ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารกุมารแพทย์พบว่า ระดับความซึมเศร้าของคุณพ่อมือใหม่เพิ่มขึ้นถึง 68% ในช่วง 5 ขวบปีแรกของลูกน้อย โดยเฉพาะเวลาที่คุณพ่อต้องดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด
Will Courtenay ผู้เขียนหนังสือ Dying to Be Men และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ SadDaddy.com กล่าวว่า ภาวะซึมเศร้าในคุณพ่อมือใหม่ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ความจริงแล้วในแต่ละวัน คุณพ่อมือใหม่ในสหรัฐอเมริกา มีอาการซึมเศร้ามากถึง 3,000 คน ดังนั้นคุณพ่อก็ต้องการความช่วยเหลือเช่นกัน แต่ปัญหาใหญ่ของคุณพ่อมือใหม่ก็คือ เขาจะรู้หรือไม่ว่าตัวเองกำลังเผชิญกับภาวะนี้อยู่
ทำไมคุณพ่อถึงมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
เป็นที่ทราบกันดีว่า ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดของคุณแม่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอย่างรวดเร็วหลังคลอด ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดของคุณแม่ก็เกิดจากฮอร์โมนเช่นกัน
Dr. Courtenay กล่าวว่า ฮอร์โมนของคุณพ่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งครรภ์และหลังจากที่คุณแม่คลอดลูก ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลงเท่านั้น แต่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนยังเพิ่มขึ้นด้วย
Christina Hibbert ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตของคุณพ่อหลังคลอด กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนดังกล่าว สามารถทำให้คุณพ่อเกิดอาการซึมเศร้าได้หลังจากที่ลูกน้อยคลอดออกมา
การผันผวนของฮอร์โมน ผนวกกับสารเคมีในสมองที่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากการอดนอน สามารถทำให้คุณพ่อเกิดภาวะซึมเศร้าได้สูงสุดในช่วง 3-6 เดือนแรกหลังคลอด
นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ที่เปลี่ยนแปลงไป ปัญหาทางด้านการเงิน หรือความเครียดจากการเจ็บป่วย การร้องโคลิค หรือการคลอดก่อนกำหนดของลูกน้อย ก็เป็นสาเหตุของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดของคุณพ่อมือใหม่ได้เช่นกัน
...
ไม่ใช่แต่คุณแม่เท่านั้นที่ต้องรับมือกับลูกน้อยแรกเกิด คุณพ่อจำนวนมากก็มีความกังวล และความเครียดในเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบของเขาเช่นกัน
คุณแม่คาดหวังว่าคุณพ่อจะเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลเจ้าตัวน้อย แต่คุณพ่อส่วนใหญ่มักไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน ดังนั้นเมื่อคุณพ่ออยากจะเข้ามาช่วย เขาไม่รู้ว่าหรอกว่าสิ่งที่เขาต้องเจอจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร และมักไม่รู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร จะช่วยอย่างไร จึงทำให้เกิดความเครียด ซึ่งมักจะนำไปสู่อาการซึมเศร้าของคุณพ่อ
สังเกตอาการซึมเศร้าหลังคลอดของคุณพ่อ
อาการซึมเศร้าหลังคลอดของคุณพ่อต่างจากอาการ Daddy Blues ที่จะหายไปเมื่อคุณพ่อได้พักผ่อนนอนหลับ หรือไปออกกำลังกาย สังสรรค์กับเพื่อน แต่วิธีเหล่านี้จะใช้ไม่ได้กับคุณพ่อที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่อาการจะรุนแรงและยาวนานกว่า หากคุณพ่ออาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ควรปรึกษาแพทย์ หากปล่อยไว้อาการจะมีแต่แย่ลง
Dr. Hibbert กล่าวว่า หากคุณพ่อพยายามที่จะทำกิจกรรมอย่างอื่นเพื่อหนีจากอาการซึมเศร้า เช่น ทำงานหนักขึ้น หรือเล่นกีฬา คุณพ่อก็อาจจะพบกับอาการอย่างอื่นตามมา เช่น ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่มีแรงจูงใจ เป็นต้น
ในด้านร่างกาย ความเครียดจะทำให้คุณพ่อมีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง น้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลง สำหรับด้านพฤติกรรม คุณพ่อจะไม่อยากพูดถึงหรือไม่ยอมรับว่าตัวเองกำลังมีปัญหา พฤติกรรมการกิน และการนอนเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะดื่มเหล้า และแสดงความรุนแรงอีกด้วย
โน้มน้าวให้คุณพ่อรับความช่วยเหลือ
หากคุณคิดว่าสามีของคุณกำลังเผชิญกับภาวะนี้ ควรโน้มน้าวให้เขารับความช่วยเหลือเพื่อสุขภาพของตัวเขาเอง และของทุกคนในครอบครัว การปล่อยไว้อาจเกิดผลเสียในระยะยาว สามารถทำลายชีวิตแต่งงานและครอบครัวได้ Dr. Courtenay กล่าวว่า งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าภาวะซึมเศร้าหลังคลอดส่งผลกระทบในระยะยาวต่อพัฒนาการด้านพฤติกรรม สังคม และจิตใจของเด็ก โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย ซึ่งสามารถเห็นผลกระทบนี้ได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 2 ขวบ ไปจนถึงวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น ในกรณีที่ทั้งคุณแม่และคุณพ่อมีภาวะซึมเศร้าทั้งคู่ ผลกระทบต่อพัฒนาการของลูกน้อยจะยิ่งรุนแรงขึ้น
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดต้องรักษา
Dr. Courtenay กล่าวถึงผลการวิจัยว่า การบำบัดด้วยการพูดคุยร่วมกับการใช้ยาเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด อย่างไรก็ตามมีวิธีการรักษาที่หลากหลายตั้งแต่แพทย์พื้นบ้านไปจนถึงแพทย์ทางเลือก แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องมั่นใจว่าผู้เชี่ยวชาญในการรักษาและผู้ช่วยได้รับใบอนุญาตทางวิชาชีพอย่างถูกต้อง
สิ่งที่คุณแม่สามารถช่วยได้ คือการให้กำลังใจ บอกคุณพ่อว่า เขาไม่จำเป็นต้องโทษตัวเองที่เป็นเช่นนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของเขา เขาไม่ใช่คุณพ่อที่แย่ เพียงแต่เขาต้องยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น การรักษาที่เหมาะสมสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้.