็จะไหลลงด้านล่าง
หากใส่ผิดโดยด้านที่เป็นแกนโลหะอยู่ใต้คาง จีบหน้ากากอ
นามัยหงาย เชื้อจะติดอยู่ในจีบหน้ากากอนามัย การใส่หน้ากากอนามัย เพื่อรับมือไวรัสโคโรนา สายพันธ์ุใหม่ 2019 ควรทำตามคำแนะนำขอกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ
“การทิ้งหน้ากากอนามัย ขอให้แยกต่างหากจากขยะทั่วไป เพื่อพนักงานไปเก็บแล้วนำมากำจัดให้ถูกหลักวิชาการก็จะสามารถป้องกันการแพร่เชื้อต่างๆ ได้” ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม เน้นย้ำ
หล่นหาย มักง่าย ทิ้งหน้ากากอนามัยไม่ลงถัง แพร่เชื้อได้หรือไม่
หากเกิดกรณีคนมักง่ายทิ้งหน้ากากอนามัยไม่ถูกวิธี ไม่ทิ้งลงถังขยะ ทิ้งในที่สาธารณะๆ อาจด้วยความตั้งใจ หรือหน้ากากหล่นหาย จะส่งผลให้เกิดการแพร่เชื้อได้หรือไม่ จากการสอบถาม นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดี กรมอนามัย อธิบายกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดการขยะติดเชื้อของกระทรวงสาธารณสุข ขยะติดเชื้อหมายถึงขยะที่เกิดในสถานพยาบาล ที่บุคลากรทางการแพทย์ใช้ในโรงพยาบาล ใส่ในห้องฉุกเฉิน ในห้องผ่าตัด หรือคนไข้ใช้ป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายสู่คนอื่น กรณีหน้ากากอนามัยที่ประชาชนปกติทั่วไปใช้ในที่สาธารณะเพื่อป้องกันตัวเองจากฝุ่น หรือเชื้อโรคจึงไม่นับว่าเป็นขยะติดเชื้อ จัดเป็น “ขยะมูลฝอยปกติ” ทั่วไป
ปกติหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในบุคลากรการให้บริการในสถานพยาบาล เพราะทุกครั้งที่ใช้มีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคขณะให้บริการ กรณีของประชาชนที่ใช้น้อยมากในบางวัน ในห้วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น เดินทางในที่สาธารณะ อาจจะใช้ต่อเนื่องได้ 2-3 วัน แต่ต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น หากสภาพการใช้งานที่เกิดขึ้นจริง เกิดการชำรุดก็ควรทิ้งอย่างถูกวิธี
“หากทิ้งโดยไม่พับ ม้วน ห่อกระดาษแยกใส่ถุงมัดให้มิดชิดอาจมีเชื้อโรคอยู่บ้าง แต่โอกาสเชื้อแพร่สู่ภายนอกจะใช้เวลานานพอสมควร เนื่องจากการเจริญเติบโตของเชื้ออยู่ในสภาพแวดล้อมภายนอกได้ไม่นาน หากทิ้งถูกต้อง ไม่ถูกขุ้ย เขี่ย สัมผัสหน้ากากอนามัยก็ค่อนข้างจะไม่มีผล” นพ.ดนัย ธีวันดา ให้เหตุผล
ที่สาธารณะ 99% ไม่มีเชื้อ พบ PM 2.5 ง่ายกว่าไวรัสโคโรนา 2019
ความต้องการใช้ “หน้ากากอนามัย” ที่มีมากขึ้นในปัจจุบันของประชาชน ในช่วงสถานการณ์ PM 2.5 ที่เริ่มปลายปี 62 และโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ 2019 ตั้งแต่สิ้นเดือน ธ.ค. 62 เป็นต้นมา ทำให้ปริมาณการใช้จากเดิมเฉลี่ยเดือนละ 30 ล้านชิ้น เพิ่มสูงเป็น 40-50 ล้านชิ้น จนอาจขาดแคลนและแห่กักตุน ซึ่งตามภาษาทางวิชาการ นพ.ดนัย ระบุ ถือเป็น “ความต้องการเทียม”
ข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการที่วงการแพทย์ในต่างประเทศทางตะวันตกยืนยันการใช้หน้ากากอนามัย ให้ใช้สำหรับผู้ป่วยและบุคลาการทางการแพทย์เท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่กระจายเชื้อ การใส่หน้ากากอนามัยในเมืองไทย หากยึดมั่นตามหลักดังกล่าว จะเกิดความกังวลในสังคม เหตุผู้ป่วยอาจไม่ยอมใช้หน้ากากอนามัย เพราะรู้สึกเหมือนถูกตีตราว่าป่วย การที่ประชาชนปกติทั่วไปตื่นตัวในการใส่หน้ากากอนามัยเป็นสิ่งหนึ่งช่วยไม่ให้ตีตราคนป่วย
ในความเป็นจริง คนปกติทั่วไปที่ไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนานั้นเป็นสิ่งไม่จำเป็น และไม่มีผลใดๆ ในการรับเชื้อ เพราะแพร่กระจายได้ผ่านละอองน้ำมูก น้ำลาย จากการไอและจามในระยะประชิดตัว 1 เมตร อีกทั้งตามหลักการวิชการองค์การอนามัยโลกยืนยัน ณ ขณะนี้ มาตราการหลักจริงๆ ในการป้องกัน คือ ล้างมือบ่อยๆ อย่างสม่ำเสมอในกรณีสัมผัสพื้นผิวอื่นๆ อย่างไรก็ตาม การใส่หน้ากากอนามัยก็ไม่ได้เป็นการสูญเปล่าใดๆ
“PM 2.5 อยู่ในชั้นบรรยากาศได้ทุกที่ ถ้าจุดนั้นมีความเข้มข้น PM 2.5 มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร นั่นหมายความว่าในละแวกนั้นทั้งหมดที่เดินไปเดินมา แต่กรณีของเชื้อในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ณ ขณะนี้ กว่า 99% ไม่มีเชื้อไวรัสโคโรนา การใส่หน้ากากอนามัยไม่ได้เป็นการป้องกันที่สูญเปล่าใดๆ อย่างน้อยก็ป้องกันให้คนที่มีเชื้อใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระจายให้คนอื่น” นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ข่าวน่าสนใจ
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