เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 นับเป็นเรือพระที่นั่งสำคัญ ตั้งแต่เมื่อครั้งสมัยอยุธยา โดยมีชื่อเรียกหลายชื่อ ตั้งแต่ศรีสุพรรณหงส์ สุวรรณหงษ์ จนมาเป็น "สุพรรณหงส์" ในปัจจุบัน

ย้อนไปในรัชสมัย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา มีชื่อปรากฏว่า เรือศรีสุพรรณหงส์ หรือเรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์ ที่สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2091

นอกจากนี้ นายธงชัย ณ นคร บรรณาธิการข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กล่าวว่า จากการสืบค้นข้อมูล จากห้องสมุดวชิรญาณ พบว่า มีบทเห่เรือ ที่เป็นพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือพระมหาธรรมราชา ระบุถึงชื่อเรียกเรือพระที่นั่งในบทเห่เรือว่า "สุวรรณหงษ์" โดยท่อนหนึ่งในบทเห่เรือ เขียนไว้ดังนี้

“สุวรรณหงษ์ทรงภู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์

เพียงหงษ์ทรงพรหมินทร์ ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม”

นายนคร เล่าต่ออีกว่า ในอดีตเรือพระที่นั่งที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเริ่มผุพัง จนมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ต่อขึ้นใหม่ และแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อพุทธศักราช 2454 และมีชื่อเรียกว่า เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ จนถึงปัจจุบัน

...

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง สร้างด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก หัวเรือเป็นรูปศีรษะหงส์ มีพู่ขนจามรีห้อย ท้ายเรือเป็นรูปงอนช้อย 

หัวเรือพระที่นั่งนี้มีโขนเรือรูปหัวของหงส์ ลำตัวเรือทอดยาวคือส่วนตัวหงส์ จำหลักไม้ลงรักปิดทองประดับกระจกมีพู่ห้อย ปลายพู่เป็นแก้วผลึก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือทาสีแดง ตอนกลางลำเรือมีที่ประทับเรียก ราชบัลลังก์กัญญา สำหรับพระเจ้าอยู่หัวหรือพระราชวงศ์ชั้นสูง เรือมีความยาว 46.15 เมตร กว้าง 3.17 เมตร ลึกจนถึงท้องเรือ 94 เซนติเมตร กินน้ำลึก 41 เซนติเมตร น้ำหนัก 15 ตัน

ใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 50 คน นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน คนขานยาว 1 คน คนขานยาวทำหน้าที่ในการร้องขานเพลงเรือโดยฝีพายจะร้องเห่เรือพร้อมกันไปตามจังหวะร่วมกับเรือลำอื่นๆ

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ได้รับรางวัลยกย่องให้เป็นเรือมรดกโลก จากองค์กรที่เรียกว่า World Ship Trust เมื่อพุทธศักราช 2535 

ที่มาข้อมูล : เว็บไซต์ https://phralan.in.th/coronation/ โดยคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก, เฟซบุ๊ก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒, ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ บทเห่เรือ-พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร