หลังจากมติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ที่ประกาศเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561 ให้มีการปรับอัตราค่าโดยสารรถสาธารณะใหม่ และมีผลตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2562 แต่ทางรัฐบาลชะลอไว้ก่อน 3 เดือน จนกระทั่งมีผลเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมตามมามากมาย ทั้งที่บอกว่า "รับได้" เพราะไม่ได้ขึ้นมานานแล้ว และ "รับไม่ได้" เพราะสภาพรถโดยสารและการบริการยังเหมือนเดิม ไม่เพียงเท่านั้น บางเส้นทางขึ้นพรวด 7 บาท

ขณะที่ สมาคมพัฒนารถร่วมบริการเอกชน (รถเมล์ร่วม ขสมก.) และสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง อ้างจำเป็นต้องขอปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารใหม่ หลังค่าโดยสารรถร่วมคงที่มานานตั้งแต่ปี 2549 แถมมีรถตู้มาวิ่งแย่งอีก

ฟากฝั่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. เองก็ชอกช้ำไม่แพ้กัน หลากหลายปัจจัยรุมเร้า ทั้งภายในและภายนอก ส่งผลกระทบต่อรายได้ที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ภาระหนี้สินสูง จนทำให้ "ขาดทุน" โดยจากรายงานประจำปี ขสมก. ระบุว่า โครงสร้างอัตราค่าโดยสารที่ถูกกำหนดโดยภาครัฐ ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง แถมรถโดยสารที่ใช้ในปัจจุบันบางคันก็อายุยาวนานกว่า 20 ปี ต้องจอดซ่อมกว่าร้อยคันต่อวัน สถานที่ซ่อมไม่พอ จึงมีรถโดยสารให้บริการในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนน้อยลง ยิ่งการจราจรติดขัด รถขาดช่วง ก็ทำให้เสียโอกาสในการจัดเก็บรายได้อย่างมาก

...

เท่านั้นไม่พอ ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ก็ทำให้ ขสมก. เจอผลกระทบเพิ่มอีก เพราะเส้นทางเดินรถไม่ได้เพิ่มขึ้น ปี 2560 มีเส้นทางเดินรถ 460 เส้นทาง เป็นของเอกชนร่วมบริการ 342 เส้นทาง แต่ ขสมก. มีเพียง 118 เส้นทางเท่านั้น โดย ขสมก. อ้างว่า ผังเมือง ณ ปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกับเส้นทางเดินรถ ทำให้ขาดประสิทธิภาพ การกำหนดเส้นทางไม่ได้พิจารณาถึงการขยายตัวของชุมชนและความเจริญของเมือง เส้นทางมีความซับซ้อนมากขึ้น จึงมีเส้นทางรถโดยสารประจำทาง (สาย) ทับซ้อนกัน นอกจากนี้ ยังมีการขนส่งประเภทอื่นเข้ามาแข่งขันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น รถตู้ รถไฟฟ้า หรือทางเลือกใหม่อย่างแกร็บ ที่สะดวกและเร็วกว่า แถมรถยนต์ราคาถูก ส่งผลให้ผู้ใช้ ขสมก. ลดลง

ทั้งนี้ ในส่วนแผนปฏิรูปเส้นทางเดินรถ ทาง ขสมก. มีความต้องการทั้งหมด 137 เส้นทาง จากเส้นทางที่จะปฏิรูปทั้งหมด 269 เส้นทาง ขณะนี้สามารถออกใบอนุญาตได้ 88 เส้นทาง ที่เหลือติดสัญญากับรถเอกชนร่วมบริการ โดยเส้นทางทับซ้อนมีประมาณ 33 เส้นทาง ซึ่งเส้นทางใหม่ในแผนปฏิรูปจะไม่ตรงตามเส้นทางเดิมประมาณ 24 เส้นทาง และระยะทางต่อเส้นทางจะสั้นลง อาจไม่เกิน 26 กิโลเมตร

