ไม่กี่วันมานี้ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศความสำเร็จในการ ปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Assisted Kidney Transplantation) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นความร่วมมือภายใต้โครงการ MFA-MU Capacity Building for Medical and Health Science Education Hub ระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อบูรณาการความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้เท่าทันการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และผลักดันศักยภาพวงการแพทย์ไทยสู่มาตรฐานสากล
หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เป็นหนึ่งในรูปแบบของเทคโนโลยีการผ่าตัดแบบแผลเล็กที่เรียกว่า ‘Minimally Invasive Surgery’ ที่สามารถลดข้อจำกัดของมนุษย์และการผ่าตัดผ่านกล้อง (laparoscopic Surgery) เช่น การเข้าถึงอวัยวะภายในที่แคบและมองเห็นยากได้เป็นอย่างดี โดยมีอัตราขยายการมองเห็นมากกว่าสายตามนุษย์ถึง 10 เท่า สามารถเย็บแผลและห้ามเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจะทำการผ่าตัดในท่านั่ง ซึ่งช่วยลดอาการเมื่อยล้าเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบทั่วไป และการผ่าตัดผ่านกล้องที่จะต้องผ่าตัดในท่ายืนเป็นระยะเวลานาน
...
สถิติจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ (HDC) ประจำปี พ.ศ.2566 เผยว่าผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในประเทศไทยมีจำนวนกว่า 1.06 ล้านคน เพิ่มสูงขึ้นถึง 8.5 หมื่นคน จากปี พ.ศ.2565 โรคไตจึงถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพสำคัญของคนไทยที่มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยเช่น คนเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ที่ส่งผลต่อโรคไตมากขึ้น การบริโภคอาหารรสชาติเค็มเกินกว่า 5 กรัม ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานที่ร่างกายต้องการต่อวัน ด้านการรักษาจะรักษาด้วยการฟอกไต การล้างไตทางช่องท้อง และการปลูกถ่ายไตซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดของการรักษา ณ ปัจจุบัน
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ หัวหน้าศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า ศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นศูนย์ที่ให้บริการปลูกถ่ายไตมากที่สุดในประเทศไทย รวมถึงเป็นต้นแบบทางการรักษาและฝึกอบรมให้กับโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันทั่วประเทศ โดยความสำเร็จของการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของความก้าวหน้าทางการแพทย์ไทย โดยความสำเร็จของการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ได้ทำการผ่าตัดให้กับผู้ป่วย 3 รายแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นการผ่าตัดร่วมกันระหว่างทีมคณะแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก Rangueil University Hospital ประเทศฝรั่งเศส โดยผู้ป่วยทั้ง 3 รายมีระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลเฉลี่ยอยู่ที่ 9 วัน หลังผ่าตัด ทั้ง 3 ราย ไตสามารถทำงานได้ดี
ศ.นพ.กิตติณัฐ กิจวิกัย ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี บอกว่า การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์จะมีแผลผ่าตัดขนาดเล็กกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิด ซึ่งจะช่วยลดการเสียเลือด ลดความเจ็บปวด ลดระยะเวลาในการฟื้นตัว ลดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด และเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วย ส่วน รศ.นพ.ณัฐพล อาภรณ์สุจริตกุล ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะภาควิชา ศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมิเพียงช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายไตเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ป่วย เพราะการใช้หุ่นยนต์ทำให้ศัลยแพทย์สามารถเย็บต่อหลอดเลือดในบริเวณลึกได้ดียิ่งขึ้น และลดความจำเป็นของการใช้หลอดเลือดที่ยาวจากไตของผู้บริจาค
สำหรับการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดปลูกถ่ายไตมีมาก่อนหน้านี้แล้วในต่างประเทศ อย่างเช่นที่ Cleveland Clinic ที่ทำการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์พอร์ตเดียว ในปี 2019 Cleveland Clinic โดยเป็นแห่งแรกในโลกที่ประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตโดยใช้หุ่นยนต์ช่วย รวมทั้งที่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ (UMMC) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในรัฐแมรีแลนด์ที่ใช้การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยในการปลูกถ่ายผู้ป่วยไตจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต.
...
คลิกอ่านคอลัมน์ "สมาร์ทไลฟ์" เพิ่มเติม