ทอท. เดินหน้าต่อประมูลสัมปทาน “ดิวตี้ฟรี” 4 สนามบิน หลังบอร์ด PPPs พิจารณาแล้วว่า ไม่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ. 2562 ทุนใหญ่ ตบเท้าเข้าซื้อซอง หวังเค้กก้อนโตแสนล้าน

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เดินหน้าเปิดประมูลสัมปทานร้านค้าปลอดอากร หรือ ดิวตี้ฟรี สนามบินสุวรรณภูมิ และ 3 สนามบินภูมิภาค หลังบอร์ด PPPs มีมติตามที่อนุกรรมการด้านกฎหมายธุรกิจดิวตี้ฟรีไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน พ.ศ. 2562 เนื่องจากไม่ใช่กิจการจำเป็นที่ขาดไม่ได้

โดยเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2562 นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการ PPPs เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการ PPPs ครั้งที่ 2/2562 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

มีมติพิจารณารับทราบการพิจารณาของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย และเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการ PPPs เรื่องกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะตามมาตรา 7(3) ท่าอากาศยาน การขนส่งทางอากาศ แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อพิจารณาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป

...

ทั้งนี้ กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นสำหรับกิจการท่าอากาศยาน จำนวน 12 กิจการ และกิจการขนส่งทางอากาศ จำนวน 1 กิจการ ซึ่งกิจการ “ดิวตี้ฟรี” ไม่มีใน 12 กิจการที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะของท่าอากาศยาน ดังนั้น กิจการดิวตี้ฟรีจึงไม่ถือเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ต้องเข้าเงื่อนไขต้องปฏิบัติตามกฎหมายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

ด้าน บอร์ด ทอท. ที่ก่อนหน้านี้ มีมติไฟเขียวให้มีการแยกสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีออกเป็น 2 สัญญา คือ สัญญาแรก ดิวตี้ฟรี สนามบินสุวรรณภูมิ และสัญญาที่ 2 ดิวตี้ฟรี สนามบินภูมิภาค (ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่) หลังเจอกระแสต้านเอื้อทุนใหญ่รายเดียวเหตุเปิดประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีควบรวม 4 สนามบิน แต่ยังคงเป็นรูปแบบผู้ประกอบการรายเดียว (Master Concessionaire)

และไม่แยกประมูลตามหมวดสินค้า (Category consessions) ตามข้อเสนอจากสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ที่ต้องการให้สัมปทานแบบหมวดหมู่สินค้า เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และเพิ่มความหลากหลายของสินค้า ซึ่งมองว่า หากทำลักษณะนี้จะช่วยนำเงินเข้าประเทศได้มากขึ้นถึง 5 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือ 5 แสนล้านบาท ตลอดระยะเวลาสัมปทาน

การประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี สนามบินสุวรรณภูมิ รอบนี้จะรวมพื้นที่ภายในอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 ที่กำลังก่อสร้างและมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2563 เข้ามาด้วย รวมพื้นที่ 12,021 ตารางเมตร และดิวตี้ฟรี 3 สนามบินภูมิภาค (ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่) รวมพื้นที่ 2,000 ตารางเมตร สำหรับการประมูลสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ หรือ รีเทล รวมพื้นที่ 2.4 หมื่นตารางเมตร ซึ่งคาดว่าการแข่งขันจะดุเดือดไม่แพ้กัน

ทุนใหญ่เจ้าเดิม-หน้าใหม่ ตบเท้าซื้อซอง

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เปิดเผยรายชื่อผู้ซื้อซองประมูลพื้นที่ดิวตี้ฟรีและเชิงพาณิชย์ หลังปิดขายซองการประมูลวันที่ 18 เมษายน 2562 โดยการประมูลดิวตี้ฟรี มี 5 รายได้แก่ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด, บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด, บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน), บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และโรงแรมรอยัลคิด เชอร์ราตัน (ประเทศไทย)

ส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์ มี 4 ราย ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน), บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด, บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และบริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด

...

จากนี้ผู้ที่จะยื่นซองจะต้องบอกรายชื่อ Joint Venture ที่จะร่วมประมูลกับ ทอท. ก่อนกำหนดวันยื่นซอง วันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ หรือ วันที่ 8 พฤษภาคม 2562

ผ่าเค้กส่องยอดขาย “ดิวตี้ฟรี” 4 สนามบิน

หากจะให้แบ่งย่อย "สัญญาการประมูลดิวตี้ฟรี" เป็นหลายชิ้นตามที่สมาคมผู้ค้าปลีกเสนอ คงดำเนินการได้ยาก เนื่องจาก ทอท. กังวลว่า ยอดขายดิวตี้ฟรีแต่ละสนามบินมีไม่เท่ากันนั้น จะทำให้บางสนามบินเกิดปัญหาและไปไม่รอด อย่าง สนามบินหาดใหญ่ ที่มียอดขายเพียง 0.04% เฉลี่ยตกวันละประมาณ 2 หมื่นบาทเท่านั้น ขณะที่ สนามบินเชียงใหม่ มียอดขายอยู่ที่ 4-5% สนามบินภูเก็ต 13-14% รายได้เฉลี่ยประมาณวันละ 10 ล้านบาท ส่วนสนามบินสุวรรณภูมิ มียอดขายสูงถึง 82%

หากเทียบสัดส่วนเที่ยวบินพาณิชย์ และการรองรับผู้โดยสารระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิ กับ 3 สนามบินภูมิภาค ก็อยู่ที่ 62 : 38 และ 65 : 35 ตามลำดับ โดยปี 2561 สนามบินสุวรรณภูมิ มีเที่ยวบินพาณิชย์ 364,047 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.29 รองรับผู้โดยสารรวม 62,814,644 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.32 , สนามบินภูเก็ต มีเที่ยวบินพาณิชย์ 116,487 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.10 รองรับผู้โดยสารรวม 18,260,833 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.51 , สนามบินเชียงใหม่ มีเที่ยวบินพาณิชย์ 75,593 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.93 รองรับผู้โดยสารรวม 10,808,866 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.38 และสนามบินหาดใหญ่ มีเที่ยวบินพาณิชย์ 29,184 เที่ยวบิน ลดลงร้อยละ 4.23 รองรับผู้โดยสาร 4,265,718 คน ลดลงร้อยละ 1.87

...

รวม 3 สนามบินภูมิภาค มีเที่ยวบินพาณิชย์ 221,264 เที่ยวบิน รองรับผู้โดยสาร 33,335,417 คน

จากผลการศึกษาของ “ไพร์มสตรีท” หรือ บริษัท ไพร์มสตรีท ประเทศไทย จำกัด ซึ่ง ทอท. ว่าจ้างเป็นให้เป็นที่ปรึกษาทีโออาร์ดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน และรีเทลสุวรรณภูมิ แบบประมูลสัญญาเดียว ทั้ง 2 สัญญา มีมูลค่ารวม 4,600 ล้านบาท แบ่งเป็น ดิวตี้ฟรี 2,800 ล้านบาท และรีเทล 1,800 ล้านบาท

ขณะที่ ทีโออาร์การประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี ก็เกิดข้อกังวลจากหลายฝ่ายเช่นกัน อาทิ เกณฑ์พิจารณา ที่แบ่งเป็น ด้านเทคนิค 80% และด้านผลประโยชน์ตอบแทนประเทศ 20% โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 10 ปี ตั้งแต่ 28 กันยายน 2563 - 31 มีนาคม 2574 (คิงเพาเวอร์หมดสัญญาสัมปทาน วันที่ 27 กันยายน 2563 ประมูลสัมปทานเมื่อปี 2549 ระยะเวลาสัมปทาน 10 ปี แต่ต่ออายุให้เพิ่มอีก 4 ปี จากเหตุการณ์ปิดสนามบิน) ซึ่งทางสมาคมผู้ค้าปลีกมองว่า ทีโออาร์ดิวตี้ฟรี 80:20 ไม่บาลานซ์ ควรจะมีความสมดุล โดยใช้เกณฑ์ด้านเทคนิค 50% และด้านผลประโยชน์ตอบแทนประเทศ 50%

...

เกณฑ์ให้คะแนนผู้ได้รับสัมปทานดิวตี้ฟรี

- คุณสมบัติและประสบการณ์ 15 คะแนน
- แผนธุรกิจ 40 คะแนน
- แผนดำเนินงานและแผนการเงิน 25 คะแนน
- MAG 20 คะแนน

รวม 100 คะแนน

ซึ่งผลประโยชน์ตอบแทน แบ่งเป็น รายเดือน 20% ของยอดขาย หรือ ประกันรายได้รายปีขั้นต่ำที่สุด ที่จะต้องบวกเพิ่มเปอร์เซ็นต์การขยายตัวของจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศ ทาง ทอท. จะเลือกอันที่ได้สูงกว่า

ปัจจุบัน บริษัท คิงเพาเวอร์ฯ ผู้ได้รับสัมปทานดิวตี้ฟรี จ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ ทอท. อยู่ที่ 20% โดยมีการแบ่งผลประโยชน์ (อ้างอิงจากสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี ปี 2549) ดังนี้

- 1-5 ปีแรก 15%
- ปีที่ 6 16%
- ปีที่ 7 17%
- ปีที่ 8 18%
- ปีที่ 9 19%
- ปีที่ 10 20%

เฉลี่ยอยู่ที่ 15% ส่วนรีเทลขั้นต่ำ 15%


ในปี 2560 รายงานงบบัญชีคิงเพาเวอร์แจ้งต่อกระทรวงพาณิชย์ มีรายได้จากดิวตี้ฟรี 113,247 ล้านบาท กำไรสุทธิ 7,954 ล้านบาท (ในสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง หาดใหญ่ ภูเก็ต เชียงใหม่ รายได้รวม 35,633 ล้านบาท กำไร 1,838 ล้านบาท)

ไทม์ไลน์การเปิดประมูลสัมปทาน “ดิวตี้ฟรี”

28 มี.ค. 2562 - บอร์ด ทอท. ไฟเขียวแยกสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีสนามบินออกเป็น 2 สัญญา คือ สุวรรณภูมิ และ 3 สนามบินภูมิภาค

1-18 เม.ย. 2562 - ทอท. เปิดขายซองดิวตี้ฟรี สนามบินสุวรรณภูมิ และพื้นที่เชิงพาณิชย์

5-25 เม.ย. 2562 - เปิดขายซองประกวดราคา 3 สนามบินภูมิภาค

18 เม.ย. 2562 - ทอท. เปิดรายชื่อเอกชนที่ซื้อซองประกวดราคาดิวตี้ฟรี สุวรรณภูมิ

18 เม.ย. 2562 - บอร์ด PPPs ไฟเขียว ดิวตี้ฟรีไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ

22 เม.ย. 2562 - ทอท. กำหนดรับฟังคำชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม

22 พ.ค. 2562 - เปิดให้เอกชนมายื่นซองประมูลดิวตี้ฟรี สนามบินสุวรรณภูมิ

27 พ.ค. 2562 - เปิดซองด้านเทคนิค

28 พ.ค. 2562 - เปิดซองด้านผลตอบแทน

31 พ.ค. 2562 - เปิดซองเสนอค่าตอบแทนและประกาศผลคะแนนสูงสุด สุวรรณภูมิ

10 มิ.ย. 2562 - เปิดซองเสนอค่าตอบแทนและประกาศผลคะแนนสูงสุด

3 มิ.ย. 2562 - เปิดให้เอกชนยื่นประมูล 3 สนามบินภูมิภาค

เมื่อเทียบกับการเปิดสัมปทานดิวตี้ฟรีในต่างประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่แล้วจะเปิดให้มีผู้ได้รับสัมปทานหลายราย อาทิ สนามบินอินชอน เกาหลีใต้ แบ่งเป็น เทอร์มินอล 1 จำนวน 6 ราย เทอร์มินอล 2 จำนวน 6 ราย, สนามบินชางงี สิงคโปร์ จำนวน 3+ ราย, สนามบินฮ่องกง ฮ่องกง จำนวน 4+ ราย, สนามบินนาริตะ ญี่ปุ่น จำนวน 4 ราย เป็นต้น ระยะเวลาสัมปทานเฉลี่ยประมาณ 5-7 ปี ต่างจากไทยที่มีระยะเวลายาวถึง 10 ปี

นส่วนของค่าธรรมเนียมสัมปทานดิวตี้ฟรีของไทยถูกกว่าประเทศอื่นครึ่งหนึ่ง เฉลี่ยอยู่ที่ 15% ขณะที่ในต่างประเทศเก็บ 30-40% หรือแม้แต่ยอดขายที่สินค้าดิวตี้ฟรี ที่ไทยก็มียอดขายน้อยกว่าบางประเทศ หากเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ไทยมีมากกว่าเกือบ 1-3 เท่า อาทิ เกาหลีใต้ที่มียอดขายอยู่ที่ 10.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยอยู่ที่ 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

หากไม่มีอะไรสะดุด คาดว่าไม่เกินเดือนมิถุนายน คงจะได้เห็นหน้าค่าตาของเอกชนผู้ได้รับสัมปทานดิวตี้ฟรี สุวรรณภูมิ ว่าจะเป็น “เจ้าใหญ่หน้าเดิม” หรือ “เจ้าใหญ่หน้าใหม่” ที่แต่ละรายทุ่มเต็มที่หวังคว้าเค้กแสนล้านก้อนนี้ ...