เพื่อตอกย้ำถึงความตั้งใจจริงในการยกระดับการศึกษาไทย สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ใหม่ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาเป็นฐาน ค่ายไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ เปิดโลกให้เด็กรุ่นใหม่และคุณครูได้ค้นพบสิ่งใหม่ในโลกกว้างไปพร้อมๆกัน โดยสานต่อโครงการ “ห้องเรียนแห่งอนาคต” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เปิดโอกาสให้เด็กๆได้ลงมือทำจริง เปลี่ยนการเรียนรู้ของเด็กๆจากผู้รับฟัง มาเรียนรู้สิ่งต่างๆด้วยตัวเอง โดยมีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเสริมและมีคุณครูเป็นผู้สนับสนุนคอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด

หนึ่งในความสำเร็จที่ซัมซุงภูมิใจคือ การสร้างห้องเรียนอนาคตของ “ครูเจ้ง–กัณจนา อักษรดิษฐ์” คุณครูที่ปรึกษาชุมนุม Samsung Discovery Club โรงเรียนเทิงวิทยาคม จังหวัดเชียงราย ที่ประสบความสำเร็จจนได้รับการยกย่องให้เป็นครูต้นแบบ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนเทิงวิทยาคม กลายเป็นโรงเรียนแม่ข่ายศูนย์การเรียนรู้ของโครงการ “ซัมซุงสร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” ให้กับโรงเรียนลูกข่ายอื่นๆในพื้นที่ใกล้เคียง

...

หัวใจสำคัญของการสร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคตสไตล์ซัมซุง ได้รับการเปิดเผยจาก “อ.สมศักดิ์ กัณหา” ว่ากระบวนการเรียนรู้ระหว่างทางสำคัญมากกว่าผลลัพธ์ปลายทาง “ห้องเรียนแห่งอนาคตของซัมซุง” จะมุ่งพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นทักษะที่เด็กจำเป็นต้องมี เพื่อให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต นอกจากความรู้ด้านวิชาการแล้ว เด็กๆต้องมีทักษะด้านอื่นด้วย อาทิ ความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ ปัญหา การสื่อสารความคิด และการทำงานร่วมกับผู้อื่น ฉะนั้นกุญแจสำคัญที่จะจุดประกายการเรียนรู้ดังกล่าวคือ การเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ของคุณครู จากเดิมเป็นผู้ป้อนความรู้เพียงฝ่ายเดียว ต้องเปลี่ยนมาเป็นผู้ให้คำปรึกษา แต่ไม่ชี้นำความถูกผิด ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามผลักดันให้เด็กมีส่วนร่วมและได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง เกิดการวิพากษ์ วิจารณ์ด้วยเหตุผล แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันอันจะนำไปสู่การค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเอง

สำหรับปีนี้ ซัมซุงได้เปิดประตูห้องเรียนแห่งอนาคต ณ โรงเรียนเทิงวิทยาคม เพื่อต้อนรับครู 60 ท่าน จากโรงเรียนทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการ “ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” เพื่อเปิดโอกาสให้คุณครูจากต่างพื้นที่ต่างบริบทได้ศึกษาวิธีการเรียนการสอน ตลอดจนตัวอย่างการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักเรียน โดยยกตัวอย่างโครงการเรือธงของเด็กนักเรียนในโรงเรียนเทิงวิทยาคม ที่จัดทำโครงการ “กูรูกบรุ่นเยาว์” ที่ทำให้เด็กๆเกิดความสนุกและรักที่จะเรียนรู้ พร้อมทั้งค้นหาคำตอบจากโลกกว้างด้วยตัวเอง เป็นต้นแบบให้เห็นภาพของกระบวนการเรียนรู้.