เมื่อเร็วๆนี้ บริษัทความปลอดภัยไซเบอร์ Comparitech ได้ทำการรวบรวมสถิติการกลั่นแกล้งบนอินเตอร์เน็ตในช่วงระหว่างปี 2561—2564 ทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก พบว่า มีสถิติเพิ่มขึ้นทั่วโลก

การสำรวจครั้งนี้ ทำโดยการสัมภาษณ์ทั้งหมด 20,793 ครั้งใน 28 ประเทศ โฟกัสกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 18-64 ปีในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา และผู้ใหญ่อายุ 16-64 ปีในประเทศอื่นๆ

60% ของผู้ปกครองที่มีลูกอายุ 14-18 ปี ให้ข้อมูลว่า ถูกไซเบอร์ บูลลี่ และจากการทำสำรวจผู้ปกครองของเด็กที่มีอายุเกิน 5 ปี จำนวนมากกว่า 1,000 คน โดยภาพรวมพบว่า บุตรหลานของพวกเขาทั้งเคยถูกบูลลี่ และกำลังถูกบูลลี่มาจนถึงปัจจุบัน

47.7% ของผู้ปกครองที่มีบุตรอายุ 6-10 ปี 56.4% ของพ่อแม่ที่มีลูกอายุ 11-13 ปี 59.9% ของพ่อแม่ที่มีลูกอายุ 14-18 ปี และ 54.3% ของผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอายุ 19 ปีขึ้นไป ให้ข้อมูลตรงกันว่า ลูกหลานของพวกเขาล้วนถูกบูลลี่ ทั้งในโรงเรียนและโลกออนไลน์ เป็นผลให้ผู้ปกครองจำนวนมากทั้งในยุโรปและอเมริกาเริ่มตระหนักถึงประสบการณ์เชิงลบที่เข้าขั้นเลวร้ายของบุตรหลาน ที่เกิดจากการกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ตและการโจมตีทางออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ

...

1 ใน 5 ของการถูกบูลลี่ เกิดขึ้นผ่านเครือข่ายที่เรียกว่าโซเชียล มีเดีย...!

แม้ว่าผู้ปกครองส่วนหนึ่งจะให้ข้อมูลว่า มีการกลั่นแกล้งในโรงเรียน แต่ 19.2% ระบุว่าการกลั่นแกล้งเกิดขึ้นผ่านเว็บไซต์และแอปโซเชียลมีเดีย 11% ระบุว่าการกลั่นแกล้งเกิดขึ้นผ่านข้อความ ขณะที่ 7.9% ระบุว่ามีการกลั่นแกล้งผ่านวิดีโอเกม 6.8% รายงานว่ามีการกลั่นแกล้งบนเว็บไซต์ที่ไม่ใช่โซเชียลมีเดีย ขณะที่ 3.3% ระบุว่าการกลั่นแกล้งเกิดขึ้นทางอีเมล

พวกเขาทำอะไรหลังจากรู้ว่าบุตรหลานของตนถูกบูลลี่ Comparitech พบว่าผู้ปกครอง 59.4% พูดคุยกับบุตรหลานเกี่ยวกับความปลอดภัยทางอินเตอร์เน็ตและแนวทางปฏิบัติที่ปลอดภัยหลังจากเกิดการกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ต ผู้ปกครองอาจต้องดำเนินการให้มากขึ้นในการแทรกแซง มีเพียง 43.4% ที่ระบุว่า ปรับการควบคุมโดยผู้ปกครองเพื่อสกัดกั้นผู้กระทำความผิด 33% ใช้กฎใหม่สำหรับการใช้เทคโนโลยี และ 40.6% เท่านั้นที่บันทึกหลักฐานให้พนักงานสอบสวน

ผู้ปกครองน้อยมาก เพียง 34.9% เท่านั้น ที่แจ้งโรงเรียนของบุตรหลานเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ต และ 10.4% ที่เลือกนำเทคโนโลยีของบุตรหลานออกไปโดยสิ้นเชิง

การสำรวจครั้งนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจ คือ จากการสำรวจทั้งหมด 28 ประเทศ มี 2 ประเทศที่ให้ข้อมูลว่า ลูกหลานของพวกเขาไม่มีประสบการณ์การถูกกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ต หรือโจมตีทางไซเบอร์ คือ รัสเซีย และญี่ปุ่น

นอกจากผู้ปกครองแล้ว ในกลุ่มของวัยรุ่นเอง ก็พบว่าประสบปัญหาเรื่อง Cyberbullying ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จากการ ศึกษาของ Pew Research ในปี 2018 พบว่า วัยรุ่น 59% มีประสบการณ์การกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ตบางรูปแบบ ทั้งการล่วงละเมิดทางออนไลน์และการกลั่นแกล้งทางออนไลน์เกิดขึ้นในอัตราที่สูงเป็นพิเศษ

ประสบการณ์ของวัยรุ่นที่ถูกกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ตที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ การเรียกชื่อที่ไม่เหมาะสม 42% การแพร่กระจายของข่าวลือเท็จ 32% การรับภาพที่โจ่งแจ้งที่พวกเขาไม่ได้ขอ 25% การพยายามซักถามตลอดเวลาว่าพวกเขา เป็นใคร ทำอะไร และอยู่กับใครโดยคนอื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่ 21% ภัยคุกคามทางกายภาพ 16% การแชร์รูปภาพที่โจ่งแจ้งโดยไม่ได้รับความยินยอม 7%

สอดคล้องกับการสำรวจของ “ศูนย์วิจัยการกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ต” สหรัฐอเมริกา ในปี 2019 ที่พบว่า 36% ของเด็กอายุ 12-17 ปี ในสหรัฐอเมริกาถูกกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ต ในจำนวนนี้ 22% ของเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายข่าวลือทางออนไลน์ ซึ่งน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเมื่อประมาณปี 2009 เคยมีการสำรวจโดยสอบถามนักเรียนในโรงเรียนระดับกลางและสูง จำนวน 20,000 คน โดยมหาวิทยาลัยฟลอริดา แอตแลนติก พบว่า 70% ของนักเรียนตอบว่า เคยมีประสบการณ์ถูก Cyberbullying

...

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจาก Google เทรนด์ ที่แสดงความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ต โดยพบว่า ปริมาณการค้นหา “การกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ต” ทั่วโลกเพิ่มขึ้นสามเท่าตั้งแต่ปี 2547 มาแล้ว

การศึกษาจากองค์กรต่อต้านการกลั่นแกล้ง Ditch the Label ของสหราชอาณาจักรพบว่า 42% ของเยาวชนที่ถูกสำรวจ มีประสบการณ์การกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ตบน Instagram (PDF) เทียบกับ 37% บน Facebook และ 31% ใน Snapchat อาจจะน่าแปลกใจที่มีเพียง 9% เท่านั้นที่รายงานว่ามีประสบการณ์การกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ตบน Twitter

ความเลวร้ายของไซเบอร์ บูลลี่ คือ การทำให้เยาวชนมีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ศูนย์สถิติสุขภาพแห่งชาติ (NCHS) ซึ่งเผยแพร่ในเดือนเมษายนปี 2020 พบว่า การฆ่าตัวตายเป็น สาเหตุการเสียชีวิตอันดับสอง ของผู้อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกาที่มีอายุระหว่าง 10 ถึง 34 ปี แม้จะไม่ได้มีการระบุโดยตรงว่า การฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากไซเบอร์ บูลลี่ แต่ก็พบว่าอาจเป็นส่วนหนึ่งของสมการนี้ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี 2018 ที่คนหนุ่มสาวอายุต่ำกว่า 25 ปีที่ตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ตมี แนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตัวเองเป็น สองเท่า.