คุณแม่วัย 28 ชาวเชียงใหม่ แชร์ประสบการณ์เจ็บปวดที่สุด อีกแค่ 15 วันจะได้เจอหน้าลูก แต่ "ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด" กลับพรากจากกัน ภาวะเสี่ยงของคนท้องที่ควรระวัง โอกาสเกิดน้อย เเต่เกิดได้กับทุกคน โดยเฉพาะคนที่ "น้ำหนัก" เพิ่มขึ้นจนเข้าสู่ภาวะ "อ้วน" ขณะตั้งครรภ์...
“ทุกวันนี้ยังทำใจไม่ได้กับการสูญเสียที่เกิดขึ้นแบบกะทันหัน คิดถึงและห่วงหาลูกมาก นั่งร้องไห้ฟูมฟาย นั่งพูดคนเดียว ทรมานจิตใจเหลือเกิน ทำไมโลกช่างโหดร้ายกับแม่คนนี้ นี่เป็นสิ่งที่เจ็บปวดที่สุด เพราะอีกแค่ 15 วัน ก็จะเจอหน้ากันแล้ว ถ้ามีบุญร่วมกันอีก ขอให้ลูกกลับมาอยู่กับแม่อีก”
นางสาวสกาวรัตน์ วงค์หล้า หรือ มิ้งค์ ผู้เป็นแม่ เผยถึงความรู้สึกกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ แม้วันแห่งความโศกเศร้าที่สุดในชีวิตเมื่อ 23 ก.พ. 62 ครบรอบ 1 เดือนแล้ว แต่ไม่มีวันไหนที่เธอไม่เสียใจ และคิดถึงลูก
...
ซึ่งก่อนหน้านี้ น.ส.สกาวรัตน์ มีลูกคนแรก เป็นผู้หญิง อายุ 3 ขวบ 3 เดือน จนกระทั่งรู้ว่าตั้งครรภ์ลูกคนที่ 2 สร้างความดีใจให้เธอกับสามีอย่างมาก เฝ้าดูแลตัวเองและลูกในท้องอย่างดี ฝากครรภ์ตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์ ไปหาหมอตามนัดทุกครั้ง ไม่เคยขาด และมีกำหนดคลอด 27 มีนาคม 2562
เกิดเหตุไม่คาดคิด คล้ายลูกโป่งแตกในท้องดัง “ตุ๊บ”
ทุกอย่างดำเนินปกติไปด้วยดี ท่ามกลางความสุข น้ำหนักผู้เป็นแม่เพิ่มขึ้นช่วงอายุครรภ์ 6 เดือนครึ่ง (26 สัปดาห์) เพียงเดือนเดียวเพิ่มขึ้น 6 กิโล แต่ผลตรวจน้ำตาลปกติ เดือนต่อๆ มา น้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และทุกครั้งที่ตรวจ ปกติทุกอย่าง กระทั่งวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 มาหาหมอ น้ำหนักขึ้นรวมทั้งหมด 23 กิโล จาก 75 เป็น 103 กิโลกรัม ผลตรวจความดัน เลือด ปัสสาวะก็ปกติดีเช่นเคย
แต่หลังจากนั้น 9 วัน ในวันที่ 23 ก.พ. 62 ขณะตั้งครรภ์ได้ 8 เดือน 3 สัปดาห์ (35 วีค) หรืออีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็จะถึงวันกำหนดคลอดลูก เธอมีอาการปวดหน่วงๆ ที่หัวหน่าว แต่ลูกดิ้นปกติดี นั่งๆ นอน ๆ ตามปกติจนเวลา 3 ทุ่ม 20 นาที ขณะเข้านอน ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันกับลูกในท้องจนต้องไป รพ.
“รู้สึกเจ็บหน่วงตรงหัวหน่าวเป็นระยะ คล้ายๆ เหมือนอาการเจ็บระดู ไม่เจ็บถี่ ไม่เจ็บบ่อย เจ็บธรรมดาเหมือนทุกครั้งที่เจ็บ พอเวลาประมาณ 1 ทุ่ม ออกไปกินข้าวก็ยังรู้สึกเจ็บหน่วงๆ แบบแข็งแค่คลาย ไม่เจ็บเหมือนจะคลอดก็เข้านอนแล้วรู้สึกมีอาการ เหมือนลูกโป่งแตกในท้อง ดัง ตุ๊บ แล้วก็มีลิ่มเลือดสีแดงสดเป็นก้อนๆ ไหลออกมา แล้วท้องเริ่มโตมากขึ้นๆ จนหายใจไม่ค่อยออก ตรงใต้ราวนมบวมออกมา เลือดไหลออกมาเยอะมากจนตัวซีด”
หัวใจสลาย ลูกพรากตั้งแต่ในท้อง กอด จูบลาครั้งแรกและครั้งสุดท้าย
อาการดังกล่าว เธอรู้ว่าไม่ปกติแน่นอน สามีจึงรีบพาไป รพ. โดยใช้เวลาเดินทาง 15 นาที ในใจเธอคิดว่าวันนี้ต้องได้เห็นหน้าลูกแน่ เพราะคงต้องคลอดก่อนกำหนด ลูกคงปลอดภัยและอาจจะต้องอยู่ในตู้อบจนครบสัปดาห์ แต่แล้วหัวใจผู้เป็นเเม่ก็แตกสลาย เมื่อถึง รพ. หมอบอก หัวใจลูกไม่เต้นแล้ว จับหาชีพจรไม่เจอ ลูกเสียชีวิตในท้อง เนื่องจากขาดอากาศหายใจ ส่วนตัวเธอความดันสูงมาก เพราะอาจช็อก ตกใจกับอาการที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และต้องผ่าตัดทำคลอดด่วน เพื่อรักษาชีวิตเธอไว้ จากการตกเลือด เสียเลือดมาก เลือดคั่งในมดลูก และต้องได้รับเลือดโดยเร็ว
...
“ตอนนั้นคิดในใจ มันไม่ใช่สิ ตอนเช้ายังปกติอยู่เลย ลูกเราต้องไม่เป็นอะไรสิ เดี๋ยวเราก็ได้เห็นหน้าลูกเเล้ว พอหมอบอกว่าลูกไม่อยู่แล้ว หัวใจคนเป็นแม่แทบสลาย (เสียงสั่นเครือและร้องไห้) เพราะเตรียมของใช้ทุกอย่างไว้ให้ลูกหมดแล้ว หมอผ่าตัดให้ตอนเที่ยงคืนกว่าๆ ผ่าคลอดออกมาเป็นลูกผู้ชายน้ำหนัก 3200 ก็ขอหมอดูหน้าลูกชาย หัวอกคนเป็นเเม่ เห็นแล้ว ทั้งกอดทั้งจูบและร้องไห้เสียใจ
ออกห้องผ่าตัด ตี 1 ครึ่ง ก็มาพักดูอาการที่ห้อง ไอซียู 3 ชั่วโมง แล้วหมอก็ให้อยู่พักดูอาการไปสักระยะ เพราะยังเจ็บแผล แต่อยู่ รพ. ได้อีก 3 วัน ก็ขอออก เพราะห่วงลูก อยากมาทำพิธีทางศาสนาให้ลูกไปอย่างสบาย แม้จะเจ็บปวดแผลมาก ก็ทนได้เพื่อให้ลูกไปอยู่ในภพภูมิที่ดีค่ะ”
และในวันที่ 26 ก.พ. 62 เธอ สามี ลูกสาว และญาติพี่น้อง ก็ได้พร้อมใจกันส่งวิญญาณของลูกชายไปอีกภพภูมิท่ามกลางบรรยากาศโศกเศร้า โดยเหตุผลที่เลือกเผาร่างลูกชายในวันนี้ ทั้งๆ ที่อยากเก็บร่างลูกชายไว้ มากกว่า 3 วัน แต่เนื่องด้วย 26 ก.พ. 62 เป็นวันที่ดี ตรงกับ “วันพระ” เธออยากให้ลูกชายไปอยู่สวรรค์ อีกทั้งญาติพี่น้องอยู่กันครบพร้อมหน้าพร้อมตามาส่งลูกด้วย แม้ศพลูกจะไม่ได้ทำพิธีในบ้าน เพราะมีความเชื่อว่า ศพจาก รพ.ไม่ควรเอาเข้าบ้าน แต่เธอก็ได้จัดงานศพให้ลูกตามประเพณี มีพระสวดทำพิธีใหญ่ กระทั่งวันเผา ก็มีการจุดประทัดเพื่อให้ลูกไปสู่สุคติ
...
