ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ส่วนของพระราชพิธีเบื้องปลาย ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค วันที่ 12 ธ.ค. 2562 การจัดรูปขบวนเรือพระราชพิธี มีทั้งหมด 52 ลำ จัดเป็น 5 สาย 3 ริ้ว มีลักษณะหน้าที่แตกต่างกัน แบ่งได้เป็น 2 เหล่า คือ เรือพระที่นั่ง และเรือเหล่าแสนยากร ดังนี้

ริ้วสายกลาง เป็นเรือสายสำคัญ ประกอบด้วยเรือพระที่นั่ง 4 ลำ มีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

นอกจากนี้มีเรืออีเหลือง เป็นเรือกลองนอก เรือแตงโม ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือ เป็นเรือกลองใน พร้อมด้วยเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจใน

ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้า และเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ และปิดท้ายสายในด้วยเรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก 

ริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดั้ง และเรือแซง สายละ 14 ลำ

รวมจำนวนเรือทั้งหมด ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีการจัดรูปขบวนเรือพระราชพิธี ทั้งหมด 52 ลำ กําลังพลประจําเรือพระราชพิธี ที่ได้คัดเลือกกําลังพลจากหน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือ จํานวน 2,311 นาย มีความยาวของขบวนเรือพระราชพิธีฯ ประมาณ 1.2 กม. มีระยะทางเสด็จพระราชดำเนินจากท่าวาสุกรี ถึงท่าราชวรดิฐ ระยะทางประมาณ 3.4 กม.

ทั้งนี้ เรือพระที่นั่ง มีความสำคัญมากที่สุดในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เพราะเป็นเรือที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ เรียงตามลำดับอายุของเรือ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ซึ่งแต่ละลำนั้น ได้ใช้ในพระราชพิธีสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง

...

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ มีอายุ 108 ปี สร้างขึ้นใหม่ในปลายรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อพุทธศักราช 2454 ตั้งชื่อตามเรือพระที่นั่งโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา คือ เรือศรีสุพรรณหงส์ หรือเรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์ ที่สร้างเมื่อพุทธศักราช 2091

โขนเรือ เป็นรูปหัวของหงส์ ลำตัวเรือทอดยาวคือส่วนตัวหงส์ จำหลักไม้ ลงรักปิดทองประดับกระจกเป็นรูปหงส์เหมราช มีพู่ห้อย ปลายพู่เป็นแก้วผลึก ท้องเรือทาสีดำ ผนังภายในทาสีแดง ตอนกลางลำเรือทอดพระแท่นบัลลังก์กัญญา ที่ประทับสำหรับพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ชั้นสูง 

ในส่วนความยาวของเรือ 44.90 เมตร กว้าง 3.14 เมตร ลึก 90 เซนติเมตร กินน้ำลึก 40 เซนติเมตร น้ำหนัก 15 ตัน ใช้กำลังพลฝีพาย 50 นาย พลสัญญาณ 1 นาย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย เจ้าหน้าที่ประจำเครื่องสูงอภิรุมชุมสาย 7 นาย นักสราช หรือคนเชิญธง 1 นาย

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือพระที่นั่งรอง ประเภทเรือพระที่นั่งศรีสักหลาด สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อายุ 102 ปี

ชื่อของเรือ มีความหมายว่า พญานาคจำนวนมาก กอดกระหวัดรัดรึงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สอดคล้องกับลวดลายของโขนเรือ ที่มีลักษณะเชิดเรียว จำหลักไม้ ลงรักปิดทองเป็นรูปพญานาคจำนวนมาก ด้านข้างจำหลักไม้ ลงรักปิดทองเป็นรูปนาค 7 เศียร นาค 5 เศียร และนาค 3 เศียร ลดหลั่นกันลงไปเรียกว่า นาคเกี้ยว หรือนาคขอสร้อย 

พื้นท้องเรือทาสีชมพู ผนังด้านในสีแดง กว้าง 3.15 เมตร ยาว 45.40 เมตร ลึก 1.11 เมตร กินน้ำลึก 46 เซนติเมตร ตอนกลางลำเรือทอดพระแท่นบัลลังก์กัญญา ใช้ฝีพาย 61 นาย พลสัญญาณ 1 นาย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย เจ้าหน้าที่ประจำเครื่องสูงอภิรุมชุมสาย 7 นาย และคนเชิญธง 1 นาย 

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์นี้ เคยเป็นเรือพลับพลาสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงเปลื้องพระมาลาเส้าสูงเป็นพระชฎามหากฐินน้อยในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางชลมารค ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 

...

