โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือโรคที่สามารถติดต่อไปสู่คู่นอนผ่านการมีเพศสัมพันธ์ มีด้วยกันหลายโรค บางโรคเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ในขณะที่บางโรครักษาหาย หรือบางโรคนำไปสู่การเป็นโรคร้ายอื่นๆ ตามมา เช่น มะเร็งปากมดลูก คอลัมน์ “ศุกร์สุขภาพ” สัปดาห์นี้จะพาไปรู้จักกับ “โรคหูดหงอนไก่”

“โรคหูดหงอนไก่” เป็นโรคที่เกิดจากการติดต่อกันทางเพศสัมพันธ์เป็นหลัก โดยมีสาเหตุหลักจากเชื้อไวรัส HPV หรือ Human Papillomavirus พบบ่อยในวัยเจริญพันธุ์ คือในช่วงอายุ 16-44 ปี และสามารถพบในผู้ชายได้เช่นกัน ซึ่งหากเกิดในผู้ชายมักไม่มีอาการให้เห็น แต่อาจมีเชื้อแล้วติดต่อมายังผู้หญิงได้ ผู้หญิงบางรายอาจจะมีอาการ คือ พบว่าก้อนซึ่งมีลักษณะเป็นเหมือนหัวกะหล่ำ พบบริเวณอวัยวะเพศ ตั้งแต่ข้างนอกไปจนถึงในช่องคลอดเลย

การวินิจฉัย สามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้

การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Test) หรือการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ทำโดยการเก็บตัวอย่างเซลล์บริเวณปากมดลูกไปตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์โดยใช้กล้องจุลทรรศน์

การตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อเอชพีวี (HPV DNA Test) คือ การนำตัวอย่างเซลล์และสารคัดหลั่งบริเวณปากมดลูกไปตรวจหาเชื้อเอชพีวีโดยตรง โดยการทำ PCR (polymerase chain reaction) ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับที่ใช้ตรวจหาเชื้อ COVID-19 นั่นเอง ซึ่งอนาคตการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจะเปลี่ยนเป็นการตรวจแบบนี้ เพราะได้ผลที่แม่นยำกว่าการตรวจแบบเดิม

...

อันตรายและภาวะแทรกซ้อน

โดยธรรมชาติของตัวโรคหูดหงอนไก่เอง ไม่ได้มีอันตรายรุนแรงถึงแก่ชีวิต แต่หากตรวจพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ปากมดลูกเป็นเซลล์ก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก หรือเป็นเซลล์มะเร็งปากมดลูก ก็จะต้องรีบทำการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้กลายเป็นมะเร็ง หรือเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก จึงเป็นเรื่องที่ผู้หญิงทุกคนควรใส่ใจและให้ความสำคัญ

การรักษา

การรักษาโรคหูดหงอนไก่ที่มีลักษณะเป็นก้อน แพทย์จะให้ยาทา ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก้อนก็จะค่อยๆ ยุบลงไป ในบางรายที่อาการยังไม่ดีขึ้น ก็จะจี้ด้วยไฟฟ้า หรือตัดออก ซึ่งกรณีดังกล่าวข้างต้นนี้ไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่หากตรวจพบว่ามีเซลล์เปลี่ยนแปลงก่อนเป็นเซลล์มะเร็งปากมดลูก ก็จะต้องมาพิจารณาต่อว่าเซลล์ที่ตรวจพบมีความผิดปกติมากน้อยเพียงใด อยู่ในระยะใด เพื่อจะได้วางแผนการรักษาต่อไป โดยจะส่งให้สูติ-นรีแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยาเป็นผู้ดูแลต่อไป

การป้องกัน

การป้องกันแบบปฐมภูมิ คือ การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV เป็นนโยบายการป้องกันโรคของประเทศ โดยจะฉีดให้เด็กอายุตั้งแต่ 12 ปี จำนวน 2 เข็ม สามารถป้องกันได้ 4 สายพันธุ์ แต่ถ้าอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป ควรฉีด 3 เข็ม ราคาประมาณเข็มละ 2,000 กว่าบาท ฉีดเข็มแรก เข็ม 2 ห่างจากเข็มแรก 2 เดือน และเข็มสุดท้ายห่างจากเข็มที่ 2 เป็นระยะเวลา 4 เดือน

ปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนป้องกัน HPV ใหม่ล่าสุดที่สามารถป้องกันได้มากถึง 9 สายพันธุ์ แต่ยังไม่ครอบคลุมสิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดในบทความสัปดาห์หน้า รอติดตามกันนะคะ

การป้องกันแบบทุติยภูมิ คือ การตรวจ HPV DNA หรือการตรวจมะเร็งปากมดลูก หากเลือกตรวจแบบ HPV DNA แล้วผลออกมาเป็นลบ ก็สามารถเว้นระยะเวลาออกไปอีก 5 ปี แต่ยังแนะนำให้ควรตรวจภายในทุกปี เพื่อตรวจหาความผิดปกติอื่นๆ ในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง

@@@@@@@@@@@@@

แหล่งข้อมูล

รศ.ดร.พญ.อารีย์พรรณ โสภณสฤษฎ์สุข ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล