"สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช" หรือ "สมเด็จวังบูรพา" ก่อนที่พระองค์จะทรงมีวังเป็นขององค์เอง ทรงได้ไปประทับอยู่ที่ "พระราชวังสราญรมย์" เป็นวังที่ตั้งอยู่ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ทางทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "สมเด็จวังบูรพา" เสาหลักประเทศ Ep.1 ปฏิเสธขึ้นครองราชย์ นำทหารดูแล ร.5
กระทั่งต่อมา เมื่อพระชนมพรรษาได้ 23 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พี่ชายแท้ๆ ของ "สมเด็จวังบูรพา" ได้มอบพื้นที่ดินแถวป้อมมหาชัย (ย่านพาหุรัดในสมัยปัจจุบัน) เพื่อสร้างวัง โดยมีสถาปนิกชาวที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ นายโจอาคีโน กรัสซี (Gioachino Grassi) สถาปนิกชาวอิตาลี-ออสเตรีย เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานแนวอาณานิคม สร้างเป็นพระตำหนักใหญ่สูง 2 ชั้น ประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง เนื้อที่กว้างขวางตั้งแต่ริมถนนตรงป้อมมหาไชยจนถึงสะพานเหล็ก ใช้เวลาสร้าง 6 ปี
ใหญ่โตหรูหรา ใกล้ป้อมมหาชัย "วังบูรพาภิรมย์"
วังบูรพาภิรมย์ หรือชาวบ้านเรียกกันว่า "วังบูรพา" ใหญ่โตหรูหรามาก เป็นสโมสรที่โก้หรูที่สุดในยุคสมัยนั้น และยังเป็นที่ชุมนุมของเจ้านาย เลี้ยงดูฝรั่งแขกบ้านแขกเมือง สมเด็จวังบูรพา ท่านทรงโปรดดนตรีไทย ทรงมีวงมโหรี เป็นของพระองค์เอง นักดนตรีสำคัญประจำวงของพระองค์ ก็คือ "นายศร" ซึ่งต่อมาได้เป็น "หลวงประดิษฐ์ไพเราะ" ถ้าใครนึกไม่ออกว่า "นายศร" คือใคร ลองไปชมภาพยนตร์เรื่องโหมโรง เพราะเรื่องราวของท่านถูกนำมาถ่ายทอดให้เป็นบทพระเอก
...
"วังบูรพา" ไม่เคยเงียบเหงา เมื่อเสด็จมาประทับ ณ วังแห่งนี้แล้ว โปรดให้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์อยู่เสมอ รวมถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ก็เสด็จพระราชดำเนินมางานเต้นรำอย่างสม่ำเสมอ วังบูรพา ยังเคยใช้เป็นที่รับรองรพินทรนาถ ฐากูร ปราชญ์ชาวอินเดีย เมื่อครั้งมาบรรยายในประเทศไทยอีกด้วย
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ผลงานออกแบบตึก "นายโจอาคีโน กรัสซี” หรูหราทุกสถานที่
-ออกแบบโบสถ์ที่วัดนิเวศธรรมประวัติ บางปะอินเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ในสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ที่ ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อทรงใช้เป็นสถานที่สำหรับบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อเสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับที่พระราชวังบางปะอิน ใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมกอทิกเลียนแบบโบสถ์คริสต์
-ออกแบบโบสถ์ เซนต์ยอแซฟที่อยุธยา วัดนักบุญยอแซฟในปัจจุบันสร้างโดยคุณพ่อแปร์โรซ์ ซึ่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2434 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตัวโบสถ์มีความสวยสง่าประดับกระจกสี เหนือช่องหน้าต่าง พระแท่นหินอ่อนลวดลายงดงาม ซึ่งได้มีการบูรณะและใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจ ศูนย์รวมศรัทธาแห่งชาวคริสต์มาจนปัจจุบัน ถือได้ว่าวัดนักบุญยอแซฟนั้นเป็นเช่นอนุสรณ์และเป็นพยานยืนยัน ถึงจุดแรกเริ่มของการเผยแพร่ศาสนาคริสต์เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ดังที่ได้จารึกไว้ที่ประตูด้านในของโบสถ์แห่งนี้ งานฉลองวัดจัดขึ้นทุกปีในวันเสาร์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมีนาคม
...
-ออกแบบโบสถ์คริสต์วัดคอนเซ็ปชัญ เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในซอยสามเสน 11 ถนนสามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิตกรุงเทพมหานคร วัดคอนเซ็ปชัญประกอบด้วย ตัวอาคารหลังเดิม ซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ทรงหลังคาจั่วแบบไทย เป็นอาคารที่เก่าแก่ที่สุดคาดว่าก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย ปัจจุบันได้ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์
-ออกแบบตึกกระทรวงกลาโหม โดยความโดดเด่นสวยงามของ อาคารกระทรวงกลาโหม แต่เดิมนั้นพื้นที่เเห่งนี้เป็นวังเก่าของพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 1 เเต่หลังจากนั้นเมื่อวังถูกทิ้งร้างลง ครั้นถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงปฏิรูปกองทัพขนานใหญ่ และทรงให้ เจ้าพระยาสุรศักดิ์ ควบคุมการก่อสร้างโรงทหารม้าขึ้นบริเวณนี้เพื่อใช้ในการประจำการของทหารประจำการรักษาพระนคร และเป็นแหล่งรวมของคลังแสงและเสบียง โดยเป็นอาคารในแบบยุโรปที่มีความทันสมัยอย่างมากในยุคนั้นเเละเป็นการแสดงแสงยานุภาพของประเทศในขณะนั้น
...
-โรงภาษีร้อยชักสาม หรือโรงภาษีเก่า ชาวแต้จิ๋วเรียกว่า ฟ้าซีกวนหรือแป๊ะลั่นซา ซึ่งมีความหมายเดียวกัน เป็นอดีตอาคารที่ทำการของศุลกสถาน (กรมศุลกากรในปัจจุบัน) ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซอยเจริญกรุง 36 (โรงภาษี) ของเขตบางรัก ติดกับสถานทูตฝรั่งเศส สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2429 ถึง พ.ศ. 2431 ซึ่งอยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขายวังบูรพาภิมย์ นายทุนทุบทิ้งทำศูนย์การค้าแห่งแรกในไทย
หลังจากสมเด็จวังบูรพา เสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2471 วังนี้ก็ซบเซาลง ทายาทของท่านจึงตัดสินใจให้เช่าเป็นที่ตั้งโรงเรียนสตรีภานุทัต ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังสงครามสงบลง ก็ใช้เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนพณิชยการพระนคร กระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2495 ทายาทราชสกุลภาณุพันธุ์ ได้ขายวังบูรพาให้เอกชน คือนายโอสถ โกศิน ในราคา 12 ล้าน 2 หมื่นบาท จากนั้นก็ได้ทำการรื้อวังออก เพื่อสร้างเป็นศูนย์การค้าและโรงภาพยนตร์สามแห่ง คือโรงภาพยนตร์คิงส์ โรงภาพยนตร์ควีนส์ และโรงภาพยนตร์แกรนด์
...
พิธีเปิดเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2497 เมื่อรวมกับตลาดมิ่งเมือง (ปัจจุบันคือศูนย์การค้าดิโอลด์สยามพลาซ่า) และโรงภาพยนตร์อีกแห่งหนึ่งคือ ศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 150 ปี ในปี พ.ศ. 2475 จึงนับว่าย่านนี้เป็นย่านการค้าที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น
ในช่วง พ.ศ. 2499–2500 ย่านนี้ได้กลายเป็นแหล่งชุมนุมของวัยรุ่นหนุ่มสาวทันสมัย เรียกว่าเป็น โก๋หลังวัง ซึ่งหมายถึงวังบูรพานั่นเอง ทุกวันนี้ศูนย์การค้าและโรงภาพยนตร์เหล่านั้นล้วนเลิกกิจการไปหมดแล้ว แต่ย่านดังกล่าวก็ยังคงเป็นที่รู้จักกันในชื่อ วังบูรพา
“สะพานแม้นศรี” สู่ที่มา “สี่แยกแม้นศรี” เป็นชื่อหม่อมคนที่ "สมเด็จวังบูรพา” รักที่สุด
ข้อมูลในสยามานุสติ บอกกับเราไว้ว่า “สี่แยกแม้นศรี” - “สะพานแม้นศรี” มาจากชื่อของ “หม่อมแม้น" ธิดาเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ชายาของ สมเด็จวังบูรพา มีพระโอรส พระธิดา 3 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายนิพันธุ์ภาณุพงศ์ (กรมหมื่นภาณุพงศ์พิริยเดช) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายศิริวงศ์วัฒนเดช และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตรมงคล
หม่อมแม้นเป็นพระชายาที่สมเด็จวังบูรพารักมากที่สุด เมื่อถึงอนิจกรรม ได้จัดพิธีศพใหญ่โตหรูหรา และได้อุทิศเงินซึ่งได้รับจากผู้ช่วยงานศพ เนื่องจากประชาชนชาวบ้าน มีความรักและศัทธาในสมเด็จวังบูรพา ตั้งใจที่จะร่วมถวายทำบุญ และเงินทั้งหมด สมเด็จวังบูรพาได้ นำไป สร้างสะพานข้ามคลองเล็กๆ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ขบวนแห่ศพต้องผ่าน เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ และอุทิศส่วนกุศลให้กับหม่อมแม้น
สะพานนี้เปิดใช้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2451 ตั้งชื่อสะพานเป็นอนุสรณ์แก่หม่อมแม้นว่า “สะพานแม้นศรี” ต่อมาเมื่อบริเวณนั้นมีถนนตัดผ่านปัจจุบันกลายเป็นสี่แยก จึงเรียกว่า “สี่แยกแม้นศรี”
โรงภาพยนตร์เฉลิมเขตร
ข้อมูลในสยามานุสติ ยังกล่าวถึงโรงภาพยนตร์เฉลิมเขตร เนื่องจากชื่อโรงภาพยนตร์ "เฉลิมเขตร" มาจากพระนามของพระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตรมงคล พระธิดาพระองค์เล็กของสมเด็จพระราชปิตุลาบรมวงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ประสูติแต่หม่อมแม้น พระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตรเป็นพระชายาในสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ทรงเป็นราชนารีที่สนพระทัยและฝักใฝ่ในด้านศิลปะการแสดงเป็นอย่างยิ่ง ทรงมีพระโอรส 3 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ซึ่งล้วนสืบสายพระโลหิตแห่งการสนพระทัยด้านการแสดงเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อให้สร้างโรงภาพยนตร์ขึ้นในที่พระมรดกบริเวณเชิงสะพานยศเส จึงได้ตั้งนามโรงภาพยนตร์นี้ว่า “โรงภาพยนตร์เฉลิมเขตร” ปัจจุบันแม้บริเวณนั้นจะกลายเป็นอาคารพาณิชย์อื่นๆ แต่ชื่อ เฉลิมเขตรก็ยังคงมีผู้จดจำและกล่าวขวัญถึง
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
อาคารแม้นนฤมิตร โรงเรียนเทพศิรินทร์
นอกจากนี้ ยังมีการสร้างอาคารเรียนแม้นนฤมิตร ขึ้นในวัดเทพศิรินทราวาส การสร้างตึกแม้นนฤมิตรนั้น ทุนรอนที่รวบรวมเบื้องต้นยังไม่เพียงพอดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงบริจาค สมทบอีกครั้งและกระทรวงธรรมการลงทุนเพิ่มอีก 20,000 บาท ส่วนตึกโชฏึกเลาหะเศรษฐี ซึ่งเป็นที่เรียนวิทยาศาสตร์ ตึกหลังนี้สร้างด้วยทุนของพระยาโชฏึกราชเศรษฐี (มิ้น เลาหะเศรษฐี) เป็นเงิน 11,000 บาท ตึกแม้นนฤมิตรและตึก โชฏึกเลาหะเศรษฐีสร้าง เสร็จสมบูรณ์และได้เปิดใช้เป็นโรงเรียนเมื่อ วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2445
ทายาทของสมเด็จวังบูรพา บุคคลในประวัติศาสตร์
ทายาทของสมเด็จวังบูรพา มีหลายพระองค์ เกิดจากหม่อมหลายท่าน แต่สำหรับองค์ที่คนไทยน่าจะทราบถึงชื่อเสียงเรียงนาม และเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ ประกอบไปด้วย
1.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ หรือพระนามเดิม หม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ ภาณุพันธุ์ เสกสมรสเป็นพระชายาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
2.พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล พระชายาใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ (ซึ่งราชสกุลยุคล ก็มีที่มาจากพระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล)
3.ร้อยเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช หรือ พระองค์พีระ (15 กรกฎาคม พ.ศ. 2457-23 ธันวาคม พ.ศ. 2528) ทรงเป็นนักแข่งรถชาวไทย และทรงเป็นผู้เข้าแข่งขันกีฬาเรือใบในโอลิมปิก 1956, 1960, 1964 และ 1972 มีชื่อเสียงเอาชนะคู่แข่งได้ทั่วโลก และรถที่ใช้แข่งนั้นเป็นรถสีฟ้า ทำให้คนไทยเรียกสีฟ้าว่า สีพีร และรถเมล์โดยสารประจำทางในสมัยนั้น ก็ทาสีฟ้ากันทั่วพระนคร คนเรียกกันว่า “รถเมล์สีพีระ”
4.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต เป็นพระโอรสองค์สุดท้อง ของสมเด็จวังบูรพา "หม่อมเจ้าจิรศักดิ์สุประภาต” เติบโตในพระบรมมหาราชวังจนพระชันษาได้ 7 ปี จึงทรงย้ายมาอยู่กับครอบครัว ต่อมาสมเด็จวังบูรพา ทรงนำพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต มาถวายเป็นบุตรบุญธรรมใน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่มีพระราชบุตรกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ด้านการศึกษาทรงเข้ารับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2468 เลขประจำตัวนักเรียน ท.ศ.3022 หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทุ่มเทความรักและเอาพระราชหฤทัยใส่เหมือนเป็นพระราชโอรสแท้ๆ ทรงอุปถัมภ์ให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ และทรงใส่พระทัยเรื่องเครื่องบิน
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต ทรงสมัครเข้าร่วมกับกองทัพอังกฤษเป็นนักบินของหน่วยงาน A.T.A. (Air Transport Auxiliary) ซึ่งเป็นหน่วยขนส่งทางอากาศของกองทัพอังกฤษ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2485 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต ทรงขับเครื่องบินเพื่อนำไปส่งที่ท่าเรือ เกิดหมอกลงจัด ทรงขับเครื่องบินชนภูเขา สิ้นพระชนม์ขณะพระชันษาได้ 25 ปี
ทว่าที่ผ่านมานับ 100 ปี ประวัติศาสตร์ชาติไทยหลากหลายเรื่องราว ทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุ และบุคคลสำคัญของประเทศ หลายสิ่งอย่างมีต้นกำเนิดมาจาก "สมเด็จวังบูรพา" หรือ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งเป็นต้นกำเนิดตระกูล "ภาณุพันธ์" คุณงามความดี พระราชกรณียกิจ และเรื่องราวต่างๆ จะถูกจารึกไว้คู่กับผืนแผ่นดินประเทศไทยตราบนาน
**อยากให้ติดตามกันว่า ผู้เขียนจะนำเรื่องราวชีวประวัติของพระบรมวงศานุวงศ์ ราชวงศ์จักรี พระองค์ใดมานำเสนอให้ประชาชนคนไทยรุ่นหลัง ได้เรียนรู้และซึมซับ ในประวัติศาสตร์ชาติไทยแต่โบราณกาล ...และสำหรับเรื่องราวของ "สมเด็จวังบูรพา" ผู้เขียนขอขอบพระคุณข้อมูลส่วนหนึ่งจาก ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย มา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง "สมเด็จวังบูรพา" เสาหลักประเทศ Ep.1 ปฏิเสธขึ้นครองราชย์ นำทหารดูแล ร.5