“รู้สึกใจหาย หลาย 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากไอน์สไตน์แล้วก็มีฮอว์กกิ้งนี่แหละที่ผมค่อนข้างพูดถึงบ่อยๆ ในรายการวิทยุรวมทั้งได้แปลหนังสือที่เขาเขียน 2 เล่ม เขาเป็นคนที่ทำให้เรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ที่ยากๆ และดาราศาสตร์ได้รับความสนใจ เป็นนักวิทยาศาสตร์มืออาชีพ เห็นความสำคัญของการใช้จินตนาการ และทำให้รู้ว่านักวิทยาศาสตร์ต้องไม่กลัวที่จะคิดนอกกรอบ”
รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล กูรูวิทยาศาสตร์ไทย และจัดรายการวิทยุ ""ชีวิตกับจักรวาล" คลื่น FM 101.00 Radio Report One ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 05.00-06.00 น. และวันอาทิตย์ เวลา 05.00 - 07.00 น. กล่าวความรู้สึกหลังวงการวิทยาศาสตร์ทั่วโลก พบข่าวเศร้ากับการจากไปของนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ชื่อดังชาวอังกฤษ "สตีเฟน ฮอว์กกิ้ง" (Stephen Hawking) ในวัย 76 ปี เมื่อเช้าวันพุธที่ 14 มีนาคม 2561 ที่บ้านพักใกล้มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
ตำแหน่งล่าสุดของ สตีเฟน ฮอว์กกิ้ง ในวันสุดท้ายของชีวิต คือ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย (Director of Research) ที่ศูนย์จักรวาลวิทยาทฤษฎี (Centre for Theoretical Cosmology) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
...
กว่า 55 ปี บนเส้นทางวิทยาศาสตร์ บางคนอาจยังไม่รู้ว่า...
- สิ่งที่ ฮอว์กกิ้ง คิดจินตนาการสร้างสรรค์ให้โลกนั้นมีผลงานวิชาการสำคัญใด
- หลังสูญเสียเขาไป คนทั้งโลกได้มุมมองชีวิตอย่างไร
- เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรค ALS เหตุใดเขาจึงอยู่ได้อีก 55 ปี ทั้งๆ ที่หมอบอกอยู่ได้อีกแค่ 2 ปีเท่านั้น
- คนเก่งเฉกเช่นฮอว์กกิ้ง มีโอกาสเกิดขึ้นอีกหรือไม่
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีคำตอบ เพื่อรำลึกอาลัยถึงเขา คนอัจฉริยะ เจ้าของฉายา ขณะยังมีลมหายใจ “ไอน์สไตน์ที่ยังมีชีวิต”
“หลุมดำ” ผลงานเด่นที่สุดในชีวิต สตีเฟน ฮอว์กกิ้ง
รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ให้ข้อมูลทันทีเมื่อทีมข่าวฯ เปิดประเด็นแรก หากเอ่ยชื่อ สตีเฟน ฮอว์กกิ้ง ผลงานเด่นๆ ของเขาที่คนทั้งโลกควรจดจำ โดยทยอยเล่าตามลำดับผลงานเด่นๆ ที่ทำให้เขาโด่งดังและเป็นที่รู้จัก
ซึ่งผลงานเด่นที่สุดทำให้เขากลายเป็นคนดังในวงการวิทยาศาสตร์ นั้นเป็นทฤษฎีจากความคิดของเขาเองในวัย 32 ปี คือ Hawking Radiation หรือการแผ่รังสีฮอว์กกิ้ง ซึ่งแต่เดิมความเข้าใจในทฤษฎีเรื่องหลุมดำของวงการวิทยาศาสตร์นั้น เชื่อว่าหากมีอะไรเข้าใกล้หลุมดำ และถูกดูดเข้าไป จะออกมาไม่ได้เลย
แต่ในปี 1974 สตีเฟน ฮอว์กกิ้ง สร้างปรากฏการณ์ให้ทั่วโลกตะลึง ด้วยการเสนอความคิดและแสดงให้ทั่วโลกเห็น 'ทฤษฎีหลุมดำ' ว่าจริงๆ แล้วหลุมดำ ไม่ได้ดำสนิทเหมือนอย่างที่คนคิดและเชื่อกัน คือ มีบางสิ่งบางอย่างหนีจากหลุมดำได้ ภายหลังจึงถูกเรียกว่าการแผ่รังสีฮอว์กกิ้ง
“หลุมดำเสมือนกับไม่มีตัวตน เหมือนดาวทั้งดวง หรือมวลมหาศาลที่ยุบรวมถล่มตัวเองเข้าไปอยู่ตรงใจกลาง เป็นจุดเล็กนิดเดียว หลุมดำจะเหมือนกับมีรัศมี เรียกว่า Event Horizon หรือตำแหน่งขอบฟ้าเหตุการณ์ จะเกิดปรากฏการณ์ในทางควอนตัม ทำให้เกิดอนุภาคเป็นคู่ๆ ตัวหนึ่งหายเข้าไปในหลุมดำ แต่อีกตัวหนึ่งจะหนีออกไปจากหลุมดำ และหากมีการค้นพบรังสีฮอว์กกิ้งได้จริง ก็จะเป็นการก้าวกระโดดใหญ่อีกครั้งหนึ่งของวงการวิทยาศาสตร์” รศ.ดร.ชัยวัฒน์ อธิบายเพิ่ม
มรดกใหญ่ของโลกที่ฮอว์กกิ้งทิ้งไว้ กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์
ผลงานเด่นอีกชิ้นของสตีเฟน ฮอว์กกิ้ง คือ การเป็นนักเขียนหนังสือวิทยาศาสตร์ดังหลายเล่ม อาทิ หนังสือชื่อ The Universe In A Nutshell เป็นเรื่องเกี่ยวกับฟิสิกส์ทฤษฎี โดย รศ.ดร.ชัยวัฒน์ เป็นผู้แปลฉบับภาษาไทย และตั้งชื่อหนังสือว่า “จักรวาลในเปลือกนัท” อาศัยภาพประกอบในการพยายามอธิบายทฤษฎีของจักรวาลวิทยาเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น และตีพิมพ์ในปี ค.ศ.2001
...
ในหนังสือเล่มนี้ สตีเฟน ฮอว์กกิ้ง พูดไว้ตามความเชื่อว่า รังสีที่แผ่มาจากหลุมดำ วันหนึ่งจะมีการตรวจจับได้ ซึ่งยากมาก แต่เมื่อมีการตรวจจับ หรือค้นพบได้จริงๆ สตีเฟน ฮอว์กกิ้งจะได้รับรางวัลโนเบลแน่นอน แต่น่าเสียดายที่ยังไม่มีการค้นพบ เขาก็เสียชีวิตแล้ว
“เพราะฉะนั้นถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ มันต้องตรวจจับได้สักวัน ถือว่าเป็นทฤษฎีของฮอว์กกิ้ง ตอนนี้ถือว่าเป็นมรดกความคิดของฮอว์กกิ้งที่ทิ้งไว้ให้ กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่กำลังค้นหากัน ว่าจะจับเจ้ารังสีฮอว์กกิ้งนี้ได้อย่างไร แต่น่าเสียดายหากตรวจจับได้จริงวันนี้ หรือในอนาคต เขาก็จะไม่ได้รางวัลโนเบล เนื่องจากคนที่รับรางวัลต้องมีชีวิตอยู่ในวันประกาศผล” รศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวด้วยน้ำเสียงแห่งความเสียดาย
ทั่วโลกสนใจ และตื่นตัวเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ผ่าน Science Communication
นอกจากนี้ในปี 1988 ยังมีหนังสือที่สตีเฟน ฮอว์กกิ้งเขียนจนขายดี และดังที่สุด ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก ถูกจำหน่ายหลายล้านเล่มทั่วโลกและถูกแปลมากกว่า 40 ภาษา คือ A Brief History Of Time หรือประวัติย่อของกาลเวลา เป็นหนังสือแนว Popular Science เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับจักรวาลวิทยา เลี่ยงศัพท์เทคนิค โดยนำทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปและกลศาสตร์ควอนตัมมาบอกเล่าถกเถียงอย่างมีเหตุผลด้านวิทย์ และยังมีเล่มล่าสุด On The Shoulders Of Giants ที่ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ แปลเป็นภาษาไทยว่า บนบ่าของยักษ์ใหญ่ แต่ไม่ใช่เล่มสุดท้ายของสตีเฟน ฮอว์กกิ้ง
...
