ทุก 6 วินาที ทั่วโลกจะมีคนตายเพราะโรคหลอดเลือดสมอง 1 คน และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตและทุพพลภาพ ปี 2564 ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองราว 13.7 ล้านคน เสียชีวิต 5.5 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 6.7 ล้านคนต่อปี 1 ใน 4 มีอายุ 25 ปีขึ้นไป
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดในสมองมีการตีบตันหรือแตกอย่างเฉียบพลัน ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองในส่วนนั้นหยุดชะงักลง ส่งผลให้เนื้อสมองถูกทำลาย เนื่องจากการขาดออกซิเจนและสารอาหาร โดยปกติสมองของคนเราแต่ละส่วนจะควบคุมการทำงานของร่างกายแตกต่างกันออกไป เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งถูกทำลายจะส่งผลต่อการทำหน้าที่ในส่วนนั้นๆ อาจทำให้เกิดความพิการในระยะยาว ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่นตลอดชีวิต
เป็นโรคที่พบบ่อยเป็นอันดับสามรองจากโรคหัวใจและโรคมะเร็ง พบได้บ่อยในผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เมื่อเกิดโรคแล้วจะก่อให้เกิดอาการต่างๆทางระบบประสาท เป็นได้ทั้งหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งเกิดจากการที่มีไขมันเกาะตามผนังหลอดเลือด หรือมีการอุดตันของหลอดเลือดสมองจากการที่มีลิ่มเลือดลอยไปอุดตันหลอดเลือดที่มีความเปราะบางกว่าปกติ ทำให้เนื้อสมองบางส่วนถูกทำลายไป ส่วนมากผู้ป่วยจะมีความผิดปกติของระบบประสาทเกิดขึ้นทันทีทันใดเมื่อมีการอุดตันหรือมีการแตกของหลอดเลือดสมอง
...
3 สาเหตุหลักๆของโรคหลอดเลือดสมอง 80% เกิดจาก หลอดเลือดในสมองตีบ (Atherosclerosis) โดยมีลิ่มเลือดก่อตัวขึ้นจากผนังหลอดเลือดสมองที่มีคราบไขมันเกาะจนแข็ง ทำให้หลอดเลือดสมองตีบแคบลงจนอุดตัน ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ อายุ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ โรคที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายในหลอดเลือด โรคอ้วน เพราะคนอ้วนจะสัมพันธ์กับการนอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
หลอดเลือดในสมองอุดตัน (Embolic) เกิดจากลิ่มเลือดที่ก่อตัวในเส้นเลือดนอกสมอง เช่น ที่หัวใจ ลอยตามกระแสเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดเล็กๆในสมอง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคของลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือภาวะหัวใจโต สาเหตุอื่นๆ ที่พบในวัยรุ่น เช่น กีฬาหรืออุบัติเหตุที่มีการบิดหรือสะบัดคอแรงๆ อาจทำให้หลอดเลือดที่คอฉีกขาดได้ อาทิ บันจี้จัมพ์ หรือกีฬาเอ็กซ์ตรีม ซึ่งพบได้มากขึ้นในคนไข้กลุ่มวัยรุ่น มักมีอาการปวดคอมาก อ่อนแรงครึ่งซีก หรือช่วงน้ำท่วมมีอาสาสมัครช่วยแบกกระสอบที่คอแล้วอ่อนแรงไปซีกหนึ่ง เป็นต้น นอกจากนี้อาการของหลอดเลือดสมองยังมีหลอดเลือดดำอุดตันด้วย เช่น กลุ่มที่รับประทานยาคุมกำเนิดหลังคลอด ซึ่งจะมาด้วยอาการชักคล้ายหลอดเลือดแดงอุดตัน
เลือดออกในสมอง (Hemorrhagic) เป็นสาเหตุที่เกิดได้ 20% เกิดจากเลือดออกภายในสมอง ซึ่งเลือดที่ไหลออกมาทำให้เกิดแรงกดเบียดต่อเนื้อสมอง และทำลายเนื้อสมอง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง มีหลายปัจจัย อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ความอ้วน ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ และดื่มสุรา ภาวะเลือดข้นกว่าปกติ การกินยาต่างๆต่อเนื่อง เช่น สตรีที่รับประทานยาคุมกำเนิดร่วมกับเป็นความดันโลหิตสูง อายุที่มากขึ้น
การเสียหายของสมอง ในกรณีที่เกิดความเสียหายต่อสมองน้อย (Cerebellum) จะทำให้สูญเสียการทรงตัว เวียนศีรษะ เคลื่อนไหว ไม่ประสานงานกัน เกิดความเสียหายต่อก้านสมอง ทำให้การหายใจหรือการเต้นของหัวใจผิดปกติหรือหมดสติ ซึ่งสามารถประเมินความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมองได้จากระดับการสูญเสียหน้าที่การทำงานของร่างกาย แต่หากเส้นเลือดสมองซีกซ้ายแตก จะเกิดภาวะอัมพาตครึ่งตัวด้านขวา เสียการมองเห็นภาพซีกขวาของตาทั้งสองข้าง แต่หากเส้นเลือดสมองซีกขวาแตก จะเกิดภาวะอัมพาตครึ่งตัวด้านซ้าย เสียการมองเห็นภาพซีกซ้ายของตาทั้งสองข้าง
มีปัญหาการพูด การเข้าใจภาษา และการกลืน สูญเสียความสามารถในการประเมินขนาดและประมาณระยะทาง สูญเสียการจัดการ การระวังตัว ปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง สูญเสียการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ฯลฯ บางรายอาจ ถึงขั้นนอนติดเตียง ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้หากเกิดภาวะเส้นเลือดสมองแตกอย่างรุนแรง
...
มาตรฐานเวลาหรือ Magic Number คือ ตัวเลขสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดและลดความเสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ไม่เกิน 4.5 ชั่วโมงหลังจากพบอาการ ถ้าผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล ภายในช่วงเวลานี้นับตั้งแต่สังเกตเห็นอาการ เบื้องต้นแพทย์จะทำ MRI เอกซเรย์สนามแม่เหล็กตรวจดูความเสียหายของเนื้อสมองและหลอดเลือดที่อุดตันว่ามีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ และให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ ในคนไข้รายที่มีภาวะสมองขาดเลือดและไม่พบภาวะเลือดออกในสมองจะช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ทัน
ถ้ามาช้าเกิน 4.5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ และวินิจฉัยว่าเซลล์สมองยังไม่ตายจากการอุดตันของลิ่มเลือดขนาดใหญ่ การให้ยาละลายลิ่มเลือดอาจไม่ทำให้อาการดีขึ้น ต้องอาศัยการใส่สายสวนหลอดเลือดสมอง แพทย์รังสีร่วมรักษาจะเข้ามาช่วยดูแลเพื่อพิจารณาว่าคนไข้เหมาะสมที่จะรักษาด้วยการลากลิ่มเลือดออกจากหลอดเลือดสมองหรือไม่
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองอย่างทันท่วงทีด้วยวิธีการที่ถูกต้องจะช่วยป้องกันการเป็นซ้ำและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับความรุนแรงและอาการ เช่น การถ่างขยายหลอดเลือด โดยแพทย์จะสอดเครื่องมือเข้าทางหลอดเลือดใหญ่บริเวณขาแล้วถ่างขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนที่ทำหน้าที่เหมือนการขูดตะกรันในท่อน้ำ หรือใส่อุปกรณ์ถ่างขยายที่ทำจากขดลวด (Stent) เหมือนตะแกรงที่ช่วยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดตีบซ้ำในตำแหน่งที่หลอดเลือดตีบ ช่วยลดระยะเวลาในการพักฟื้น
แต่สิ่งที่ดีที่สุด คือ การป้องกันและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง เพราะโรคนี้ป้องกันได้ และการป้องกันเป็นสิ่งที่ดีกว่าการรักษาแน่นอน.