เสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย
เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาการเรียนรู้ในเด็กและเยาวชน ราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) จึงเปิดมิวเซียมสยามให้เด็กๆเข้าชมฟรี ในวันเด็กที่ผ่านมา พร้อมจัดกิจกรรม “กาลครั้งหนึ่ง ณ มิวเซียมสยาม” ตอน ไทยละเล่น ไทยประเพณี จำลองประเพณีไทยท้องถิ่นที่หาดู หาเล่น หาเรียนรู้ได้ยากในปัจจุบัน ให้เยาวชนและครอบครัวได้ร่วมสนุกและใช้เวลาร่วมกันอย่างมีประโยชน์ เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม ส่งเสริมให้ประชาชนไทยหันมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์มากยิ่งขึ้น และให้พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์สำหรับ ประชาชนทุกเพศทุกวัย
โดยหยิบเอาเนื้อหาจาก 1 ใน 14 ห้องของนิทรรศการถอดรหัสไทย ที่มีชื่อว่า ห้องไทยประเพณี ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของขนบธรรมเนียมประเพณี และภูมิปัญญาไทย อันเกิดจากความคิด ความเชื่อในสังคม และมีการถ่ายทอดสืบต่อกันมา ประกอบด้วย โซนกิจกรรมกลางแจ้ง จำลองบรรยากาศงานประเพณีดัง ที่หาเรียนรู้ได้ยาก ได้แก่ ประเพณีแข่งเรือยาว ประเพณีสารทเดือนสิบและพิธีชิงเปรต ประเพณีวิ่งควาย ประเพณีตำข้าวเม่า ประเพณีสงกรานต์ พร้อมกิจกรรมการแข่งขัน ฐานประดิษฐ์ของเล่น เป็นกิจกรรมการประดิษฐ์ของเล่นจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่าย อาทิ เรือไม้ลำปอ เรือไม้จากกระดาษ กิจกรรมระบายสี ตัดพวงมโหตร ฯลฯ เรียกว่าช่วยสร้างเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กๆ และ บอร์ดเกมสำหรับเด็กเล็ก สื่อการเรียนรู้เรื่องประเพณีไทยในรูปแบบของเกมกระดาน อาทิ เกมโดมิโนประเพณี 12 เดือนของชาวอีสาน และเกมการ์ดจับคู่ภาพประเพณี ฯลฯ เป็นการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้จดจำ และมิติสัมพันธ์
...
นอกจากโซนกิจกรรมให้ร่วมสนุกแล้ว มิวเซียมสยามยังเปิดอาคารนิทรรศการให้เข้าชมกันแบบไม่มีค่าใช้จ่ายตลอดทั้งวัน โดยปัจจุบัน นิทรรศการที่จัดแสดงอยู่ที่มิวเซียมสยามมีอยู่ 2 นิทรรศการ ได้แก่ นิทรรศการถาวรชุด “ถอดรหัสไทย” นำเสนอการพัฒนาชาติไทย และมุมมองความเป็นไทยในหลากหลายมิติ อาทิ ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม การแต่งกาย คติความเชื่อ ตลอดจนประเพณีและวัฒนธรรม เป็นต้น และนิทรรศการ “ใจดู หูฟัง” ชุด “สัมผัสภาพพ่อด้วยหัวใจ” นิทรรศการที่ไม่ต้องใช้ตาดู แต่เรียนรู้ผ่านการฟังและการสัมผัส ที่คนตาดีสามารถดูไปพร้อมๆ กับผู้พิการทางการมองเห็น ให้ประชาชนร่วมน้อมรำลึกในพระบารมี พระอัจฉริยภาพ และพระราชกรณีย-กิจของพระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร.