วัดหลวงพ่อสมหวัง จ.นครปฐม จัดพิธีหล่อพระพุทธรูป เพื่อมอบให้วัดในถิ่นทุรกันดาร ชาวบ้านไม่พลาดลุ้นเลขหางประทัด หลังที่ผ่านมา ให้โชคกันทั่วหน้า 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 7 พ.ย. ที่วัดกลางบางพระ (วัดหลวงพ่อสมหวัง) ต.บางพระ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม พระพิพัฒน์ศึกษากร (พนม รตนาโก) เจ้าคณะ จ.นครปฐม เจ้าอาวาสวัดบางช้างเหนือ อ.สามพราน เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วย นายอนุชา สะสมทรัพย์ สส.เขต 4 นครปฐม พรรคชาติไทยพัฒนา ประธานฝ่ายฆราวาส และพระครูศรีสุตากร เจ้าอาวาสวัดกลางบางพระ ร่วมกันประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธรูป องค์หลวงพ่อสมหวัง จำลอง หน้าตัก 32 นิ้ว เนื้อทองเหลือง 3 องค์ โดยมีสาธุชนเข้าร่วมพิธีจำนวนมาก เพื่อนำไปประดิษฐานยังวัด 3 แห่ง เพื่อให้สาธุชนได้กราบไหว้บูชา ได้แก่ วัดเหมืองปิล๊อก จ.กาญจนบุรี, วัดเขาเม็งอมรเมศร์ จ.กาญจนบุรี และ สำนักสงฆ์ยอดคีรี ศรีวนาราม จ.เพชรบุรี ซึ่งทั้ง 3 วัดเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดาร

โดยก่อนจะเริ่มพิธี พราหมณ์หลวงได้ประกอบพิธีบวงสรวง โดยมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง 4 รูป นั่งปรกอธิษฐาน 4 ทิศ พระสงฆ์ 9 รูปสวดเจริญพระพุทธมนต์ ก่อนพิธีเททองหล่อจะเริ่มขึ้น บรรดาเหล่าสาธุชนได้นำทองรูปพรรณ ทั้งสร้อยคอทองคำ และแหวนทองคำ ถวายเพื่อเป็นชนวนผสมในการหล่อพระครั้งนี้ รวมแล้วหนักประมาณ 5 บาท พร้อมจุดประทัด 1 หมื่นนัด การแสดงของคณะมังกร เพื่อเป็นการบอกกล่าวเทพยดาฟ้าดิน และถวายองค์หลวงพ่อสมหวัง 

...

กระทั่งจบพิธี มีสาธุชนและนักเสี่ยงโชค ต่างวิ่งไปดูหางประทัด พร้อมกับนำโทรศัพท์มือถือมาถ่ายภาพไว้ ปรากฏเป็นเลข 391 และ 18 ก่อนจะแยกย้ายกันไปหาซื้อลอตเตอรี่ที่แผง ซึ่งตั้งอยู่ในวัดจนเกลี้ยงตั้งแต่ 10 นาทีแรก

นายสมใจ รักมาตร อายุ 51 ปี เผยว่า ทุกปีหลังงานกฐินสามัคคีวัดเสร็จสิ้น ก็จะมีการหล่อพระองค์หลวงพ่อสมหวัง เพื่อนำไปมอบให้กับวัดต่างๆ ที่ยากจน ซึ่งขอทางวัดมา ทุกครั้งที่มีการหล่อหลวงพ่อสมหวัง ชาวบ้านมักโชคดี จากเลขหางประทัด ซึ่งเมื่อ 2 ปี มีชาวบ้านได้โชคกันยกหมู่บ้าน ซึ่งก็เป็นความเชื่อว่า หลวงพ่อจะให้โชคทุกปี 

ด้าน พระครูศรีสุตากร เจ้าอาวาส เผยว่า ที่ผ่านมาในแต่ละปี ช่วงกฐินสามัคคี วัดจะทำพิธีหล่อพระองค์หลวงพ่อสมหวัง เพื่อนำประดิษฐานยังวัดต่างๆ ที่อยู่ห่างไกลชนบท ซึ่งมีแต่ละวัดได้ทำเรื่องขอมา แม้กระทั่งในประเทศอินเดีย ก็ยังขอมา เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ได้ทำพิธีหล่อองค์หลวงพ่อสมหวัง เสร็จสิ้นได้ส่งมอบให้แล้วจำนวน 12 องค์ ส่วนในประเทศไทยได้หล่อเพื่อนำไปประดิษฐานยังวัดต่างๆ ทั่วประเทศ แต่เน้นว่าต้องอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ได้ดำเนินการหล่อและส่งไปแล้วกว่า 20 วัด โดยไม่มีการคิดมูลค่าแต่อย่างใด ซึ่งขณะนี้มีวัดที่ทยอยขอมาขึ้นบัญชีแล้วกว่า 10 วัด ซึ่งต้องรอคิว เพราะทำพิธีหล่อปีละแค่ 3 องค์เท่านั้น และเมื่อหล่อเสร็จจะต้องมาตกแต่งให้สวยงามก่อนที่จะมอบ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนเศษ.