เมืองแกเอาอยู่ เรื่องราวความพยายามและความสามัคคีของคนบ้านหนองคูน้อย จากชุมชมหมกมุ่นอบายมุข สู่ชุมชนต้นแบบ ออมเงินทั้งหมู่บ้าน 100 กว่าหลังคามากว่า 15 ปี เงินสะพัดหมุนเวียนโดยเฉลี่ยปีละล้านกว่าบาท

หนองคูน้อยครัวเรือนปลอดเหล้า  บอกกล่าวเกษตรอินทรีย์
มากมีปราชญ์ชาวบ้าน              กองทุนสวัสดิการชุมชน
มากล้นกิจกรรมสร้างสรรค์         แข่งขันการออม
พร้อมรับการพัฒนา                นำพาสุขภาพผู้สูงวัย
ใส่ใจการอ่าน                      ก้าวผ่านสู่ชีวิตพอเพียง

นี่คือคำขวัญประจำ "หมู่บ้านหนองคูน้อย" ต.เมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ที่สะท้อนให้เห็นคุณงามความดีต่างๆ ของหมู่บ้านที่เกิดจากพลังความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจ จากชุมชนที่มีปัญหาครอบครัว สาเหตุหลักจากเหล้า จุดเริ่มนำไปสู่ปัญหาครอบครัวอื่นๆ อาทิ เงินไม่พอใช้ หนี้สินนอกระบบ ทะเลาะวิวาทกลายเป็นชุมชนปลอดเหล้าภายใน 2 ปี

...

จากนั้นพัฒนาต่อยอดการเรียนรู้อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ครอบครัวรักการอ่าน ครอบครัวหยุดพนัน ผู้สูงวัยรู้ทันสื่อ ส่งเสริมอาชีพ และงานอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่อง “ออมสัจจะ” ที่ทำกันทั้งหมู่บ้านมากว่า 15 ปี ตั้งแต่ปี 47 กลายเป็นต้นแบบกับชุมชนอื่นมาศึกษาดูงาน

จากหน้ามือเป็นหลังมือ 2 ปี กลายเป็นชุมชนปลอดเหล้า

การเปลี่ยนแปลงของชุมชนหนองคูน้อย กว่า 100 หลังคาเรือนที่อยู่ห่างจากตัวเมือง 50 กว่าโล พัฒนาชุมชนจนเข้มแข็งเช่นปัจจุบันได้ นางสาวอุไร โสรเนตร ผู้ประสานงาน สถาบันครอบครัวเข้มแข็ง จ.สุรินทร์ ซึ่งอยู่ในทุกกระบวนการพัฒนาของหมู่บ้าน ย้อนเล่าถึงความพยายามของคนในชุมชนกับทีมข่าวฯ

เริ่มจาก เมื่อมีโครงการครอบครัวเข้มแข็ง ชุมชนหนองคูน้อยจึงเรียนรู้และวิเคราะห์ปัญหา พบว่าจุดเริ่มมาจากการดื่มเหล้า แล้วนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ชาวบ้านจึงทำประชาคม ดำเนินการแก้ไขปัญหาการลด ละ เลิกเหล้าในชุมชน โดยรับสมัครครัวเรือนปลอดเหล้าในชุมชน ซึ่งในรอบแรกมีครัวเรือนสมัคร จำนวน 70 ครัวเรือน จากจำนวน 100 กว่าครัวเรือน และทำสำเร็จภายใน 2 ปี เป็นครัวเรือนปลอดเหล้าสมบูรณ์ และงานศพปลอดเหล้า โดยมีเทศบาลตำบลเมืองแก เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ และมีพิธีมอบป้ายครัวเรือนนี้ปลอดเหล้า ให้กับครอบครัวที่ผ่านการประเมิน

...

ชุมชนหนองคูน้อย เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือนับแต่นั้นมา จากเดิมหลายครอบครัวมักทะเลาะตบตีกัน ผู้ใหญ่บ้านต้องมาช่วยเคลียร์แทบทุกวันก็เงียบหาย กลายเป็นชุมชนเข้มแข็ง มีความสามัคคี และเกิดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันมากขึ้นอีกหลายๆ เรื่อง จนกลายเป็น “ชุมชนต้นแบบ” ให้ชุมชนอื่นๆ มาดูงาน โดยเฉพาะเรื่องการ “ออม”

มีหลายที่ที่ออมแบบสัจจะ แต่ไม่มีชุมชนไหนสำเร็จเท่าหนองคูน้อย ไม่เคยมีเหตุเงินหาย ถูกโกง ชาวบ้านออมเรื่อยๆ ทุกเดือน ไม่เน้นจำนวนเงิน แต่พอเขาเห็นยอดเงินในบัญชีเพิ่มเรื่อยๆ ก็เป็นแรงจูงใจในการออมเงินต่อ ชุมชนนี้เป็นชุมชนเล็กๆ คนในชุมชนขยัน อดทน ประหยัด สามัคคี ช่วยเหลือ แบ่งปัน พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง” นางสาวอุไร กล่าว

เคสความสำเร็จ “ออมสัจจะ” หมดหนี้ 2 ปี มีบ้านใหม่ ซื้อที่นา 8 ไร่

“ออมสัจจะ” เป็นอย่างไร ชาวบ้านที่นี่ทำกันได้ด้วยวิธีไหนจนมีเงินหมุนเวียนเดือนเกือบแสน ตกเฉลี่ยปีละล้านกว่าบาท นางสาวอุไร เผยข้อมูลกับทีมข่าวฯ ถึงเงินที่ชาวบ้านนำมาฝาก เกิดจากแนวคิดความพอเพียงของคนในชุมชนที่ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ โดย “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” เหลือจากกินก็แบ่งปัน เหลือจากแบ่งปันก็ขาย อีกทั้งทำบัญชีครัวเรือนต่อเนื่อง รวมถึงลด ละ เลิก หวยและอบายมุข จึงมีเงินหยอดกระปุกทุกวัน และนำมาฝากที่กลุ่มออมทรัพย์ทุกวันที่ 5 ของเดือน

...

สมุดสัจจะสะสมทรัพย์
สมุดสัจจะสะสมทรัพย์

...

วิธีชักชวนขยายผลให้เกิดแรงจูงใจ รู้สึกอยาก “ออมสัจจะ” จะยกตัวอย่างเคสที่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงชัดเจนของ พ่อทองสุขกับแม่เอือก ผลเจริญ สองสามีภรรยาที่ก้าวผ่านความยากจน ไม่มีเงินติดตัว แถมมีหนี้สิน เพราะสามีเงินหมดไปกับหวย บุหรี่และกินเหล้า เดือนละไม่ต่ำกว่า 5-6 พัน

กระทั่งไม่มีที่อยู่อาศัยเพราะนำไปจำนอง หันเลิกอบายมุขทุกอย่างมาทำเกษตรผสมผสานหลังฤดูทำนา ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง และใช้จ่ายอย่างประหยัด เก็บเงิน “ออมสัจจะ” จนสามารถใช้หนี้สินหมดในเวลา 2 ปี ซื้อที่นา 8 ไร่ สร้างบ้านใหม่ และมีเงินออม

ความสามัคคีของคนในหมู่บ้านหนองคูน้อย หลังลงแขกปลูกถั่ว เจ้าของแปลงก็เลี้ยงอาหารและกินร่วมกัน เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของชุมชนที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ความสามัคคีของคนในหมู่บ้านหนองคูน้อย หลังลงแขกปลูกถั่ว เจ้าของแปลงก็เลี้ยงอาหารและกินร่วมกัน เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของชุมชนที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

“ชาวบ้านหนองคูน้อย ตอนนี้แทบไม่ต้องไปซื้อผัก ผลไม้กิน เพราะมีปลกูหลายเจ้า คนในหมู่บ้านแข่งกันปลูก แข่งกันออม แข่งกันทำดี หากมีโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาตนเอง ชุมชนหนองคูน้อยก็ไม่ปฏิเสธ พร้อมพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ” น.ส. อุไรเล่าถึงความสามัคคี

เปิดโปรกระตุ้น “แข่งออม” ยอดรวมสูงสุดล้านกว่าบาท

ชุมชนบ้านหนองคูน้อย มี 100 กว่าหลังคา แต่จำนวนสมาชิก “กลุ่มออมสัจจะ” มีประมาณ 400 กว่าราย เพราะนอกจากออมสัจจะกันทั้งหมู่บ้านแล้ว บางครอบครัวยังรวมใจกันออมเงินทั้งบ้าน กฎกติกาของชุมชนคือ “ออมแข่งกัน” เพื่อสร้างแรงจูงใจและความเข้มแข็งของกองทุน

สมุดบันทึก
สมุดบันทึก "ออมสัจจะ" ฝากเงินทุกเดือนไม่มีขาด

นอกจากได้เงินปันผล ร้อยละ 50 ส.ต. ต่อปี ในเดือน เม.ย.ยังมีโปรโมชั่นอื่นๆ อาทิ ใครออมสม่ำเสมอ ไม่ขาด มียอดออมเยอะ จะมีรางวัล ทุนการศึกษาตั้งแต่ประถมถึงมหาวิทยาลัยให้สมาชิกที่ลูกหลานมีผลการเรียนดี อีกทั้งยังมีสวัสดิการคืนสู่ชุมชนเพื่อใช้เป็นงบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง กิจกรรมกีฬาสีของโรงเรียน ผู้ทำความดีกับสังคม

“ปันผลแต่ละปีได้เยอะ ทำให้จากแรกๆ ที่ไม่ชาวบ้านไม่เชื่อมั่น หลังๆ ก็ออมกันทั้งชุมชน แต่ก่อนเบี้ยผู้สูงอายุหมดไปกับการซื้อหวย หมดไปกับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ พอชวนออมสัจจะ บางคนก็นำเบี้ยสูงอายุมาเก็บออมทั้งหมด ตอนนี้มีคนยอดออมสูงสุด 4 แสนกว่าจากเงินประกันของพ่อที่เสียชีวิตก็นำมาฝากไว้เป็นทุนการศึกษา และปกติออมทุกเดือนเฉลี่ย 1-2 พัน ต่อเดือน แต่ถ้ารวมออมทั้งบ้านก็มีเงินออมล้านกว่าบาท

ครอบครัวนี้ทำอาชีพค้าขาย เป็นครอบครัวที่ทำบัญชีครัวเรือนทุกวัน เขานำเงินกำไรจากการขายมาออม พอมีเงินออมเยอะก็แบ่งปันคนในชุมชน ทุกปีจะทำบุญใหญ่ของตระกูล ซื้อของมาแจกผู้สูงอายุ มาเลี้ยงชาวบ้าน” น.ส.อุไรกล่าว

ทุกวันที่ 5 ของเดือน ชาวบ้านนำเงินมาฝากกับกรรมการกองทุนเงิน ออมสัจจะ
ทุกวันที่ 5 ของเดือน ชาวบ้านนำเงินมาฝากกับกรรมการกองทุนเงิน ออมสัจจะ

อดีต ผญบ. ยืนยัน ก่อน หลัง "ออมสัจจะ" หนังคนละม้วน

นายสุนทร ธรรมนาน ซึ่งมาเป็นเขยในหมู่บ้านหนองคูน้อยตั้งแต่พ.ศ. 2525 จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ใหญ่บ้านวาระปี 53 - 59 และอบต. 2 สมัย ตั้งแต่ปี 40-48 ปัจจุบันเป็นรองประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านหนองคูน้อย เป็นอีกคนที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านมาตั้งแต่ปี 25 ที่มีทั้งเหล้า ยา มีแต่คนเมา จนมาขาวสะอาดเช่นปัจจุบัน เล่าถึง กระบวนการความสำเร็จของ “ออมสัจจะ” ที่เริ่มขึ้นในปี 47 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงดีมากขึ้นเรื่อยๆ บางครอบครัวนอกจากออมเงินสัจจะกันทุกคนแล้ว ยังออมกับธนาคารอีกต่างหากด้วย

ยุคแรกๆ “ออมสัจจะ” เร่ิมออมวันละบาท ตกเดือนหนึ่ง 30 บาท ต่อมาระยะหลังขยับเป็น 100 200 หรือแล้วแต่สมาชิกจะฝากเท่าไหร่ แต่จะกำหนดฝากขั้นต่ำ 30 บาท ฝากทุกวันที่ 5 ของเดือน หากวันดังกล่าวมีกิจกรรมในชุมชนก็จะเลือน 1-2 วัน ก่อน หรือหลังวันที่ 5  เมื่อหมดเวลารับฝากเงิน กรรมการกองทุนหมู่บ้าน จะนำเงินทั้งหมดเดือนละเกือบแสน ไปฝากธนาคารในชื่อบัญชีกองทุนหมู่บ้าน หากมีการถอนเงินเพื่อนำมาให้สมาชิกกู้ยืม มีผู้อำนาจเบิกถอน 2 ใน 3 คน ซึ่งหนึ่งในนี้มี นายสุนทร ร่วมด้วย

บันทึกฝาก ถอน
บันทึกฝาก ถอน "ออมสัจจะ" ยอดเงินหมุนเวียนล้านกว่าบาท

“ทุกวันที่ 5 ของทุกเดือน ทุกคนจะถือสมุดสัจจะการออม นำเงินมาฝากก็แล้วแต่ละคนจะมีกำลัง 30 50 100 การออมมีบันทึกไว้ทุกเดือน ว่าฝากเท่าไหร่ เงินออมทั้งหมดมีเท่าไหร่ บางคนมีถอนไปบ้างแต่น้อยครั้ง เงินที่ชาวบ้านนำมาออม เป็นรายได้จากทำไร่ ทำนา บางบ้านลุกหลานอยู่กทม. ส่งมาให้พ่อแม่ ๆ เหลือใช้ก็เอามาฝาก ” รองประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านเล่ากระบวนการทำงาน

หนูน้อยนักออม คนแรกของหมู่บ้าน ฝันอยากเป็น “นักร้อง”

ใบเตย หรือ ด.ญ.ฐิติรัตน์ ขันทอง อายุ 7 ขวบ หลานสาวของ นายสุนทร ธรรมนาม นับเป็นตัวอย่างหนูน้อยนักออมที่ได้รับการปลูกฝังให้รู้จักการออมมาตั้งแต่ปี 58 โดยหยอดกระปุกทุกวันออมเงินซื้อในสิ่งที่อยากได้ ปัจจุบันใบเตยมีกระปุกออมสินเกือบ 10 ใบ ทุกใบจะถูกเขียนกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ อาทิ ค่าชุดนักเรียน ค่ารถจักรยาน

ใบเตยเคยออมสำเร็จมาแล้วหลายครั้ง เช่น เก็บเงินซื้อตุ๊กตาบาร์บี้ ไมค์ร้องเพลงและลำโพง ในราคาสี่พันกว่าบาท เพราะชอบร้องเพลงและฝันอยากเป็นนักร้อง เป้าหมายการออมต่อไปคือ ซื้อโน๊ตบุ๊ค ความมุ่งมั่นและความพยายามของใบเตย จึงเป็นตัวอย่างการสอนที่ปลูกฝังให้เด็กมีนิสัยรักการประหยัด อดออม อดทน รอคอย เพื่อสิ่งที่อยากได้ และทำให้รู้คุณค่าของสิ่งของที่ได้มาด้วย

“การออมเป็นสิ่งดี เป็นต้นทุนในการดำรงชีวิต ยามฉุกเฉินเบิกใช้ได้ ฝึกนิสัยให้ลูกหลานรักการออมด้วย ตั้งแต่มีออมสัจจะ ปัญหาหนี้สินนอกระบบของคนในหมู่บ้านก็ไม่มี หลานสาวอยากได้ตุ๊กตาบาร์บี้ก็ออมเรื่อยๆ ไม่มีออมสินเป็นกิจลักษณะ ส่วนมากเป็นวัสดุเหลือใช้ ปี๊บขนม กระบอกไม้ไผ่ กระป๋องแป้ง ตอนนี้หลานออมเพราะอยากได้โน๊ตบุ๊ก หลานมีเงินเหลือจากใช้จ่ายก็ออม ไม่ได้เน้นออมทุกวัน หลานสนุกกับการออมเพราะรู้ว่าเห็นผลจริง ออมแล้วมีเงินซื้อสิ่งที่อยากได้ ก็ชวนเด็กคนอื่นออม กลับจากโรงเรียนก็เอากระปุกออมสินไม้ไผ่ไปให้คนอื่น” นายสุนทรกล่าวทิ้งท้าย

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่

reporter.thairath@gmail.com  หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