นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในวันที่ 10 ก.ค.นี้ จะพิจารณาทบทวนประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจ และการส่งออกปีนี้ใหม่จากเดิมที่คาดไว้จะเติบโต 3.7-4% และส่งออกโต 3-5% โดยแนวโน้มปรับลดลงทั้ง 2 ตัว เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่กดดัน ทั้งสงครามการค้าสหรัฐฯและจีน รวมถึงสิ่งที่เอกชนกังวลคือค่าเงินบาท โดยค่าเงินบาทที่แข็งค่าที่ 30.50-30.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นการแข็งค่าที่รวดเร็วส่งผลต่อขีดความสามารถการแข่งขันของไทยอย่างมาก จึงต้องการให้รัฐบาลดูแลไม่ให้แข็งค่าเกินกว่าประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวเพิ่มว่า สิ่งที่เอกชนกังวลเป็นอย่างมากคือ การแข็งค่าของเงินบาท เพราะมีผลกระทบและบั่นทอนต่อขีดความสามารถการแข่งขันของไทยและซ้ำเติมการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ขณะเดียวกัน ยังกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวที่เป็นอีกกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
“ส.อ.ท.ต้องการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ทำงานหนักขึ้น ด้วยการเร่งดูแลระบบเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน ทั้งการดูแลค่าเงินบาทด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยเพื่อดูแลเศรษฐกิจในประเทศ โดยสิ่งที่น่าจับตาขณะนี้ คือมีการย้ายฐานการผลิตจากประเทศต่างๆไปยังเวียดนามอย่างต่อเนื่อง และทำให้ 5 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามมีมูลค่าส่งออกต่ำกว่าไทยเพียง 400 ล้านเหรียญฯเท่านั้น จากปีที่ผ่านมาที่ต่ำกว่า 80,000 ล้านเหรียญฯ ซึ่งไม่แน่ว่ามูลค่าการส่งออกของเวียดนามปีนี้อาจแซงไทยก็เป็นไปได้เช่นกัน”
ด้านนายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อีไอซีปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 เหลือขยายตัว 3.1% จากเดิมที่ 3.3% ปรับลดประมาณส่งออกเป็นติดลบ 1.6% รวมทั้งปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวเหลือ 40.1 ล้านคน และลดประมาณการค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวลงด้วย ขณะที่ด้านนโยบายการเงิน คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงที่อยู่ที่ 1.75% ในปี 62 แต่มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยลง หากเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวต่ำกว่า 3% กนง.มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% ในช่วงปลายปีนี้.
...