รายได้ต่ำ กำไรไม่มี ขาดทุนสูง

ในปัจจุบัน มีจำนวนรถสาธารณะให้บริการทั้งสิ้น 13,461 คัน แบ่งเป็น รถ ขสมก. 3,161 คัน และรถเอกชนร่วมบริการ จำนวน 10,300 คัน โดยภาพรวมเมื่อปี 2560 มีผู้ใช้บริการรถโดยสาร ขสมก. จำนวน 584,997 คนต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 จำนวน 2,534 คนต่อวัน ส่วนรายได้จากการเดินรถ ปี 2560 อยู่ที่ 6,981.51 ล้านบาท ลดลงจากปี 2559 จำนวน 168.4 ล้านบาท ขณะที่ต้นทุนในการเดินรถ ปี 2560 อยู่ที่ 8,304.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 จำนวน 244.11 ล้านบาท

เมื่อนำ "รายได้จากการเดินรถ" และ "ต้นทุนการเดินรถ" ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 มาแยกย่อย พบว่า รายได้ส่วนใหญ่มาจากการจำหน่ายตั๋วรถโดยสาร จำนวน 3,008.53 ล้านบาท ขณะที่ส่วนแบ่งค่าโดยสารรถร่วมบริการ รถเมล์เล็ก รถในซอย และรถตู้ มีจำนวนรวม 252.84 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีรายได้ค่าโดยสารรัฐบาลรับภาระ 3,297.70 ล้านบาท รายได้จากการจำหน่ายบัตรเดือน-ตั๋วคูปอง 139.47 ล้านบาท และรายได้จากการให้เช่ารถเหมาคัน 282.97 ล้านบาท

ส่วนต้นทุนการเดินรถ พบว่า ต้นทุนเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนมีถึง 3,524.62 ล้านบาท ตามมาด้วย ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง แก๊ส และน้ำมันหล่อลื่น 2,040.59 ล้านบาท และค่าจ้างเหมาซ่อมรถยนต์โดยสารขององค์การฯ 1,215.21 ล้านบาท ต้นทุนอื่นๆ อีกจำนวน 1,524.04 ล้านบาท

แน่นอนว่า ผลการดำเนินงาน ขสมก. ยังคงขาดทุนต่อเนื่อง ฐานะทางการเงินก็ขาดสภาพคล่องมาโดยตลอด เนื่องจากมีภาระหนี้สินสูงกว่าส่วนของทุน โดยปีงบประมาณ 2560 ขาดทุนสุทธิ 4,916.80 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม/รายได้รวม อยู่ในอัตรา 1.61:1 มีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายมาก เนื่องจากการจัดเก็บค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุน และผู้ใช้บริการมีแนวโน้มลดลงจากการเจริญเติบโตของระบบขนส่งสาธารณะ ขณะที่ค่าใช้จ่ายคงที่ กำไรสุทธิต่อขายสุทธิอยู่ในอัตราติดลบร้อยละ 70.43 เรียกว่า ไม่มีกำไรแล้วยังขาดทุนสูงด้วย...

...

จากจุดนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI) มองว่า เหตุที่รถโดยสารเอกชนร่วมบริการมีรายได้สูงกว่าต้นทุน ทำกำไรได้ แต่ ขสมก. ขาดทุน อาจเกี่ยวข้องกับ "การจัดการ" อย่าง สปป.ลาว ก็มีการปรับคุณภาพรถเมล์ใหม่ โดยมีญี่ปุ่นเข้ามาช่วยในการออกแบบเส้นทาง ด้วยการใช้ Big Data ที่ติดตั้งจุดเซ็นเซอร์เพื่อดูว่าเส้นทางไหนคนขึ้นมากขึ้นน้อย ซึ่ง ขสมก. ควรนำการบริหารแบบมืออาชีพมาเรียนรู้ และอีกประการ รัฐควรอุดหนุนบริการสาธารณะมากขึ้น เพื่อให้การขาดทุนลดลง ทำรถโดยสารให้น่านั่ง เพราะต้นทุนทางสังคมจากรถติด มลพิษ มันมากเกินกว่าจะเพิกเฉยได้...