เรียกว่าเป็นข่าวสลดอีกครั้ง สำหรับอุบัติเหตุจาก “รถปิกอัพ” หรือภาษาบ้านๆ เรียก “รถกระบะ” ซึ่งคราวนี้รุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต 13 คน โดยมีคนบาดเจ็บสาหัสอีกหลายราย เหตุเกิดที่ ซอยกิ่งแก้ว 21 มุ่งหน้าลาดกระบัง ม.12 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
หากใครยังจำได้ เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกมาตรการ “ไม่ให้นั่งท้ายกระบะ” ทำให้มีเสียงต่อต้านจากประชาชนอย่างล้นหลาม เพราะนี่คือ “วิถีชีวิต” ของคนไทยจำนวนมากที่จำเป็นต้องใช้รถเดินทางสัญจร
ปัญหานี้เรียกว่า “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” จะห้ามก็ไม่ได้ ปล่อยให้ใช้ก็สุ่มเสี่ยงต่อชีวิต..
![10 ปี อุบัติเหตุท้องถนนไทย ตายเกือบแสน “รถกระบะ” นั่งท้าย-ในแค็บ รอดยาก](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04OYZ7He4RptHCt8aLgC4qjtliQQyBZV.webp)
ถอดบทเรียนใช้รถ “รถกระบะ” คือ รถบรรทุกขนาดเล็ก ขับเร็ว เสี่ยงตาย นั่งท้ายโอกาสรอดน้อย
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า บ้านเราเป็นประเทศที่นิยมใช้รถกระบะ ชาวบ้านจำเป็นต้องใช้รถประเภทนี้ในการดำรงชีพและการเดินทาง โดยคนไทยใช้รถกระบะ 2 ลักษณะ คือ 1. ใช้เพื่อบรรทุกสินค้า 2. ใช้เพื่อเดินทาง
...
“หากเป็นรถเปล่า รถกระบะจะมีจุดศูนย์ถ่วงที่ไม่ดีพอ หากวิ่งเร็วมากๆ จะมีโอกาสเสียหลัก หรือแหกโค้งได้ง่าย เพราะรถถูกออกแบบเพื่อ “บรรทุก” รถจะวิ่งได้ดีเมื่อมีน้ำหนักที่ท้าย กดลงไปสัก 500 กิโลกรัม จนถึง 1 ตัน ยิ่งถ้าผู้ใช้รถใช้ไม่เป็น ใช้ล้อรถที่มีลมยางไม่เหมาะสม ก็ยิ่งอันตราย เคยมี...คนขับรถบรรทุกของเยอะๆ แต่บางวันมีคนมานั่งท้ายกระบะ แกก็ลืมตัว เหยียบเข้าโค้งก็เกิดอุบัติเหตุ”
ผอ.สคอ. กล่าวต่อไปว่า เวลาเกิดอุบัติเหตุกับรถกระบะ ส่วนมากเกิดแล้วจะรุนแรงกว่ารถเก๋ง ด้วยความแรงของรถที่ปัจจุบัน ไม่มีการควบคุม เวลาการเดินทาง มีคนอยู่ในรถนับสิบคน ถามว่ารถมีความปลอดภัยไหม ก็ต้องตอบว่า เพราะเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ เรียกว่า “แรง บึกบึน” แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือพวก “มือใหม่” ทั้งหลาย เราควรจะเรียนรู้การควบคุมรถให้ดี ประกอบกับถนนเมืองไทย แต่ละจุดก็มีความลาดเอียงไม่เสมอ
![10 ปี อุบัติเหตุท้องถนนไทย ตายเกือบแสน “รถกระบะ” นั่งท้าย-ในแค็บ รอดยาก](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04OYZ7He4RptHCt8aLouP4MJBdoGrLv6.webp)
เกิดอุบัติเหตุกับรถกระบะ โอกาสเสียชีวิตแค่ไหน..
นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า กระบะมีความเสี่ยงมากกว่ารถบุคคล เรียกว่า เราใช้รถผิดประเภททั้งประเทศ เพราะรถกระบะคือรถบรรทุกขนาดเล็ก แต่บางทีเราเอามาขนคน เวลาเกิดเหตุมันจึงมีลักษณะเทกระจาด ยิ่งนั่งด้านหลัง หรือในแค็บ มักไม่ค่อยรอด
“คนที่นั่งแค็บจะเจอปัญหา 2 อย่าง คือ ตัวคนนั่งจะไปกระแทกคนนั่งข้างหน้า ส่วนมากจะไปกระแทกที่บริเวณต้นคอ หรือไม่ก็กระเด็นออกไปนอกตัวรถเลย เพราะแขนขาจะหักหมด เพราะอยู่ในที่แคบ ดีไซน์ที่ถูกออกแบบมาก็ไม่มีเข็มขัดนิรภัย แต่ถ้าเป็น 2 ตอน ก็ถือว่าความปลอดภัยดีขึ้น เพราะมีเข็มขัดนิรภัย และที่นั่งที่ดีกว่า แต่ทั้งนี้ รถกระบะในบ้านเราใช้ผิดประเภทมานาน เรื่องนี้รัฐเป็นฝ่ายผิด คือรัฐปล่อยให้ภาคประชาชนใช้ ภาคอุตสาหกรรมก็ผลิตใช้กันมาอย่างยาวนาน จนมาวันนี้เรามองมันเป็นปัญหา แต่จะไปควบคุมก็ยาก เพราะรถในท้องถนนมีมาก จะมา “หักด้ามพร้าด้วยเข่า” ไปสั่งห้ามนั่งท้ายกระบะ แบบนี้มันไม่ได้”
![10 ปี อุบัติเหตุท้องถนนไทย ตายเกือบแสน “รถกระบะ” นั่งท้าย-ในแค็บ รอดยาก](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04OYZ7He4RptHCt8aLjyVoQ1400xnkGa.webp)
ในเรื่องเดียวกัน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เคยให้สัมภาษณ์ในทำนองเดียวกัน โดยวิเคราะห์อุบัติเหตุรถกระบะพลิกคว่ำทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 ศพว่า มิติตัวรถถือเป็นส่วนสําคัญของอุบัติเหตุครั้งนี้ คือ รถท่ีจุดศูนย์ถ่วงสูง (Center of Gravity) ซึ่งหากบรรทุกคน มา 10 คน เฉลี่ยน้ำหนักคนละ 60 กิโลกรัม จะมีความเสี่ยงในการพลิกควํ่ามากกว่ารถปกติ สูงกว่าปกติถึงกว่า 2.5 เท่า ซึ่งเป็นไปตามหลักฟิสิกส์พื้นฐาน
...
สำหรับผู้ที่ไม่มีอุปกรณ์นิรภัย (เข็มขัดนิรภัย) ซึ่งนั่งท้ายตัวรถ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ จะมีลักษณะการเทกระจาด ผู้โดยสารท้ายกระบะจะมีอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าผู้โดยสารภายในตัวรถที่คาดเข็มขัดนิรภัยถึง 8 เท่า
แนวทางแก้ปัญหา "รถ คน ถนน" สิ่งที่ควรเน้น คือที่ "คนขับ" เวลาขนของกับขนคน ต้องระมัดระวังต่างกัน
เมื่อถามถึงแนวทางการแก้ปัญหานั้น นายพรหมมินทร์ มองว่า อยากให้ภาครัฐเจาะไปที่คนขับรถให้มากขึ้น โดยเฉพาะคนขับรถที่เป็นวัยรุ่น ต้องเข้าใจว่า รถที่ใช้คือรถบรรทุก ถ้าให้พูดกันตรงๆ คือ คนไทยจำนวนหนึ่งเวลาใช้รถความสำนึกถึงความปลอดภัยมันไม่มี เช่น บรรทุกของ ไม่มีที่ยึดเหนี่ยวก็ยังยอมที่จะนั่ง นั่งท้ายกระบะไม่พอ ยังนั่งที่ขอบอีก ขณะที่คนขับเอง รู้ว่ามีคนนั่งท้ายก็อย่าขับเร็วนะ แต่บางคนก็ขับไป 140-160 กม./ชั่วโมง แบบนี้เวลาหักหลบ เจอโค้งจะเอาอยู่ไหม
การแก้ปัญหา เรื่องนี้ ต้องเอาเรื่อง “รถ คน ถนน” เป็นตัวตั้ง
รถ : ควรมีการตรวจสอบให้ได้มาตรฐานตรงกับสเปกโรงงานมากที่สุด ไม่ควรให้ถูกดัดแปลงมากเกินไป
คน : ต้องให้ความรู้กับคนขับ ต้องสำนึกอยู่เสมอว่าเราขับรถบรรทุก ถึงแม้จะใช้ใบขับขี่เดียวกับรถเก๋งก็ตาม แต่จริงๆ แล้วทักษะในการขับแตกต่างกัน ครั้นจะให้ไปออกใบขับขี่แยกก็จะเป็นเรื่องยุ่งไปอีก จะโดนมองว่า “หยุมหยิม”
ถนน : ความเป็นจริงถนนก็มีส่วน มีบ้างที่ถนนชำรุด ไฟไม่มี ความลาดเอียงบางจุดยังไม่ได้มาตรฐาน
“สำหรับผมถนนสายหลักก็ถือว่าปลอดภัยแต่ไม่ถึงขั้นระดับสากล เรียกว่ายังถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่ เพราะเรามองในแง่ความปลอดภัย เราไม่ได้มองแค่ขนาด หรือพื้นผิวเท่านั้น”
...
![10 ปี อุบัติเหตุท้องถนนไทย ตายเกือบแสน “รถกระบะ” นั่งท้าย-ในแค็บ รอดยาก](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04OYZ7He4RptHCt8aLvjMVukB8NGAh8H.webp)
เปิดสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนน ในรอบ 10 ปี มีผู้เสียชีวิตเกือบแสนคน
ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุตั้งแต่ปี 2551 - 2561 รวม 10 ปี พบว่า ทั่วประเทศมีการรับแจ้งอุบัติเหตุรวม 849,981 ราย มีผู้เสียชีวิต 91,187 ราย บาดเจ็บสาหัส 57,910 ราย และบาดเจ็บเล็กน้อย 344,215 ราย ซึ่งจากเหตุการณ์ทั้งหมดพบว่ามีทรัพย์สินเสียหาย 12,218,387,758 บาท
นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขที่น่าสนใจคือ ยานพาหนะ 3 อันดับแรกที่ประสบอุบัติเหตุ คือ จักรยานยนต์ รถยนต์ และรถกระบะ ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าเป็นรถที่มีคนใช้มากที่สุด รองลงมาอันดับสอง คือ รถยนต์ส่วนบุคคล ตามมาด้วย “รถกระบะ” เป็นอันดับ 3
![10 ปี อุบัติเหตุท้องถนนไทย ตายเกือบแสน “รถกระบะ” นั่งท้าย-ในแค็บ รอดยาก](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04OYZ7He4RptHCt8aLMwiYFMzhxpza0J.webp)
...
![10 ปี อุบัติเหตุท้องถนนไทย ตายเกือบแสน “รถกระบะ” นั่งท้าย-ในแค็บ รอดยาก](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04OYZ7He4RptHCt8aLEiAsxMKG1FDOFt.webp)
ในช่วงท้าย นายพรหมมินทร์ ได้อยากย้ำเตือนคนไทยทุกคนว่า อยากให้ทุกคนใส่ใจอย่างจริงจังกับปัญหาอุบัติเหตุ อย่าเอาความฝัน ความหวัง ไปทิ้งไว้ที่มาตรการของรัฐ เพราะมาตรการรัฐทำได้ไม่เต็มที่ มีข้อจำกัด ใครก็ตามที่อยากมีชีวิต หรือจำเป็นต้องใช้ชีวิตบนถนน คุณต้องมองให้รอบด้าน เพราะบนถนนคือที่เสี่ยงภัยรายวันอยู่แล้ว ถึงแม้คุณจะมีใบขับขี่ ขับรถได้อย่างดี แต่คุณก็อาจตายได้ถ้าไปเจอรถแหกโค้งมา เราต้องระมัดระวังตัวเองตลอดเวลา ร่างกายตัวเองต้องพร้อม ไม่ควรจะดื่มสุรายาเมา อดหลับอดนอน ไม่ควรไปเพิ่มความเสี่ยง ฝากดูแลตัวเองกันทุกคน
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวที่น่าสนใจ