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง มีลำดับสูงสุดเช่นเดียวกับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 อายุ 95 ปี

โขนเรือจำหลักไม้ ปิดทองประดับกระจก เป็นรูปพญาอนันตนาคราช หรือ พญานาค 7 เศียร และเป็นเรือพระที่นั่ง หนึ่งในสองลำที่เจาะช่องบริเวณด้านหน้าโขนเรือ ขนาดความกว้าง 23 เซนติเมตร เพื่อวางปืนจ่ารง (ปืนบรรจุปากกระบอก) จำลอง

กลางลำเรือทอดบุษบกย่อมุมไม้สิบสองยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูป หรือเชิญผ้าพระกฐิน และยังเคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางชลมารค กลับจากวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร มายังฉนวนท่าราชวรดิฐ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

ท้องเรือภายนอกทาสีเขียว ผนังภายในทาสีแดง เรือมีความยาว 45.85 เมตร กว้าง 2.58 เมตร ลึก 47 เซนติเมตร กินน้ำลึก 31 เซนติเมตร ใช้กำลังพลฝีพาย 54 นาย พลสัญญาณ 1 นาย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย เจ้าหน้าที่ประจำเครื่องสูงอภิรุมชุมสาย 7 นาย พนักงานเห่เรือ 1 นาย เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง จำนวน 3 นาย ถือบังสูรย์ พัดโบก และพระกลด รวมทั้งมีคนถือธง 1 นาย 

...

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เป็นเรือพระที่นั่งรองประเภทเรือพระที่นั่งกิ่ง มีอายุ 23 ปี จัดสร้างขึ้น เมื่อครั้งเฉลิมฉลองในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2539 โดยกองทัพเรือ และกรมศิลปากร ได้นำโขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มาเป็นต้นแบบ เป็นเรือพระที่นั่งอีกลำที่เจาะช่องบริเวณด้านหน้าโขนเรือ เพื่อวางปืนจ่ารงจำลอง 

โขนเรือ จำหลักไม้ ปิดทองประดับกระจกเป็นรูปพระนารายณ์ 4 กร ทรงศาสตราวุธ จักร สังข์ คทา และตรีศูล ประทับยืนบนหลังพญามงคลสุบรรณ หรือ พระนารายณ์ทรงครุฑยุดนาค ใช้เป็นเรือพระที่นั่งทรงครั้งแรกในขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2539 ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารคฉลองในปีกาญจนาภิเษก พุทธศักราช 2539 

...

ส่วนลวดลายบริเวณหัวเรือมีลักษณะเป็นก้านขดใบเทศ มีครุฑประกอบที่ตัวก้านขด ส่วนท้ายเรือบริเวณแก้มเรือตกแต่งด้วยลวดลายก้านขดกนกเปลว ตอนปลายสุดของท้ายเรือเป็นลายสร้อยหางครุฑ ตอนกลางลำเรือทอดพระแท่นบัลลังก์กัญญา ทาสีแดงทั้งพื้นท้องเรือ และด้านในเรือมีความยาว 44.30 เมตร กว้าง 3.20 เมตร ลึก 1.10 เมตร กินน้ำลึก 40 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 20 ตัน ถือเป็นเรือที่มีน้ำหนักมากที่สุด ใช้กำลังพลฝีพาย 50 นาย พลสัญญาณ 1 นาย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย เจ้าหน้าที่ประจำเครื่องสูงอภิรุมชุมสาย 7 นาย และคนถือธง 1 นาย