“รกลอกตัวก่อนกำหนด” ภาวะเสี่ยงคนท้อง เจอน้อย แต่เกิดได้กับทุกคน
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ลูกชายเสียชีวิตโดยฉับพลัน น.ส.สกาวรัตน์ เผยสาเหตุจากการบอกของหมอว่า เป็นเพราะ “ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด” ซึ่งโอกาสเจอน้อยมากๆ แต่เกิดได้กับทุกคน โดยภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดมี 2 ลักษณะ คือ เปิดและปิด ภาวะรกลอกตัวแบบเปิดตามปกติทั่วไป คือ รกจะค่อยๆ ลอกจากผิวนอก ผู้เป็นเเม่จะมีอาการเจ็บเตือน ท้องเเข็ง มีมูกเลือด มีเลือดซึม ถ้ามาหาหมอๆ สามารถช่วยชีวิตทั้งเเม่เเละลูกไว้ได้ แต่เธอโชคร้ายเจอแบบปิด
ซึ่งจะไม่แสดงอาการ ไม่มีการเตือน เพราะรกลอกจากข้างในเข้าสู่มดลูก จึงไม่มีเลือด หรืออาการเตือน จะมีอาการเเค่เจ็บตรงหัวหน่าวเหมือนเจ็บเตือน รกจะลอกตัวอยู่เฉยๆ แล้วแตกในที่สุด และหมอไม่สามารถช่วยชีวิตลูกในท้องได้ เพราะเหมือนคนจมน้ำ ขาดอากาศหายใจ แค่ขาดอากาศหายใจ 1 นาที ลูกก็ไม่สามารถทนไหวแล้ว และหลังจากแตกเเล้วจะมีอาการปวดมากยิ่งกว่าคลอดลูก และถ้าเเม่ไม่ได้ทำการช่วยเหลือได้ทันเวลา ถ้าน้ำคร่ำเข้าสู่กระแสเลือด ต่อให้อยู่กับหมอก็ไม่สามารถช่วยชีวิตผู้เป็นแม่ได้ด้วย
...
“ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด กรณีนี้เกิดยาก แต่ก็งงทำไมต้องมาเกิดกับเรา ที่เจอปุ๊บแล้วแตกเลย รกคงลอกกัดเซาะข้างใน เข้าผนังมดลูก เพราะตอนผ่าตัด หมอบอกว่าเลือดคั่งในมดลูกหมดแล้ว ถ้ามาช่วยช้า น้ำคร่ำเข้าสู่กระแสเลือดก็ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ หมอบอกว่าเหตุเพราะความดันสูง แต่ที่ไปหาหมอครั้งสุดท้ายก่อนเกิดเหตุก็ปกติดีทุกอย่าง
แม่คนไหนมีอาการเจ็บนิดเจ็บหน่อย อย่าบอกไม่เป็นไร ให้ไปหาหมอเลย เพราะบ้างครั้งมันดูเหมือนไม่มีอันตราย แต่สุดท้าย ถ้ามีการสูญเสียเกิดขึ้น จะมานั่งโทษตัวเองก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นไปหาคุณหมอเถอะ ของอยู่ข้างในท้อง อย่าตัวเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง รกลอกตัวมีโอกาสเป็นทุกคน แต่ดิฉัน โชคร้ายที่เจอรกลอกแบบปิด” นางสาวสกาวรัตน์ วงค์หล้า ทิ้งท้ายด้วยความห่วงใย
รู้ลึก “รกลอกตัวก่อนกำหนด” ภาวะอันตราย ตายได้ทั้งแม่และลูก
เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับ “ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด” ทีมข่าวฯ สอบถามจาก ผศ.ดร.พญ.ภัทรวลัย ตลึงจิตร ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา สาขาวิชาสูติศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล อธิบายอย่างละเอียดและเข้าใจง่าย ถึง "ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด" หรือ Placental Abruption ว่า
โดยปกติไม่ว่าจะคลอดทางช่องคลอด หรือผ่าคลอด รกจะลอกตัวออกจากโพรงมดลูกหลังจากทารกคลอด แต่หากทารกยังไม่คลอด แต่รกเกิดลอกตัว ไม่ว่าจะหลุดลอกเพียงเล็กน้อย หรือหลุดลอกบริเวณกว้าง จะส่งผลอันตรายต่อผู้เป็นแม่ ทำให้ความดันโลหิตตก ชีพจรเต้นเร็ว หน้ามืด จนเกิดการช็อกอาจช็อกจากการเสียเลือดมาก อาจเสียชีวิตได้
หรือหากเลือดไหลไม่หยุดจากการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ด้วยรกที่ลอกตัวก่อนกำหนดอย่างรุนแรง ร่างกายจะใช้สารส่วนประกอบของเลือดให้เลือดแข็งตัวและไปอุดบาดแผลของรก จนร่างกายขาดสารนี้ ส่งผลให้เลือดทั่วร่างกายไม่แข็งตัว ทำให้เสียเลือดรุนแรงมากขึ้น อาจไตวายและเสียชีวิตได้เช่นกัน
ส่วนทารกในครรภ์ เนื่องจากรกเป็นสายสัมพันธ์ระหว่างแม่และทารกในครรภ์ส่งต่อสารอาหารและออกซิเจน หากรกลอกตัวจากผนังมดลูก อาจทำให้ทารกขาดสารอาหาร หรือออกซิเจน ทำให้คลอดก่อนกำหนด หรือเสียชีวิตในครรภ์
ครรภ์แฝด แม่อายุมากกว่า 40 ความอ้วน ความดันโลหิตสูง สุ่มเสี่ยง
ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด พบได้ในช่วงอายุครรภ์ใดบ้างนั้น ผศ.ดร.ไขความกระจ่างว่า พบได้บ่อยสุดในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ โดยมีอาการหลายรูปแบบ เช่น ร้อยละ 40 อาจไม่มีอาการใดๆ เลย แต่มาตรวจพบหลังคลอดลูก และคลอดรก, เลือดออกทางช่องคลอด มักจะเกิดในคุณแม่ท้องแก่ อายุครรภ์เกิน 36 สัปดาห์, ปวดท้อง หรือ ปวดมดลูก เพราะมดลูกบีบตัวบ่อยทำให้ท้องแข็งเป็นพักๆ บางคนรู้สึกท้องแข็งเกร็ง และปวดตลอดเวลา
ด้านการรักษาขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของภาวะรกลอกตัว และอายุครรภ์ หากอายุครรภ์ยังก่อนกำหนดมากๆ และภาวะรกลอกตัวไม่รุนแรงทั้งมารดาและทารกในครรภ์ ยังไม่พบความผิดปกติ สามารถติดตามการรักษาโดยควรอยู่ภายใต้การดูแลของสูตินรีแพทย์อย่างใกล้ชิด แต่หากภาวะรกลอกตัวรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ต้องรีบยุติการตั้งครรภ์ทันที ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการผ่าตัดคลอด
สำหรับสาเหตุ "ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด" อาจเกิดจากการกระแทกที่หน้าท้องอย่างรุนแรงเพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์ ตกที่สูง หรือน้ำเดินอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ยังเกิดจากความเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ มีประวัติเคยภาวะรกลอกตัว ความดันโลหิตสูง ภาวะเลือดออกง่ายผิดปกติ ครรภ์แฝด มารดาอายุมากกว่า 40 ปี รวมถึง และคนที่ "น้ำหนัก" เพิ่มขึ้นจนเข้าสู่ภาวะ "อ้วน" ขณะตั้งครรภ์
“ภาวะนี้เป็นภาวะฉุกเฉิน หากคนไข้สงสัยว่าจะเป็นภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด คนไข้ต้องมา รพ.ที่ใกล้ให้เร็วที่สุด คนไข้จะมาด้วยอาการเจ็บท้อง ท้องแข็งตลอด ไม่เหมือนกับการเจ็บครรภ์ปกติที่ปวดคลายๆ ถ้ารอกตัวเยอะ เด็กก็จะเสียชีวิต พอเด็กเสียชีวิต ก็มีเลือดออกทำให้มีผลต่อแม่แม่ด้วย ถ้าคนไข้มีความเสี่ยงด้านใด ต้องดูแลและควบคุมให้ดี เช่น ความดันโลหิตสูง
จากประวัติคนไข้รายนี้ก็มีความเสี่ยงที่ป้องกันได้ อย่างแรกคือเรื่องอ้วน ซึ่งเราไม่ค่อยให้ความสำคัญ เดิมก่อนท้องหนัก 75 ซึ่งมากอยู่แล้ว แต่น้ำหนักยังเพิ่มอีก 23 กิโล ซึ่งเยอะมากๆ แต่คนทั่วไปมักไม่เห็นอันตราย จริงๆ แล้วน้ำหนักที่เพิ่มนี้นำไปสู่ความเสี่ยงมากมายทั้งความดันสูงและเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ ทารกตัวโต (35 สัปดาห์ หนักตั้ง 3200 g) น้ำคร่ำมาก ซึ่งล้วนเป็นความเสี่ยงของรกลอกตัวก่อนกำหนดทั้งสิ้น เพราะคนมักมองข้าม ไม่ใช่ท้องแล้วต้องบำรุงเยอะๆ จะกินอะไรก็ได้ น้ำหนักเพิ่มเท่าไหร่ก็ได้ เพราะมันมีอันตรายจริงๆ” ผศ.ดร.พญ.ภัทรวลัย ตลึงจิตร กล่าว
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