"ศาลานที ทองศิริ" หรือที่ตั้งของ "เซียนแปะโรงสี" หรือที่ทุกคนเรียกสั้นๆ ว่า "เซียนแปะ" จุดหมายปลายทางของ "หญิงใบ้" ในงวดนี้ 16 กันยายน 2563 ที่จะพาทุกคนไปขอโชคลาภ ไปหาเลขเด็ดที่นี่ ด้วยชื่อเสียงอันโด่งดังของเซียนแปะ ทำให้ทุกคนหลั่งไหลเดินทางไปกราบไหว้อย่างไม่ขาดสาย แม้วันที่ไปจะเป็นวันธรรมดาก็ตาม ที่นี่การเดินทางมาขอพรและกราบไหว้เรียบง่ายมากๆ ไม่ต้องบนบาน เอาของมาถวาย หรือทำอะไรให้ยุ่งยาก แค่ตั้งจิตตั้งใจมา แล้วขอกับ "เซียนแปะ" เมื่อสำเร็จก็มาไหว้ และขอพรกับท่านใหม่ ซึ่งก็เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเซียนแปะ และลูกหลานที่ดูแลศาลาแห่งนี้ เราไปรู้จักเซียนแปะให้มากขึ้น ผ่านประวัติที่ลูกหลานได้ทำและติดไว้ที่ศาลาดังกล่าวพร้อมๆ กัน

มาจากเมืองจีนตั้งแต่ 10 ขวบ

นายกิมเคย แซ่โง้ว เกิดที่ประเทศจีน หมู่บ้านเฮียลี่ หรือโจ่ยเกาเฮีย ต.โจ่ยเกา อ.เท่งไฮ้ ได้เข้ามาประเทศไทยกับพี่ชาย ตั้งแต่เด็กอายุประมาณ 10 ปี เมื่อเติบโตพอที่จะประกอบอาชีพได้ ก็ได้รับจ้างทั่วไป ทำงานอยู่ที่โรงสีบางโพธิ์ใต้ ซึ่งปัจจุบันเป็นตำบลบางเดื่อ จังหวัดปทุมธานี

...

ผันตัวเองเป็นพ่อค้าข้าว

ด้วยความขยันขันแข็ง เก็บออมเงินได้ประมาณหนึ่ง จึงผันตัวเองมาเป็นพ่อค้าข้าว ส่งตามโรงสีต่างๆ และได้เป็นหุ้นส่วนกับโรงสีบางโพธิ์ใต้ จนกระทั่งอายุประมาณ 22 ปี นายเหม่งจกและนางกุหลาบ เอี่ยมเข่ง เจ้าของโรงสี ปัจจุบันเป็นตำบลบ้างฉาง จังหวัดปทุมธานี เล็งเห็นถึงความวิริยะ อุตสาหะ ขยันขันแข็ง จึงได้ทาบทามให้แต่งงานกับนางนวลศรี เอี่ยมเข่ง ซึ่งเป้นบุตรสาว จนมีบุตรธิดารวม 10 คน

จนเป็นเจ้าของโรงสี

หลังจากนั้นได้มีการแยกหุ้นแบ่งเงินกัน นายกิมเคยได้เงินมา 100,000 บาท จึงซื้อเครื่องทำโรงสีมา พร้อมทั้งย้ายมาประกอบกิจการโรงสีของตนเอง ที่ปากคลองเชียงราก ซึ่งตั้งอยู่วัดบางกะดี ตรงข้ามกับวัดศาลเจ้า โดยใช้ชื่อว่า "โรงสีไฟทองศิริ" และได้โอนสัญชาติมาเป็นคนไทย พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น "นายนที ทองศิริ" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คนทั่วไปขนานนามท่านว่า เถ้าแก่กิมเคย หรือแปะกิมเคย

ชอบหมากพลู

แม้ว่าท่านจะเป็นคนจีนดั้งเดิม แต่ท่านก็ชอบหมากพลู เช่นคนไทยสมัยนั้น ในยุคนั้นบริเวณหน้าศาลเจ้าแม่น้ำเจ้าพระยา มีกระแสน้ำเชี่ยว และเป็นวังวน มีศาลเจ้าไม้เล็กๆ อยู่ ตามประวัติศาลเจ้าพ่อวัดศาลเจ้า ซึ่งชาวบ้านเรียก "ศาลเจ้าพ่อปู่" แต่ชาวจีนจะเรียกว่า "ปึงเถ่ากงม่า" เมื่อท่านมีเวลา จะมาบูรณะและคลุกคลีอยู่ที่ศาลเจ้าเป็นประจำ เนื่องจากท่านเป็นคนชอบช่วยเหลือคน ชอบทักทาย และชี้แนะให้ทุกคนประกอบแต่ความดี จึงเป็นที่ศรัทธาของคนทั่วไป

