7 วิธีเตรียมตัวเป็นพ่อแม่มือใหม่ เคล็ดลับการเตรียมพร้อมก่อนที่จะเป็นพ่อของลูกน้อย รู้ไหมว่าพ่อแม่ที่ดีต้องทำอย่างไร ก่อนที่ลูกจะคลอด พ่อแม่ควรรู้เรื่องอะไรบ้าง เพื่อให้สามารถเลี้ยงลูกได้อย่างราบรื่น
1. เตรียมหาเวลาให้ลูกมากๆ
เด็กอ่อนเป็นวัยที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กขวบปีแรก ยิ่งพ่อแม่ให้เวลากับลูกมากเท่าไหร่ แนวโน้มที่ลูกจะโตไปเป็นเด็กที่มีคุณภาพยิ่งมากเท่านั้น ดังนั้นพ่อแม่ต้องบริหารจัดการเวลาทำงานและกิจกรรมอื่นๆ ให้ดีๆ เพราะช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด เมื่อผ่านไปแล้วไม่สามารถกลับมาแก้ไขได้อีกแล้ว ซึ่งบางครอบครัวก็อาจให้คุณย่า คุณยาย หรือญาติพี่น้องช่วยเลี้ยง
ในชั่วโมงแรกหลังจากคลอด แม่ควรจะได้เห็นหน้าลูกและใกล้ชิดกับลูกให้มากๆ เพื่อสร้างความผูกพันและควรให้ลูกได้เริ่มดูดนมแม่โดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นการกระตุ้นน้ำนมให้หลั่งออกมาตามปกติ และควรให้ลูกได้ดูดน้ำนมช่วงแรกซึ่งเป็นหัวน้ำนมสีเหลืองค่อนข้างใสด้วย เพราะมีคุณค่าทางอาหารสูงและมีภูมิต้านทานโรคหลายชนิด
2. ฝึกควบคุมอารมณ์ตัวเองให้เป็น
ความพร้อมด้านจิตใจของพ่อแม่ก็เป็นส่วนสำคัญสำหรับทารก เนื่องจากทารกจะซึมซับพฤติกรรมของพ่อแม่เรื่อยๆ ยิ่งพ่อแม่ใกล้ชิดกับลูกมากเท่าไหร่ ลูกก็จะยิ่งจดจำและเลียนแบบมากเท่านั้น ความมั่นคงทางอารมณ์จึงสำคัญ พ่อแม่ต้องมีทั้งความอ่อนโยน ความอดทน ต้องมองโลกในแง่ดี ต้องสร้างความสนุกให้กับลูกได้ ถึงแม้ว่าตอนนั้นจะอารมณ์ไม่ดีก็ตาม ต้องเป็นคนที่มีเหตุผล ไม่ควรใช้แต่อารมณ์ เพื่อที่ลูกน้อยจะได้ไม่กลายเป็นเด็กเจ้าอารมณ์และก้าวร้าว
3. หมั่นหาความรู้เพิ่มเติม
...
เมื่อถึงวัยหนึ่ง ลูกน้อยจะกลายเป็นเด็กช่างสงสัยและสนใจในทุกๆ เรื่อง ทำให้บ่อยครั้งมักจะถามคำถามที่เราไม่รู้ และไม่สามารถตอบได้ พ่อแม่ต้องไม่ดุลูก แต่บอกให้ลูกรอก่อน เดี๋ยวพ่อแม่จะหาคำตอบมาให้ ถ้าโตหน่อยก็สอนให้ลูกลองหาคำตอบด้วยตนเอง สำหรับเด็กเล็ก ความรู้ในการเลี้ยงลูกเป็นสิ่งสำคัญ แต่พ่อแม่ไม่ควรยึดติดมากเกินไป ควรจะนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้กับลูก เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทั้งด้านพัฒนาการ การเจริญเติบโต และสภาพแวดล้อมต่างๆ บางคนเป็นคนเรียนรู้ได้ช้า บางคนเรียนรู้เร็ว อันดับแรกต้องรู้จักลูกให้มากที่สุด แล้วเสริมในส่วนที่ลูกขาดไป
4. วางแผนการเงิน
ความมั่นคงในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากการมีลูกหนึ่งคนถือว่าเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย หากพ่อแม่วางแผนทางการเงินดี เตรียมเงินไว้ใช้สำหรับค่าเล่าเรียนของลูกในอนาคต โดยใช้วิธีวางแผนการออมเงิน เช่น ฝากประจำ การทำประกันชีวิต ประกันสังคม ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ทั้งคุณและลูกก็จะมีความเป็นอยู่ที่สบาย ไม่เดือดร้อนมากนัก
5. จัดเตรียมห้องและของรอรับลูก
ยิ่งแม่ท้องแก่ใกล้คลอดมากเท่าไหร่ ความกังวลของคุณพ่อคุณแม่ก็มากขึ้นเท่านั้น เพราะกลัวว่าของใช้ลูกจะไม่ครบ ไหนจะของใช้แม่เพื่อเตรียมให้นมลูกอีก อีกทั้งห้องนอนอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับสมาชิกตัวน้อย
สำหรับในมุมของห้องนอน อยากจะแนะนำคุณพ่อคุณแม่ว่า ให้คำนึงถึงเรื่องความสะอาดมากที่สุด พยายามอย่าให้ห้องรกรุงรัง เพื่อจะได้ป้องกันสัตว์นำโรคต่างๆ เช่น หนู แมลงสาบ ยุง เป็นต้น และควรมีอากาศถ่ายเทได้ดีพอสมควร มีแสงสว่างมากพอ ไม่มีฝุ่นละอองหรือควันจากท่อไอเสีย ไม่มีเสียงดังรบกวน
ส่วนของใช้ทารก คุณพ่อคุณแม่ควรจัดเตรียม ฟูก มุ้ง หมอน ผ้าปูที่นอน ผ้ายาง ผ้าปูทับผ้ายาง ผ้าห่ม ผ้าอ้อม เสื้อผ้า อ่างอาบน้ำ ผ้าเช็ดตัว หมวก ถุงมือ ถุงเท้า และของใช้อื่นๆ ได้แก่ เข็มกลัดซ่อนปลายสำหรับกลัดผ้าอ้อม สบู่ แชมพู แป้งสำหรับเด็ก หวี สำลีปั้นเป็นก้อนกลม สำลีพันปลายไม้ โถพลาสติก แก้วน้ำ ฯลฯ
คุณแม่ให้นมต้องอย่าลืมของพวกนี้ ขวดนม จุกนม ฝาครอบขวดนม ถ้วยตวง แปรงล้างขวดนม คีมสำหรับคีบ หม้อต้มน้ำหรือหม้อนึ่ง และกระติกน้ำร้อน เมื่อใกล้คลอดควรเตรียมจัดกระเป๋าเสื้อผ้าของใช้ที่จำเป็นของลูกและของแม่สำหรับการเตรียมตัวไปคลอด
6. ศึกษาวิธีเลี้ยงลูก
ทารกแรกคลอดจะมีความบอบบางมากเป็นพิเศษ การเจริญเติบโตยังไม่เต็มที่ กระดูก ข้อต่อต่างๆ ก็ยังไม่แข็งแรง การเลี้ยงลูกช่วงนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นพ่อแม่อย่าลืมศึกษาวิธีการอุ้มลูก การให้นมลูกน้อย การอาบน้ำให้ทารก การนอนของทารก การจับลูกเรอ การเปลี่ยนผ้าอ้อม เพื่อที่จะได้เข้าใจและสามารถปฏิบัติได้ง่ายมากขึ้นในวันที่พยาบาลช่วยสอนวิธีเลี้ยงน้อง
7. หาคู่มือเลี้ยงลูกเพิ่มเติม
ศึกษาการเจริญเติบโต ส่งเสริมพัฒนาการ และสุขภาพของเด็กวัยแรกเกิดถึงก่อน 6 ขวบผ่านทางช่องทางต่างๆ
หลังจากที่คุณแม่คลอดลูกแล้ว คุณพ่ออย่าลืมไปแจ้งเกิดลูกต่อนายทะเบียนท้องที่ ณ เขต หรืออำเภอที่เกิดหรือที่อื่นที่แจ้งได้ภายใน 15 วัน นับแต่ลูกเกิด ทั้งนี้ไม่ว่าจะเกิดที่บ้านหรือที่โรงพยาบาลก็ตาม.