“เขาทำให้วงการทั่วโลกสนใจเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ เพราะเขามีความสามารถทำเรื่องราววิทยาศาสตร์ที่มันยากๆ พยายามอธิบายให้คนรู้เรื่องบ้าง ถึงแม้ยังยากที่จะเข้าใจอยู่ดี แต่ก็ทำให้คนตื่นตัวในการนำเอาเรื่องราวของวิทยาศาสตร์มาเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้ ซึ่งก็คือ Science Communication หรือการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์
ฮอว์กกิ้งยังได้รับการยกย่อง เป็นที่ยอมรับว่าเหมาะสมที่สุดที่จะเป็นทายาทของไอน์สไตน์ เขาเป็นคนที่เวลาพูดอะไรต่างๆ คนต้องฟัง เช่น เมื่อปลายปี 60 ที่มีการค้นพบ “อูมัวมัว” วัตถุนอกสุริยะสิ่งแรก ที่ถูกค้นพบเมื่อเดือน ต.ค. 60 แต่มาประกาศในเดือน พ.ย. 60 แต่สังคมไม่รู้เรื่องและไม่สนใจ จนกระทั่งต้นเดือน ธ.ค. 60 กลุ่มนักวิทย์ที่มีฮอว์กกิ้งเป็นผู้นำกลุ่ม ออกมาบอกว่าอาจเป็นยานอวกาศของมนุษย์ต่างดาว อูมัวมัวก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ให้คนสนใจและเกิดการขับเคลื่อนว่าจะต้องทำอะไรต่อบ้าง
...
เขามองว่าอนาคตของมนุษย์อยู่ในอวกาศ และส่งเสิรมการสำรวจอวกาศ แต่เตือนเรื่องการสื่อสารกับมนุษย์ต่างดาวที่เขาเชื่อว่ามีจริง แต่ต้องระวัง ควรอย่าให้มนุษย์ต่างดาวรู้ว่ามนุษย์อยู่บนโลกใบนี้ เพราะเป็นไปได้มากว่าจะมายึดโลกเรา” รศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว
สัญลักษณ์คนสู้ชีวิต พลิกวิกฤติจากโรคร้าย สู่การเป็นนักวิทย์
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ระบุถึงการประสบความสำเร็จทางด้านอาชีพนักวิทย์ของสตีเฟน ฮอว์กกิ้งนั้น ก่อกำเนิดควบคู่ไปกับสภาวะร่างกายที่เสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ ในปี 1962 อายุ 21 ปี ขณะศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ว่า ไม่ได้ดีเด่นอะไร เรียนมั่งไม่เรียนมั่ง
เมื่อเรียนปริญญาเอกที่เคมบริดจ์ เขาอยากได้ เฟรด ฮอยล์ (Fred Hoyle) นักดาราศาสตร์ และนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในตอนนั้นมาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา แต่มหาวิทยาลัยให้ เดนนิส วิลเลียม ไซยามา (Dennis William Sciama) เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งก็เป็นนักดาราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง แต่ไม่เท่าเฟรด ฮอยล์ ตอนเรียนระดับปริญญาเอก เขาก็ยังไม่ดีเด่นเหมือนเคย
จนกระทั่งเกิดเรื่องใหญ่กับเขา ก่อนอายุครบ 21 ปี เขาเริ่มป่วย มีอาการเดินเหมือนหกล้ม เพราะขาไม่มีแรง เพียงไม่กี่วันก่อนวันคล้ายวันเกิด 21 ปี แพทย์ผู้วินิจฉัยอาการของฮอว์กกิ้งบอกว่า มันเป็นระยะเริ่มต้นของโรคอะไมโอโทรฟิก แลเทอรัล สเกลอโรซิส (Amyotrophic Lateral Sclerosis (ALS)) ซึ่งเป็นอาการผิดปกติของเซลล์ระบบประสาทเสื่อม สมองสั่งการร่างกายไม่ได้
ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อลีบ ต่อไปจะเดินไม่ได้ พูดไม่ได้ แม้แต่การใช้มือเพื่อเขียนก็จะไม่ได้ ที่สำคัญแพทย์ยังบอกอีกว่าเขาอาจจะมีชีวิตอยู่ได้อีกแค่ 2 ปี เขาทั้งตกใจ เสียใจ และหมดกำลังใจ หมดอาลัยตายอยากกับชีวิต และนั่นคือจุดเปลี่ยนของชีวิตที่เขาคิดอยากศึกษาอย่างจริงจังในเรื่องของวิทยาศาสตร์และจักรวาลวิทยา
“ผมว่าเขาเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนพิการ ในภาวะเศร้า ท้อแท้ เสียใจ กลับฉุกคิดได้ว่าไม่ควรจะรอความตายแบบนี้ ฮึดสู้ขึ้นมา โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาที่เขาไม่ปลื้มในตอนแรก ให้กำลังใจจนเขากลับมาคิดใช้ชีวิตให้เต็มที่ หันเหจากการเป็นนักศึกษาเรื่อยๆ เปื่อยๆ มาใช้เวลาที่เหลือให้เกิดประโยชน์สูงสุดเต็มที่ มุ่งมั่นงานศึกษาและงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยจับประเด็นเกี่ยวกับทฤษฎีของไอน์สไตน์มาเป็นโจทย์ ทุ่มเทจนจบปริญญาเอก” รศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวชื่นชมฮอว์กกิ้ง
คลายสงสัย ไฉนมีชีวิตต่ออีก 55 ปี ทั้งๆ ที่หมอระบุ อยู่ได้อีกแค่ 2 ปี
กับเรื่องเหลือเชื่อนี้ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ บอกกับทีมข่าวฯ ว่าถึง 2 เหตุผลที่ทำให้เขาแม้จะเป็นอัมพาตเกือบทั่วร่างกาย แต่ยังสื่อสารกับคนอื่นได้ จนเป็นนักพูดที่มีคนรอเข้าฟังเนืองแน่น นับว่าเป็นสิ่งสุดมหัศจรรย์ โดยมีนักวิทย์มาช่วยพัฒนาโปรแกรมทดแทนเสียงพูดที่อาศัยการเคลื่อนไหวของศีรษะ หรือดวงตา ทำให้ในช่วงแรกๆ สตีเฟน ฮอว์กกิ้งสามารถใช้นิ้วเลือกคำศัพท์ที่ปรากฏในจอคอมพิวเตอร์ และส่งต่อไปยังระบบสังเคราะห์เสียง แต่มาระยะหลังเมื่อนิ้วมือเขาไม่สามารถควบคุมได้ นักวิทยาศาสตร์จึงพัฒนาโดยใช้กล้ามเนื้อแก้มที่ติดเซนเซอร์
“ผมวิเคราะห์ได้ 2 อย่าง 1.ความมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ต่อชีวิตของเขาเอง และ 2.ได้มาจากทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยให้เขาสามารถมีชีวิตอยู่ได้ และสิ่งสำคัญกว่านั้น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังช่วยให้เขาสามารถทำงานวิทยาศาสตร์ได้ หากนักวิทยาศาสตร์หรือคนทั่วๆ ไปที่ป่วยเป็นโรค ALS ส่วนใหญ่ต้องนอนติดเตียง รอความตายเท่านั้น แต่เขาไม่ยอม
แต่ลำพังแค่ตัวเขาเองคงทำอะไรมากไม่ได้ นักวิทยาศาสตร์ก็โดดเข้ามาช่วยสร้างอุปกรณ์ เครื่องมือ พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้เขาทำงานได้ เมื่อเขาพูดไม่ได้ แต่นิ้วมือขยับได้ ก็สร้างคอมพิวเตอร์ให้เขาสามารถใช้นิ้วมือ แล้วก็สื่อสารกับคนอื่นได้ โดยคอมพิวเตอร์จะสังเคราะห์เสียงออกมา แรกๆ เสียงเหมือนหุ่นยนต์ พูดแข็งๆ ทื่อๆ หลังๆ เสียงเป็นธรรมชาติมากขึ้น
ต่อมานิ้วมือกระดิกไม่ได้ นักวิทยาศาสตร์ก็ช่วยกันพัฒนาเครื่องที่ใช้ใบหน้า แก้มที่ยังขยับได้ควบคุมเครื่องมือคอมพิวเตอร์ให้สื่อสารได้ วิทยาศาสตร์ก็เก่ง ช่วยให้เขาสื่อสารได้ จนเป็นนักพูดที่ผู้คนจำนวนมากต้องไปรอฟังทั้งๆ ที่เป็นการฟังที่ยากมาก เพราะเขาพูดสดอย่างช้าๆ ผ่านทางคอมพิวเตอร์ แต่มีคนมาฟังเนืองแน่น ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าทึ่งและมหัศจรรย์” รศ.ดร.ชัยวัฒน์ วิเคราะห์ พร้อมพูดถึงแบบอย่างดีๆ ด้านความคิดของสตีเฟน ฮอว์กกิ้งที่คนทั้งโลกควรทำตาม
“เขาเป็นคนที่กล้าคิดมากๆ กล้าใช้จินตนาการอย่างมากๆ เลยทำให้เรื่องราววิทยาศาสตร์ อวกาศ จักรวาล กลายเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ความคิดของฮอว์กกิ้ง จับแต่เรื่องน่าตื่นเต้น นำมาผสมผสานกับจินตนาการ ไม่กลัวที่จะใช้วิธีคิดแบบสุดกู่ แต่ต้องแยกแยะให้ออกว่าตรงไหนเป็นวิทยาศาสตร์ ตรงไหนเป็นจินตนาการ แล้วมันจะมีอะไรเกิดขึ้นได้”
ชี้มีโอกาสเกิดนักวิทย์หน้าใหม่ ความสามารถระดับฮอว์กกิ้ง
อย่างไรก็ตาม จากการจากไปของฮอว์กกิ้ง มีอีกประเด็นที่ทีมข่าวฯ ตั้งข้อสงสัย คือ ต่อจากนี้จะมีนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นสุดยอดอัจฉริยะด้านความคิด เช่นสตีเฟน ฮอว์กกิ้งหรือไม่ และมีนักวิทย์คนไหนพอมีแวว
“โอว คงจะยากมาก แต่ไม่ได้แปลว่าเป็นไปไม่ได้ ที่ยากมากก็คือส่วนที่จะต้องเป็นทั้งคนพิการหนักๆ แบบฮอว์กกิ้ง แล้วก็ยังสามารถสร้างผลงานในระดับแนวหน้า ทิ้งมรดกความคิดที่ย่ิงใหญ่ ดังเช่นการแผ่รังสีฮอว์กกิ้งให้เป็นโจทย์ใหญ่ โจทย์สำคัญแก่นักวิทยาศาสตร์ทั้งโลกวันนี้ และต่อไปในอนาคต
เพราะถ้ามีการค้นพบรังสีฮอว์กกิ้งจริง ก็จะเป็นความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดใหญ่ของวิทยาศาสตร์ และถึงแม้ฮอว์กกิ้งจะไม่มีสิทธิ์ได้รับรางวัลโนเบลแล้ว แต่คนหรือคณะทำงานที่ค้นพบ จะได้รับรางวัลโนเบลอย่างแน่นอน” รศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยความหวัง
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง รู้จัก ALS กล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคร้ายไร้ทางรักษา คร่าชีวิต สตีเฟน ฮอว์กกิ้ง
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่ reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