ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ระบบสุขภาพของไทยได้รับการยกย่องจากหลายสถาบันของโลกว่า “เป็นระบบสุขภาพที่ติดอันดับนำในเอเชียและดีเยี่ยมในระดับสากล” โดย มหาวิทยาลัยจอหนส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) สหรัฐอเมริกา
โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก และเป็นอันดับที่ 1 ของเอเชีย หากพูดถึงความสามารถของวงการแพทย์ไทย
จะพูดว่าไม่แพ้ชาติใดในโลกก็ไม่ผิดจากความเป็นจริง แต่หากมองเรื่องคุณภาพชีวิตของแพทย์และระบบสาธารณสุขไทยล่ะ?
หมอเองเป็นแพทย์ใช้ทุน เป็นหมอผู้หญิงตัวเล็กๆคนหนึ่ง ขณะนี้เพิ่งเข้าปีที่ 2 ของการทำงาน เทียบกับการทำงานของสายอาชีพอื่นก็เหมือนเป็นเด็กจบใหม่ หมอทำงานอยู่ในโรงพยาบาลริมทะเลในจังหวัดขนาดใหญ่ โรงพยาบาลมีขนาดประมาณ 500 เตียง สภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลหมอนั้น นับว่าเป็นโรงพยาบาลที่บรรยากาศดีที่สุดแห่งหนึ่งเลย คนไข้ที่มาโรงพยาบาลมีทุกเพศทุกวัย และจำนวนมากก็เป็นคนไข้วัยทำงานไปจนถึงวัยสูงอายุ
เพราะด้วยความที่เป็นโรงพยาบาลที่รับสิทธิประกันสังคมเยอะ จากการทำงานที่ผ่านมาเพียงปีครึ่ง ก็อยากจะมาเล่าถึงปัญหาที่เห็นเพราะอยากให้ระบบสาธารณสุขไทยยั่งยืน
...
จะขอเล่าเส้นทางชีวิตของการเรียนแพทย์ให้ฟังก่อน หลังจบจากนิสิตนักศึกษาแพทย์ก็ต้องไปใช้ทุนตามที่ต่างๆเป็นเวลา 3 ปี บางคนก็ได้ไปไกลบ้าน บางคนก็ได้กลับบ้าน หลังจากใช้ทุน บางคนก็จะกลับมาเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งตำแหน่งที่ให้เรียนก็แก่งแย่งแข่งขันกัน ไม่ใช่ว่าจะได้เรียนทุกคน เรียนจบก็กลับไปทำงานตามสาขาเฉพาะทางที่ตนเองเรียนมา บางคนก็ไปเรียนต่อยอดของเฉพาะทางอีกที นี่คือเส้นทางทั่วๆไปของแพทย์
หมอเองจบจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนทั้งรุ่นประมาณ 300 คน มีบางส่วนที่ลาออกจากระบบไปตั้งแต่แรกหลังเรียนจบ ไปทำงานสายงานอื่นหรือคลินิกต่างๆ บางส่วนก็ใช้ทุนไปได้สักพัก ทนไม่ไหวก็ลาออก ทนไม่ไหวในที่นี้ คือ การทำงานมันหนักเกินกว่าจะรับไหว ทำงาน 8 ชั่วโมงในเวลาราชการ (หรืออาจจะมากกว่านั้นเพราะต้องมาดูคนไข้ในหอผู้ป่วยแต่เช้า) อยู่เวรจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น (เวลาเวร 16 ชั่วโมง) ลงเวรแล้วก็ดูคนไข้ต่อ ทำงานตามปกติอีก 8 ชั่วโมง
สรุปแล้วทำงานต่อเนื่อง 32 ชั่วโมง บางโรงพยาบาลเป็นแบบนี้วันเว้นวัน เป็นมากี่สิบปีเป็นยังไงก็เป็นต่อแบบนั้น ยังไม่มีการออกมากำหนดชั่วโมงการทำงานสักที ปริมาณงานมาก ความรับผิดชอบสูงแต่ค่าตอบแทนไม่ไปตามกัน
แพทย์ที่จบใหม่ในปีแรกนั้น เราจะเรียกว่าแพทย์เพิ่มพูนทักษะ จบ 1 ปีจะได้ใบเพิ่มพูนทักษะเอาไว้ไปสมัครเรียนแพทย์เฉพาะทาง สำหรับแพทย์จบใหม่การทำงานมากเหมือนเป็นเรื่องปกติ บางทีแพทย์รุ่นพี่บังคับให้อยู่เวรที่ตัวเองไม่อยากอยู่แล้วให้เงินพิเศษเพิ่มบ้าง (ขายเวร) นอกเหนือจากความเหนื่อยกาย บางครั้งก็ยังเจอความเหนื่อยใจจากคนที่มีตำแหน่งสูงกว่า การดุด่าว่ากล่าวที่รุนแรงและไม่มีเหตุผลใครเจอก็คงท้อใจ
จนบางครั้งก็แอบคิดในใจว่านอกเหนือจากการดูแลจิตใจคนไข้แล้วก็อย่าลืมใส่ใจคนที่ทำงานด้วยกันบ้าง ใครที่มีทางเลือกที่ดีกว่าก็ลาออกไปตามระเบียบ ตามมาซึ่งปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งก็เป็นวงจรแบบนี้ไปเรื่อยๆ แล้วเมื่อไหร่ปัญหาจะแก้ได้
เรื่องค่าตอบแทนของแพทย์ หมอว่าก็เป็นส่วนสำคัญอีกส่วนที่ทำให้คนไม่อยู่ต่อในระบบ การปรับอัตราเงินเดือนล่าสุดน่าจะ 5-10 กว่าปีก่อน เงินเดือนเริ่มต้นประมาณ 18,000 บาทไม่รวมค่าเวร มีการปรับขึ้นตามจำนวนปีที่ทำงาน แต่ในส่วนของค่าเวรในโรงพยาบาลรัฐบาล 10 ปีที่แล้ว ค่าเวรเท่าไหร่ เวลาผ่านไปค่าเวรก็เท่าเดิม ไม่ได้ดูอัตราเงินเฟ้อเลย ยกตัวอย่าง เช่น เวรค่าห้องฉุกเฉิน 1,100 บาท ต่อ 8 ชั่วโมง
สอบถามรุ่นก่อนๆก็เป็นอย่างนี้มานานแล้ว แล้วควรจะแก้ที่ตรงไหน ทำให้ระบบมันน่าอยู่มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาแพทย์ขาดแคลนได้อย่างจริงจัง
เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ชุดเรื่อง New Amsterdam ถูกถ่ายทำเมื่อปี ค.ศ. 2018 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการบริหารโรงพยาบาลรัฐบาลในมหานครนิวยอร์ก เมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ เศรษฐานะ
แน่นอนว่าแม้จะเป็นเมืองใหญ่ที่เจริญ ปัญหาของโรงพยาบาลรัฐบาลที่ถูกนำเสนอออกมา ไม่ได้ต่างไปกับบ้านเราสักเท่าไหร่ เป็นที่รู้กันดีว่าค่ารักษาพยาบาลในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นสูงเพียงใด ใครที่เข้าห้องฉุกเฉินที แทบจะขายบ้านกันเลยทีเดียว คนที่ซื้อประกันสุขภาพบางทีก็ไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ในส่วนของคนที่ไม่มีประกันแน่นอนว่าโรงพยาบาลก็ให้การรักษาตามมาตรฐานและแบกรับภาระค่าใช้จ่าย จะประเทศไหนๆก็ไม่ได้หนีพ้นปัญหาเรื่องการขาดทุนของโรงพยาบาล
...
แต่สิ่งที่ดูแล้วชอบคือ ผู้บริหารโรงพยาบาลเรียกประชุม แพทย์แผนกต่างๆ พร้อมกับคำถามหนึ่ง How can I help? (ให้ผมช่วยอย่างไร)
สิ่งใดที่อยากให้เขาซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจนั้นช่วยแก้ไข และแก้ไขโดยมีความคิดสร้างสรรค์ถึงแม้จะถูกจำกัดจากหลายๆด้าน
ในมุมมองของหมอ หมอคิดว่าสิ่งที่เขาทำเป็นการเข้าถึงคนที่ทำงานจริงๆ มีความจริงใจในการจะลงมาแก้ไขปัญหา เปิดรับฟังและพร้อมช่วยเหลือ ในชีวิตจริงอาจจะคิดว่ายากที่จะให้ผู้บริหารลงมานั่งฟังปัญหาเอง
แต่ในมุมมองของหมอ ผู้บริหารคือผู้จัดการปัญหาในองค์กรเพื่อการทำงานในองค์กรมีประสิทธิภาพและมีจุดติดขัดน้อยที่สุด แต่ความเป็นจริงกลับกลายเป็นจุดติดขัดเสียเอง แจ้งเรื่องไปที 5-6 เดือนกว่าจะถึงคนที่มีอำนาจตัดสินใจ และก็อีกหลายครั้งอีกเช่นกันที่ปัญหาถูกมองข้าม หลายๆครั้งที่เคยได้ยินเวลามีแพทย์ที่อายุน้อยพูดถึงปัญหา ก็จะได้รับคำตอบว่า สมัยพี่เป็นแบบนี้ก็ยังผ่านมาได้ อยากให้ลองคิดว่าแล้วที่ผ่านมา มันดีจริงๆ หรือแค่ทำให้มันผ่านๆไป สิ่งที่เป็นอยู่มันดีกว่านี้ได้หรือไม่ การที่ปัญหามันไม่ได้กระทบเราไม่ได้หมายความว่าเราควรนิ่งเฉย ควรจะมีระบบการดำเนินการอย่างจริงจังกว่านี้
หมอเชื่อมั่นว่ายังมีคนอีกมากที่เต็มใจที่จะอยู่ในระบบที่น่าอยู่ หลายๆคนเข้ามาไฟแรงที่จะทำงาน แต่ถ้าสิ่งที่ทำให้ท้อใจแล้วแก้ไขไม่ได้มันตอกหน้าอยู่ทุกวี่ทุกวัน สุดท้ายก็ไม่พ้นถูกระบบที่อยู่กับที่หรือกำลังเสื่อมถอยกลืนกินไป หรือก็อยู่ไม่ได้ หนีออกจากระบบไป
อยากฝากให้คิดว่าตรงไหนที่จะทำให้ตัดวงจรอุบาทว์เหล่านี้ได้ เน้นย้ำว่าสิ่งที่พูดต้องการการแก้ไขที่ถูกต้อง ในฐานะที่ก็เป็นคนหนึ่งที่อยากจะอยู่ในระบบต่อไป.
หมอดื้อ
...