สร้างแนวคิดใหม่การทำธุรกิจในรูปแบบ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ที่ให้คุณค่าของการแบ่งปันสู่สังคมมากกว่าผลกำไรที่เป็นเงินเพียงอย่างเดียวซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบันจากธุรกิจเล็กใหญ่ทั่วโลก

จากการประชุมประจำปีระดับนานาชาติ Sustainable Brands 2017 Bangkok (SB’17 Bangkok) ซึ่งจัดขึ้นโดย โครงการ Sustainable Brands ประจำประเทศไทย เป็นปีที่ 3 โดยมีผู้นำแบรนด์ชั้นนำทั้งจากในและต่างประเทศ อาทิ มร.ฮาเวียร์ โกเยเนเช่ ผู้ก่อตั้งแบรนด์อีโคอัลฟ์ (ECOALF) เสื้อผ้าที่ทำจากวัสดุ รีไซเคิล โดยนำขยะจากมหาสมุทรมาเพิ่มมูลค่าสู่แฟชั่นแห่งความยั่งยืน, บันนี่ เหยียน เจ้าของแบรนด์ The Squirrelz นักออกแบบผู้สร้างขยะออนไลน์ ให้สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบได้ฟรี ฯลฯ ได้มาร่วมพูดคุยและแบ่งปันในเรื่องความยั่งยืนของโลกธุรกิจระดับสากลในแง่มุมต่างๆ รวมถึงยังเป็นครั้งแรกที่มีเวทีให้แบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะระดับองค์กร (Corporate) ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) กิจการเพื่อสังคม (SE) หรือธุรกิจเกิดใหม่ ที่สร้างแนวคิดที่แตกต่าง (Startup) มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างแบรนด์ เรียนรู้และร่วมมือกันในการขับ เคลื่อนสังคม เพื่อเปลี่ยนโลกธุรกิจมุ่งสู่ความยั่งยืน ณ เพลนารีฮอลล์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ดร.ศิริกุล
ดร.ศิริกุล

...

สำหรับการประชุมในปีนี้ได้จัดขึ้นภายใต้ธีม “Redefining the Good Life” ครอบคลุมถึง 8 หัวข้อหลัก ได้แก่ Good Food, Good Home, Good Lifestyle, Good Money, Good Design, Good Energy, Good Technology และ Good Destination ซึ่ง ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผอ.โครงการ Sustainable Brands ประจำประเทศไทย กล่าวว่า งานประชุม SB’17 Bangkok ถือเป็นศูนย์รวมของนักสร้างแบรนด์ นักการตลาด นักธุรกิจ ที่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบ รวมทั้งสร้างแบรนด์เพื่อให้มีส่วนในการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับสังคม โดยมีการจัดประชุมในหลายประเทศ สำหรับการประชุม SB Bangkok นั้นจะเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้แบรนด์ไทยได้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ซึ่งพบว่าแบรนด์ไทย ก็ไม่แพ้ใครในโลก เพราะฉะนั้นหากเรารวมตัวกันได้ และมีระบบของการแบ่งปันความรู้ที่อยู่ในแพลตฟอร์มของโลก ก็จะมีโอกาสทำให้คนรู้จักแบรนด์ไทยมากขึ้น โดยเฉพาะแบรนด์ไทยที่น้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ในเรื่องของการสร้างความยั่งยืน ซึ่งเป็นคาแรกเตอร์ของแบรนด์ไทยในเรื่องของความยั่งยืน คือ เราเป็นประเทศที่สามารถจะนำเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงบวกกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ดีไม่แพ้ประเทศใดในโลก

คุณหญิงพวงร้อย
คุณหญิงพวงร้อย

ในงานยังมีผู้บริหารธุรกิจแบรนด์ไทยที่ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ อาทิ คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา รองเลขาธิการและกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญกับคน รวมทั้งแบ่งการพัฒนาคนเป็น 3 ระดับ ได้แก่ การมีชีวิตรอด (Survival), ความพอเพียง (Sufficiency) และความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งโมเดลในการพัฒนานี้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคน เน้นการพัฒนาที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง ให้ชุมชนมีส่วนร่วม และรู้สึกเป็นเจ้าของการพัฒนาตั้งแต่แรกเริ่ม แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่รากเหง้า ส่งเสริมทางเลือกในการประกอบอาชีพที่สุจริต การดำเนินการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ก็เป็นไปเพื่อตอบสนองเป้าหมายเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นผู้ที่ให้ซอฟต์แวร์สนับสนุนความรู้กับประเทศอื่นๆ ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จย่า รวมถึงโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ที่กลายเป็นโมเดลการพัฒนาให้เกิดชีวิตที่ดี เป็นชีวิตที่มีโอกาส สามารถเข้าถึงการพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นชีวิตที่มีชีวิตอยู่อย่างรับผิดชอบ เอา ใจใส่ และแสวงหาอนาคตที่ดีกว่า

พิพัฒพงศ์
พิพัฒพงศ์

...

พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา ซีอีโอ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากโครงการหลวง เล่าถึงจุดเริ่มต้นของดอยคำ ที่เกิดขึ้นจากพระราชวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในการแก้ปัญหาการปลูกฝิ่น อันเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ และเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยส่งเสริมการปลูกพืชผัก ผลไม้ หลากหลายชนิดทดแทน จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “สหกรณ์ชาวเขา” และ “โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป” ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานหลวงฯ ทั้งหมด 4 แห่ง ช่วยเหลือด้านการรับซื้อผลผลิตจากพืชที่ส่งเสริมในราคาเป็นธรรม โดยนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในเครื่องหมายการค้า “ดอยคำ” เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร.