คุณสมบัติเด็กยุคใหม่ อ่อนน้อมถ่อมตน อดทน มีวินัย

ในสังคมยุคปัจจุบัน เป็นโลกดิจิทัล ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องมีการปรับตัวให้ทันเทรนด์ โดยเฉพาะพ่อแม่ยุคใหม่ ที่ต้องก้าวให้ทันโลกและทันลูกๆ เพื่อที่จะพาเขาเดินข้ามผ่านการเปลี่ยนแปลงจากสังคมยุคอนาล็อกไปสู่ยุคดิจิทัล ที่มีเครื่องมือ สิ่งอำนวยความสะดวก รวมไปถึงโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นสิ่งเร้ามากมายที่อยู่รอบตัวไปได้โดยไม่สะดุด ทำให้ครอบครัวยุคดิจิทัลต้องพลิกตำราเพื่อสร้างสมดุลในการเลี้ยงดูลูกในยุคนี้

ธนา เธียรอัจฉริยะ และครอบครัว.
ธนา เธียรอัจฉริยะ และครอบครัว.

ในโอกาส “วันครอบครัว” ที่เพิ่งผ่านพ้นไป เลยมีข้อแนะนำในการเลี้ยงลูกยุคนี้ จากกูรูที่อยู่ในแวดวงของคนรุ่นใหม่และเทคโนโลยีใหม่ๆ ความคิดเห็นของหนึ่งในไอดอลของคนรุ่นใหม่ “ธนา เธียรอัจฉริยะ” คุณพ่อลูก 2 อดีตผู้บริหาร DTAC ซึ่งปัจจุบันเป็นรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ และเจ้าของหลักสูตร ABC คอร์สที่นักธุรกิจรุ่นใหม่อยากเรียนมากที่สุด ได้ให้ความเห็นว่า ยุคนี้เป็นยุคสมัยของการลองผิดลองถูก ดังนั้นความสามารถที่เด็กยุคนี้ต้องมี คือ ผิดแล้วเรียนรู้ ผิดแล้วต้องปรับปรุงตัวเอง และที่สำคัญที่สุดคือ ผิดแล้วต้องแก้ไข! เป็นคุณสมบัติที่ต้องมี ทำผิดได้ไม่เป็นไร คนเราผิดกันได้ แต่ต้องไม่ใช่ผิดซ้ำซาก นอกจากนี้เรายังอยู่ในสังคมไทย สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน และในขณะเดียวกันก็ต้องมีความกล้าหาญพอที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ ถ้าเรามีความอ่อนน้อมถ่อมตนแล้ว เราก็อยากจะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ แล้วก็มีคนอยากที่จะสอนเรา

...

“โอกาสของเด็กยุคนี้มีเยอะ ถ้าเขาเดินทางถูก มีวิธีคิดที่ถูก โอกาสเยอะกว่ารุ่นเรา ที่มีกรอบอะไรจำกัดหลายๆอย่าง แต่แน่นอน ด้านไม่ดีก็มีเยอะ เขาจะมีสิ่งบวกก็ไปไกลกว่าเรา ลบก็หนักกว่าเรา ผมว่า เรื่องทัศนคติเป็นสิ่งสำคัญ เดี๋ยวนี้เราไม่สามารถสอนลูกได้ตรงๆ โดยเฉพาะลูกที่เป็นวัยรุ่น ต้องพยายามหาตัวอย่างให้เขาเห็น ต้องอยู่กับเขาเยอะๆ แล้วเรียนรู้ไปด้วยกัน เพราะจริงๆอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เราก็ไม่รู้ เราก็สอนเขาไม่ได้เหมือนกัน ไม่เหมือนสมัยพ่อแม่เรา ยุคนี้เราไม่รู้ ผมก็ต้องเรียนรู้ไปกับลูก พยายามเรียนรู้ว่า เขาฮิตอะไร นอกจากนี้สิ่งที่พ่อแม่ทำได้คือ สร้างโอกาสให้เขา อย่างตอนนี้ลูกคนเล็กชอบด้านการแสดง ก็พยายามหาโอกาสให้เขาไปทดสอบ แต่ไม่ได้ช่วยให้เขาได้บท ให้เขาไปทดสอบเอง ได้บ้างไม่ได้บ้าง ตามสภาพความเป็นจริง ให้เขาเรียนรู้ มีความพยายามและมีความอดทน เพราะเด็กยุคนี้จะมีความสำเร็จได้ต้องมีความอดทน” ผู้บริหารคนดังแนะนำจากประสบการณ์ตรง

ครอบครัวแดน ศรมณี.
ครอบครัวแดน ศรมณี.

อีกหนึ่งคุณพ่อคนดัง “แดน ศรมณี” ผู้บริหาร Global Brand Lead บริษัท Line (Thailand) จำกัด ได้แนะนำการเลี้ยงดูลูกในยุคโซเชียลมีเดียเปิดกว้างว่า ต้องเข้าใจก่อนว่า โลกเปลี่ยนแปลงไปเยอะจริงๆ พ่อแม่วัยเจเนอเรชัน เอกซ์ หรือเบบี้ บูมเมอร์ ต้องทำความเข้า ใจดิจิทัลว่าไปไกล แค่ไหน ถ้าเราเข้า ใจ เราก็จะไม่ไปโกรธลูก จากนั้นควรเล่นไปกับลูกเลย ไม่ว่าเล่นไลน์หรือเฟซบุ๊ก ถ้าคิดว่าวัยของลูกเหมาะสมแล้ว แต่ในส่วนของการโพสต์หรือการรับคนเป็นเพื่อนก็ต้องคอยให้คำแนะนำเขาในเบื้องต้น เพราะสื่อแพลตฟอร์มแบบนี้ คงห้ามไม่ได้ มันเข้าถึงลูกเราอยู่แล้ว แต่ในโลกของดิจิทัลที่ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ทำทุกอย่างได้ตามต้องการอย่างรวดเร็ว ทำให้การเลี้ยงลูกในยุคนี้มีความหนักใจ เด็กจะเป็น “generation of me” คือตัวฉันมาก่อน อย่างที่ 2คือ เป็นเรื่อง “i can’t wait” มีความอดทนต่ำ ซึ่งลากไปถึงความอดทนในการทำงานอดทนต่ำ ในทุกๆเรื่อง ในส่วนนี้ต้องยอมรับว่าไม่มีสูตรสำเร็จในการเลี้ยงดู ต้องค่อยๆสร้างสมดุลสิ่งหนึ่งที่จะดึงให้เขาหลุดออกจากกรอบทั้ง 2 อย่างนี้ได้คือ การทำกิจกรรมที่เขาชอบ โดยเฉพาะการเล่นกีฬา จะทำให้เขาอยู่กับอุปกรณ์พวกนี้น้อยลง แล้วกีฬาเป็นการฝึกความอดทน เพราะต้องมีการฝึกฝน และถ้าให้ดีพ่อแม่ควรเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้นๆของลูกด้วย

คุณแม่ซี-ฉัตรปวีณ์ และครอบครัว.
คุณแม่ซี-ฉัตรปวีณ์ และครอบครัว.

...

ส่วนคุณแม่ยุคใหม่ “ซี-ฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์” หรือ “เจ้าหญิงแห่งวงการไอที” คุณแม่ลูก 2 ซึ่งได้ออกตัวว่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เป็นคุณแม่มือใหม่ที่ learning by doing ได้ให้แนวคิดจากประสบการณ์ของตนเองว่า การเลี้ยงลูกของ ซี มีอยู่ 2 แนวคิดที่ทะเลาะกันอยู่ คือ ซี เป็นคนชอบเทคโนโลยี ดังนั้นจะห้ามลูกไม่ให้เล่นคงเป็นไปไม่ได้ แต่ก็คงไม่ได้เปิดประตูแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แบบเสพเข้าไปเต็มๆก็มากเกินไป ต้องดูความเหมาะสมตามวัยที่เขาควรจะได้รับ จากที่ศึกษาข้อดีข้อเสียของการดูจอของเด็กเล็ก 0-3 ปี ที่มีผลต่อสมอง เลยพยายามให้เขาดูบ้าง เป็นคลิปสั้นๆเท่านั้น เช่นให้เขาดูแค่ 2 คลิป เสร็จแล้วต้องปิด แรกๆฝืนใจพอสมควร แต่เราต้องจริงจัง ฝึกให้เขามีวินัย พ่อแม่แต่ละบ้านมีความยืดหยุ่นต่างกัน แต่ถ้าถึงขนาดต้องป้อนอาหารให้ เพราะตากะมืออยู่ที่จอ หรือขับถ่ายหน้าจอ อันนี้ถือว่าเกินไป จากที่มีโอกาสได้คุยกับผู้เชี่ยวชาญ การปล่อยให้เด็กถือจอเอง เล่นโดยไม่มีการควบคุม โตไปเขาจะมีภาวะสมาธิสั้น เพราะทุกอย่างในจอที่เขาเสพมีความเร็วๆ แล้วมันยัดเยียด

“สิ่งที่สำคัญก่อนที่จะสอนเด็ก ซี ว่าพ่อแม่ควรที่จะอัปเดตเทคโนโลยีใหม่ๆด้วย เนื่องจากยุคนี้เราไม่มีทางห้ามเขาใช้ เพราะจะกลายเป็นเหมือนยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ แต่ถ้าใช้ก็ต้องอยู่ในสายตา พ่อแม่ยุคใหม่ต้องเรียนรู้โลก เราจะเป็นกบในกะลาไม่ได้ เพราะลูกเขารู้โลกกว้างกว่าเรา ถ้าเราโลกแคบ เราจะไม่รู้ว่าสอนเขาอย่างไร ขณะเดียวกันสิ่งที่ ต้องสอนเขาคือ ให้มีจิตสำนึก มีวินัย และรู้อะไรควรไม่ควร รวมถึงฝึกความอดทน” คุณแม่ยุคใหม่ให้คำแนะนำอย่างตรงจุด.