บูรณะศาลเจ้าไม้เล็กๆ

ในช่วงนั้นการคมนาคมยังไม่สะดวก ส่วนใหญ่การเดินทางจะเป็นทางน้ำ การบูรณะศาลเจ้าจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ท่านก็ดำเนินการอย่างไม่หยุดหย่อน และได้ใช้การพายเรือไปช่วยเหลือผู้คนตามสถานที่ต่างๆ จึงมีผู้มีจิตศรัทธาช่วยท่าน ให้สามารถบูรณะศาลเจ้าจากเดิม ที่เคยเป็นศาลเจ้าไม้ริมน้ำเล็กๆ มาเป็นศาลเจ้าที่เป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่

งานประจำปีของศาลเจ้า

นอกจากการบูรณะศาลเจ้าแล้ว ท่านยังเป็นผู้กำหนดวันจัดงานประจำปีของศาลเจ้าด้วย เป็นวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 1 ถึงวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 1 รวม 4 วัน 4 คืน ซึ่งชาวจีนเรียกช่วงนี้ว่า เจียง่วย ซิวโหงว ถึงเจียง่วย ซิวโป๊ย และถือเป็นประเพณีของศาลเจ้าตลอดมา

...

องค์เจ้าพ่อศาลปู่ ห้ามฟ้าฝน พายุ

ในการจัดงานประจำปี บางปีมีลมฝนมืดครึ้ม คาดคะเนกันว่าจะมีพายุใหญ่ ท่านก็จะจุดธูปเพื่อปัดเป่าลมฝนไป ทำให้ท้องฟ้าแจ่มใส ไม่มีวี่แววของพายุอีกเลย ชาวบ้านที่รู้สึกศรัทธา เชื่อว่าระหว่างที่ท่านเข้าทรงอยู่นั้น องค์ที่ประทับทรงคือ องค์เจ้าพ่อศาลปู่ของศาลเจ้านั่นเอง เมื่อผู้คนได้พบเห็นมีความศรัทธาขยายวงกว้างออกไป ในหมู่พ่อค้า ทุกๆ วงการค้า จึงทำให้ท่านมีลูกศิษย์ลูกหาที่นับถือท่านเพิ่มขึ้นมากมาย ต่างเรีกยท่านว่า "หวยลั้งเซียน" หรือ "เซียนโรงสี"

ชี้แนะฮวงจุ้ย ฮวงซุ๊ย จนรุ่งเรืองทุกรายไป

เมื่อการคมนาคมสะดวกมากขึ้น ผู้ที่ศรัทธาท่านจากแหล่งต่างๆ จึงเดินทางมาให้ท่านช่วยเหลือชี้แนะ เกี่ยวกับฮวงจุ้ยบ้าน บริษัท ห้างร้าน และดูทำเลที่ตั้งฮวงซุ้ยของบรรพบุรุษ ท่านก็ไปให้คำแนะนำ และชี้แนะทุกรายไป แม้กระทั่งไปยังต่างประเทศ ท่านก็ยังไปตามคำร้องขอ ซึ่งต้องจัดเตรียมหมากพลูไปด้วย ท่านช่วยเหลือบรรดาลูกศิษย์ลูกหาโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย และมไ่มีค่าตอบแทนใดๆ ผู้ที่ท่านชี้แนะมักประสบความสำเร็จในธุรกิจ กิจการรุ่งเรืองเป็นที่รู้จักในวงการค้าทั่วไป พร้อมทั้งบอกเล่าต่อๆ กันไป ผู้ที่เคารพศรัทธาเรียกท่านว่า อาแปะ พร้อมทั้งขนานนามท่านว่า "เซียนแปะ" จวบจนกระทั่งทุกวันนี้

...

ศาลใหม่เสร็จ พ.ศ.2519

เมื่อประมาณ พ.ศ.2518 ท่านได้ก่อสร้างอาคารศาลเจ้าพ่อใหม่ โดยปรับปรุงจากเรือนไม้เป็นอาคาร 8 เหลี่ยม ลักษณะเป็นเก๋งจีน 2 ชั้น โดยได้รับความร่วมมือจากผู้มีจิตศรัทธาและศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ทุกๆ วงการ รวมทั้งบุตรหลานนคนในครอบครัวของท่าน โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 7 แสนบาท ก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2519 พร้อมทั้งทำพิธีเปิดในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2519 หญิงใบ้ว่า...เลขสวยมากๆ 

ที่ตั้งรูปปั้นจำลอง ศาลาเซียนแปะ

เมื่อท่านอายุเริ่มมากขึ้น ร่างกายผ่ายผอม หลังโค้งงอลง แต่ก็ยังช่วยเหลือชี้แนะบรรดาศิษย์และผู้คนทั่วไป โดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย เช่นเคยปฏิบัติมาตลอด อย่างเสมอต้นเสมอปลาย จนเป็นที่เคารพรักของศิษย์ทุกคนจน 85 ปี เมื่อปลายปี พ.ศ.2525 ท่านเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย จนต้องเข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล และจบชีวิตลงในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2527 หลังจากเสร็จสิ้นพิธี บรรดาศิษย์และครอบครัวได้ทำการสร้างอาคารเอนกประสงค์ไว้ที่หลังศาลเจ้าพ่อวัดศาลเจ้า โดยใช้ชื่อ ศาลานที ทองศิริ พร้อมทั้งตั้งรูปปั้นจำลอง ขนาดเท่าตัวจริงไว้ เพื่อให้สักการะและเป็นที่พึ่งทางจิตใจของทุกคน

...

ขึ้นป้ายชัดเจน

ด้วยความที่ท่านเซียนแปะ เป็นคนที่ชอบช่วยเหลือผู้คน โดยไม่เรียกร้องเงินทอง บรรดาลูกหลานจึงทำตามความต้องการของท่าน ด้วยการขึ้นป้ายประกาศที่ศาลาไว้อย่างชัดเจนว่า "เรียนท่านผู้มีจิตศรัทธา การจำหน่ายเหรียญ วัตถุมงคล รูปปั้น กิจกรรมใดๆ ที่อยู่บริเวณศาล ไม่ว่าจะมีการเรียกรับเงินหรือแจกฟรี ทางลูกหลานรวมถึงผู้ดูแลศาลาเซียนแปะ ไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น"  นอกจากนี้ยังมีอีกป้ายประกาศด้วยว่า "ไม่รับของไหว้จากร้านที่รับผ้ายันต์ฟรีไปจำหน่าย และแอบอ้างเป็นลูกหลาน เอาของเก๊ไปจำหน่าย"

คำอธิษฐานขอพร

จำไว้ให้ดีจ้าที่นี่...ห้ามบนบานเด็ดขาด!!! ขอแนะนำให้ทำตามนี้ แล้วคุณจะต้องกลับมาใหม่

คำอธิษฐานขอพร

"เซียนแปะโว้วกิมโคย"

เทียน กัว สื่อ ฮก

ขอให้ฟ้าประทานพรให้ข้าพเจ้า................

มีโชคลาภ ร่ำรวย ความมั่นคง

สุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาว

พิกัดที่ตั้ง 

หญิงใบ้แนะนำให้ทุกคนไปกราบไหว้ท่าน แล้วขอพรท่าน จากนั้นเมื่อสำเร็จก็กลับไปไหว้ท่านใหม่ คงไม่ต้องบอกว่าสาเหตุใด ผู้คนถึงหลั่งไหลไปหาท่านมากมายไม่เว้นแต่ละวัน แต่ช่วงโควิด-19 ที่นี่จะงดของไหว้นะจ้ะ คือถ้าหากอยากนำของมาไหว้ เจ้าหน้าที่แนะนำให้วาง พอไหว้เสร็จก็ลากลับไปด้วยเพื่อความเป็นสิริมงคล สำหรับคนที่มาสามารถมาได้ทุกวัน ศาลจะเปิดเวลา 07.30-17.00 น. ที่สำคัญอย่ามาวันจันทร์นะคะ เพราะศาลแห่งนี้จะหยุดทุกวันจันทร์จ้า

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง