ความเครียดของหลายคน อาจเกิดจากปัญหาที่เข้ามารุมเร้ามากมาย จนคิดหาทางออกไม่เจอ แต่จำนวนไม่น้อย ความเครียดทำให้เกิด "ความตื่นตัวมากเกินไปของร่างกาย" โดยเฉพาะคนทำงานในยุคนี้ ที่ต้องพิสูจน์ตัวเอง เพื่อบรรลุเป้าหมายและได้รับการยอมรับ จนทำให้ร่างกายเจ็บป่วยอย่างคาดไม่ถึง
ลองสำรวจตัวเองดูว่า เลิกงานแล้วดึกดื่นยังคิดวางแผนงานอยู่ หรือยังเช็กอีเมล ตอบไลน์หรือไม่ หากใช่ ถึงเวลาต้องระวัง
WebMd.com ได้รวบรวมสถิติของภาวะเครียดที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพได้อย่างน่าสนใจ โดยพบว่า 43 เปอร์เซ็นต์ของวัยทำงานได้รับผลกระทบทางสุขภาพเกิดการเจ็บป่วยเพราะความเครียด และ 75-90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยและไปพบแพทย์มาจากปัญหาความเครียด ที่มีอาการ ปวดหัว ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน หอบหืด ข้ออักเสบ ภาวะซึมเศร้า และวิตกกังวล
...
ขณะเดียวกัน องค์กรด้านสุขภาพจากสหรัฐฯ (Occupational Safety and Health Administration) ได้เปิดเผยข้อมูลด้วยว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีอารมณ์ด้านลบต่างๆ ยาวนาน เป็นผลมาจากความเครียดสะสม เครียดเรื้อรัง และความเครียด ส่งผลทำให้เกิดต้นทุนในการเข้ามาช่วยรักษา แก้ปัญหาสุขภาพมูลค่าสูงถึง 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ความเครียด ทำให้ร่างกายตื่นตัวเกินไปได้อย่างไร
ความเครียดทำให้ร่างกายตื่นตัว เกินสมดุลมากกว่าร่างกายรับได้ แต่เรามักไม่รู้ตัว หรือภาษาทางวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ ร่างกายไม่สามารถควบคุมการหลั่งของสารกระตุ้น ที่ทำให้ร่างกายตื่นตัวตลอดเวลา สารตัวนี้จะทำให้ร่างกายเตรียมพร้อมการต่อสู้ ซึ่งในยุคโบราณจะถูกปล่อยออกมา เมื่อเกิดภัยอันตรายกับตัว เช่น การเจอภัยหรือสัตว์อันตราย สารที่ปล่อยออกมาจะช่วยให้เอาเอาตัวรอด อย่างการวิ่งหนีเสือ เป็นต้น
เมื่อผ่านวิกฤติกลไกการปล่อยสารเคมีที่ทำให้ร่างกายตื่นตัวจะหายไป จากนั้นจะมีสารอีกตัวมาถ่วงดุล ทำให้จิตใจสงบร่างกายผ่อนคลาย กลับมาสู่ภาวะปกติ
อธิบายเพิ่มเติมได้ว่า เมื่อสภาพจิตใจอยู่ในภาวะเครียด ร่างกายจะเกิดความตื่นตัว มีกลไกการทำงานของสมองเข้าไปปลุกให้ระบบการทำงานของประสาทสั่งการให้ร่างกายตื่นตัว เรียกว่า ซิมพาเทติก (Sympathetic Nervous System-SNS) ซึ่งคนที่ปกติ ร่างกายสมดุล จะมีกลไกทำให้ร่างกายสงบ หลั่งสารที่ทำให้ผ่อนคลายเพื่อให้ได้พักผ่อน เรียกว่า พาราซิมพาเทติก (Parasympathetic-PNS) กู้ร่างกายคืนกลับสู่ภาวะปกติซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติ เมื่อถึงเวลาพักผ่อน นอนหลับ หรือ หาความสงบให้กับจิตใจ
เกิดอะไรขึ้นบ้าง เมื่อต่อมความเครียดดีดเกินเบอร์
ร่างกายที่ตื่นตัวจากกลไกซิมพาเทติกสูงมากจนเกินไป เกิดขึ้นเฉพาะช่วงที่เกิดภาวะฉุกเฉินจนมีความเครียดฉับพลัน หรือหากตื่นตัว มีภาวะจดจ่อกับบางสิ่งมากไป หรือทำต่อเนื่องเป็นเวลานาน ร่างกายจะเข้าสู่ภาวะเครียดโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะวิถีชีวิตในยุคสมัยใหม่ ที่ซิมพาเทติกทำงานอยู่ตลอดเวลา จากการคิด วางแผน ทำให้เกิดการตื่นตัวมากเกินไปจนเกินกว่าพาราซิมพาเทติกกู้คืนกลับมา เกิดการดึงพลังมาใช้แบบเกินร่างกายรับได้
ระบบประสาทขาดการสื่อสารการทำงานร่วมกันอย่างสมดุล ระหว่างฝั่งตื่นตัวกับฝั่งผ่อนคลาย จึงส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยไม่รู้ตัว เพราะกลไกการสมองจะมีการจดจำสิ่งที่ตอบสนองให้ตื่นตัว และป้อนสิ่งนั้นซ้ำๆ โดยขาดการตระหนักรู้ ว่าสิ่งที่ทำนั้นสร้างพิษให้กับสร้างร่างกาย
เมื่อเกิดความตึงเครียดในบางพฤติกรรมมากเกินไป ร่างกายจึงมีปฏิกิริยาร่างกายตอบสนอง เช่น บางคนกล้ามเนื้อหดเกร็ง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย จึงเกิดอาการตึง การไหลเวียนของเลือดลดลง นำไปสู่อาการปวดตามข้อ หลัง และปวดหัว รวมไปถึงหัวใจเต้นเร็ว อุณหภูมิสูงขึ้น เหงื่อออก ความดันสูง หายใจถี่ น้ำตาลในเลือดสูง ม่านตาขยาย อาการเหล่านี้ขึ้นอยู่กับผลกระทบส่วนไหนมากเกินพอดี ก็ทำให้เกิดการเจ็บป่วยส่วนนั้น
บางคนจึงต้องการกลูโคสซ้ำๆ เพื่อตอบสนองการตื่นตัว จนปริมาณน้ำตาลเกินขนาดทำให้เป็นเบาหวาน หรือบางคนกล้ามเนื้อหัวใจเต้นเร็วขึ้น บางคนหิวมาก บางคนมีปัญหาในการนอนหลับ หากหมั่นสังเกตร่างกายดีๆ สิ่งแรกที่ร่างกายจะตอบสนองคือ "ระบบการย่อยอาหาร" เมื่อไรที่ระบบย่อยอาหารไม่ทำงาน หรือทำงานมากเกิน นั่นแสดงว่าร่างกายไม่สมดุล และถึงเวลาต้องดูแล โดยเฉพาะการหยุดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเครียด เพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย เป็นลูกรับลูกชน คืนความสงบที่เริ่มจากใจ เพื่อสยบความเครียด จนทำให้ร่างกายตื่นตัว ก่อนที่จะเกิดโรคร้ายตามมา.
...