คำว่า "ค่าโง่" แลจะเป็นคำที่ได้ยินบ่อยเหลือเกินในช่วงนี้ เกิดอะไรขึ้นทำไมภาครัฐถึงต้องเป็นฝ่ายจ่าย "ค่าโง่" ให้เอกชนอยู่ร่ำไป แล้วแต่ละครั้งแต่ละคราวก็มหาศาลซะเหลือเกิน ล่าสุด "ค่าโง่ทางด่วน" มูลค่ากว่าแสนล้าน ที่ต้องเอามือก่ายหน้าผากคิดไม่ตกจะเอาเงินจากที่ไหนมาจ่ายกันหนอ ...
ที่มาที่ไป "ค่าโง่ทางด่วน" มาจากจุดไหน? ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ขอสรุปให้อ่านคร่าวๆ ดังนี้
… ค่าโง่ทางด่วน คือ ผลพวงจากข้อพิพาท 2 ฝ่าย ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เอกชนที่ได้รับสัมปทานทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (อุดรรัถยา) และทางด่วนขั้นที่ 2 (ศรีรัช) ซึ่งปมข้อพิพาทหลักๆ มี 2 ลักษณะ คือ 1. การที่จู่ๆ ก็มีการก่อสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยายจากอนุสรณ์สถาน-รังสิต ที่ BEM มองว่า กทพ. ทำผิดข้อสัญญาที่จะไม่มีการแข่งขัน นำไปสู่การลดลงของรายได้ และ 2. รัฐบาลที่ผ่านๆ มา ไม่ปรับขึ้นค่าผ่านทางให้ BEM ตามสัญญา แม้จะมีเหตุให้ต้องขึ้น จนในที่สุด BEM ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ รวมทั้งสิ้น 17 ข้อพิพาทด้วยกัน โดย ณ ขณะนี้ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแล้ว 1 ข้อพิพาท คือ กรณีข้อพิพาทการแข่งขัน ให้ กทพ. ชดเชย BEM จำนวน 4,318 ล้านบาท (รวมดอกเบี้ย) แต่หากรวมข้อพิพาททั้งหมด กทพ. อาจต้องชดเชยให้ BEM ทั้งสิ้น 1.37 แสนล้านบาท
แต่ปัญหาที่กลายเป็นที่ถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้นสักที คือ กทพ. จะจ่าย "ค่าโง่ทางด่วน" นี้อย่างไร?
...
คำตอบของทางออกค่าโง่ในเวลานี้แบ่งแยกออกเป็น 2 แนวทาง คือ จ่ายค่าโง่ด้วยเงิน กับ จ่ายค่าโง่ด้วยเวลา
ฟากฝั่ง บอร์ด กทพ. เห็นควรจ่ายค่าโง่ด้วยเวลา เสนอขยายอายุสัมปทาน 30 ปี เพื่อแลกกับภาระหนี้สินที่ต้องจ่าย 1.37 แสนล้านบาท โดยชี้ว่า หากแพ้คดีข้อพิพาททุกคดี ซึ่งมีโอกาสสูงมาก กทพ. ขาดทุนแน่นอน สุดท้าย ต้องเป็นภาระงบประมาณจากภาษีประชาชนทั้งประเทศที่จ่ายเพื่ออุ้มต้นทุนของ กทพ.
อีกฟากฝั่ง สหภาพแรงงานพนักงานรัฐวิสาหกิจ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) ออกโรงคัดค้านการจ่ายค่าโง่ด้วยเวลา ชี้ 30 ปี มันช่างยาวนานเกินไป ชะลอออกไปก่อนได้หรือไม่ ส่งเสียงถามถึงรัฐบาลมีหนทางใดที่ไม่ต้องจ่ายค่าโง่ด้วยเงินก้อนมหึมา เพราะเป็นเงินจากภาษีประชาชนทั้งนั้น
แต่ต่อมากลุ่มสหภาพฯ เองก็แบ่งเป็น 2 ขั้ว คือ ขั้วแรก อยากให้ขยายสัมปทานเพื่อยุติข้อพิพาททั้งหมด เกรงหากแพ้คดีอีกต้องแบกรับภาระหนี้สิน ส่วนขั้วที่สอง ต้องการให้จ่ายเงินชดเชยก้อนแรกตามที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาและสู้ต่อในข้อพิพาทอื่นๆ รวมถึงนำทางด่วนกลับมาบริหารงานเอง
โดยในประเด็นนี้ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แสดงทัศนะว่า
หาก กทพ. เห็นว่า โอกาสชนะคดีสูง ควรสู้คดีต่อ แต่ต้องจ่ายเงินให้ BEM ในส่วนของข้อพิพาทที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินแล้ว 4,318.4 ล้านบาท หรือขยายเวลาสัมปทานทางด่วนปากเกร็ด-บางปะอินทดแทน ระยะเวลาประมาณ 4-5 ปี
แต่หาก กทพ. เห็นว่า โอกาสแพ้คดีสูง ควรยุติข้อพิพาททั้งหมด และขยายเวลาให้ BEM แต่แค่ 15 ปี เพื่อชดเชยหนี้ 59,000 ล้านบาทเท่านั้น (เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 62 นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้มีการต่อรองกับ BEM จากวงเงินข้อพิพาท 1.37 แสนล้านบาท เหลือ 5.9 หมื่นล้านบาท และต่อสัมปทานเพียง 15 ปี) ไม่ควรนำการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) เหนือทางด่วนปัจจุบัน จากประชาชื่น-อโศก ระยะทาง 17 กิโลเมตร รวมถึงแก้ปัญหาคอขวดบนทางด่วน 4 จุด มาพิจารณารวมกับข้อพิพาท ในกรณีที่ กทพ. มั่นใจว่า การก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) สามารถแก้ปัญหารถติดบนทางด่วนได้ ควรแยกเป็นโครงการเฉพาะ
ถ้าต่อสัญญาต้องต่อไม่เกิน 15 ปี แต่อีก 15 ปี คือ ให้ BEM ก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) รวมแก้คอขวด 4 จุด วงเงิน 3.1 หมื่นล้านบาท เห็นว่าจำเป็นต้องทำ แต่ Double Deck ทาง กทพ. ต้องออกมาชี้แจงว่า สร้างแล้วเกิดประโยชน์จริงหรือไม่
ทั้งนี้ นอกจากประเด็นเรื่องการจ่ายค่าโง่ทางด่วนด้วยเงินหรือเวลา ยังมีอีกประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกต อย่างเช่น อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ตกวันละ 3 แสนบาท ที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังธรรมใหม่ มองว่า ควรมีการพิจารณาดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 3 (วงเงินข้อพิพาท 1.37 แสนล้านบาท สิ้นสุดประมาณปี 2578 เงินที่ กทพ. ต้องจ่ายรวมดอกเบี้ยประมาณ 3.26 แสนล้านบาท)
...
และอีกหนึ่งข้อสังเกต คือ ทำไม BEM ถึงยอมลดหนี้ให้มากมายขนาดนั้น?
สุดท้ายแล้ว ทางออกของค่าโง่ทางด่วนจะเลือกจ่ายด้วยเงิน, จ่ายด้วยเวลา หรือจ่ายเงินครึ่งหนึ่งเวลาครึ่งหนึ่ง ก็ต้องมาลุ้นต่อว่า กทพ. จะตัดสินใจอย่างไร และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบันจะเลือกเลี้ยวจ่ายค่าโง่ทางด่วนช่องไหนที่จะกระทบต่อภาษีประชาชนน้อยที่สุด.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน