ระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง ประกอบด้วยอวัยวะที่สำคัญๆ ได้แก่ มดลูก และรังไข่ หากเกิดความผิดปกติกับสองอวัยวะนี้ ก็อาจส่งผลให้เกิดอันตรายและโรคอื่นๆ ตามมาได้ ซึ่งก่อนที่จะกล่าวถึง 5 สัญญาณความผิดปกติของมดลูกและรังไข่ เรามาทำความรู้จักกับอวัยวะเหล่านี้กันก่อน

“มดลูก” คืออะไร?

มดลูก เป็นอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีลักษณะคล้ายผลชมพู่ ตั้งอยู่ในอุ้งเชิงกราน อยู่ระหว่างกระเพาะปัสสาวะซึ่งอยู่ด้านหน้า และทวารหนักซึ่งอยู่ด้านหลัง มีส่วนที่ติดกับช่องคลอดที่เป็นปากมดลูก (Cervix)

หน้าที่ของมดลูก

• การมีประจำเดือน ที่เกิดจากการหลุดลอกของเยื่อบุมดลูก ภายหลังที่ไม่มีตัวอ่อนมาฝังตัว ซึ่งจะมีฝ่อสลายของเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้เลือดไหลออก หรือที่เรียกทั่วไปว่า การเป็นประจำเดือน

• เป็นที่ฝังของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว และพัฒนาเป็นตัวอ่อน จนกระทั่งเจริญเติบโตเป็นทารก

• การคลอด อันมาจากการครบกำหนดของการเติบโตของทารกในครรภ์ ขณะคลอดมดลูกจะมีการหดตัวเป็นระยะๆ เพื่อขับเคลื่อนให้ทารกออกผ่านมาถึงช่องคลอด

รังไข่

เป็นอวัยวะขนาดเล็ก สีขาวมัน มีรูปร่างคล้ายเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ขนาดเท่าเมล็ดมะปราง มี 2 อัน อยู่บริเวณปีกมดลูกซ้าย-ขวา ทั้งสองข้าง เชื่อมติดกับมดลูกด้วยปีกมดลูกหรือท่อนำไข่

หน้าที่ของรังไข่

- สร้างเซลล์สืบพันธุ์ ได้แก่ เซลล์ไข่ (Ovum)

- สร้างฮอร์โมนเพศ ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอร์โรน และแอนโดรเจน ซึ่งฮอร์โมนที่สำคัญมากสำหรับเพศหญิง คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ทำหน้าที่กระตุ้นให้ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง พร้อมรับกับการเจริญพันธุ์หรือการตั้งครรภ์ มีบุตรในอนาคต

...

จะเห็นได้ว่าทั้งมดลูกและรังไข่ ล้วนเป็นอวัยวะที่สำคัญของผู้หญิงทุกคน ดังนั้น หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น ก็อาจทำให้เกิดอันตรายต่อตัวคุณเองได้ในอนาคต ซึ่ง 5 สัญญาณความผิดปกติของมดลูกและรังไข่ มีดังนี้

• ภาวะเลือดออกผิดปกติ โดยทั่วไปผู้หญิงทุกคนจะมีเลือดออกทุกเดือน ซึ่งเรียกว่า

“ประจำเดือน” ซึ่งเกิดหลังจากที่มีการตกไข่ ทำให้มีการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกตามฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปในรอบเดือนนั้นๆ

ประจำเดือนที่ออกมาในแต่ละเดือนจะมีปริมาณไม่เกิน 80 ซีซีต่อรอบเดือน ซึ่งผ้าอนามัย 1 ชิ้น จะซับเลือดได้ประมาณ 5-10 ซีซี ในแต่ละเดือนไม่ควรใช้ผ้าอนามัยเกิน 1 ห่อ (ประมาณ 16-20 ชิ้น) ระยะเวลาของการมีประจำเดือนประมาณ 2-7 วัน และระยะห่างของการมีประจำเดือน 28 วัน บวก-ลบไม่เกิน 7 วัน หากนอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ไม่นับว่าเป็นประจำเดือน และอาจจะเป็นสัญญาณเตือนของการมีภาวะเลือดออกผิดปกติแล้ว

“ภาวะเลือดออกผิดปกติ” อาจเป็นสัญญาณเตือนความผิดปกติของปากมดลูก การมีติ่งเนื้อที่ปากมดลูก เนื้องอกในมดลูก หรือในกรณีที่ร้ายแรงคือ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก หรือเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ นอกจากนี้หากยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ การมีเลือดออกผิดปกติ ก็อาจเกิดจากการตั้งครรภ์ผิดปกติ การแท้งคุกคาม และการท้องนอกมดลูกก็เป็นได้

• ตกขาว เป็นอีกหนึ่งภาวะที่สร้างความกังวลใจให้สาวๆ ทั้งโสดและไม่โสด โดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ตกขาวที่เกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และตกขาวที่เกิดจากโรคไม่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การตกขาวที่เกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ โรคหนองในแท้ หนองในเทียม ส่งผลให้มีอาการแสบคันในช่องคลอด ตกขาวมีกลิ่นเหม็น มีไข้ ปวดท้องน้อย ที่สำคัญอาจพบร่วมกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้

ส่วนการตกขาวที่ไม่ได้เกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ก็อาจจะเกิดจากเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียชนิด Lactobacilli ในช่องคลอดเสียสมดุลจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมกับ ได้แก่ การใช้สบู่ที่แรงเกินไป การใช้น้ำยาสวนล้างช่องคลอด เป็นต้น

ที่สำคัญหากเป็นตกขาวแล้วไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ก็จะส่งผลให้มีความเสี่ยงมีบุตรยากในอนาคต เนื่องจากตัวเชื้อจะลามจากการติดเชื้อช่องคลอดขึ้นไปที่โพรงมดลูก ท่อนำรังไข่ หรืออาจจะส่งผลให้เกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ โพรงมดลูกหรือรังไข่เป็นหนอง ทำให้ท่อนำไข่มีพังผืดหรืออุดตันได้

• ปวดประจำเดือน อาการปวดประจำเดือนเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน ส่วนมากจะปวดประมาณ 1-2 วัน และเป็นการปวดชนิดที่พอทนได้หรือพอรำคาญ แต่ถ้าใครที่ปวดจนต้องกินยาแก้ปวดในปริมาณมาก ไม่สามารถทำงาน และรบกวนชีวิตประจำวัน ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคบางอย่าง ซึ่งโรคที่พบบ่อยที่สุดคือ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) หรือที่เรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst)

...

• ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ โดยปกติแล้ว ผู้หญิงจะมีประจำเดือน เดือนละ 1 ครั้ง แต่ถ้าประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น มาบ้าง ไม่มาบ้าง 2 เดือนมาครั้ง 3 เดือนมาครั้ง ก็อาจมีโรคที่ซ่อนอยู่ได้ เช่น ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) พบได้ประมาณร้อยละ 10 ทำให้ฮอร์โมนเพศเสียสมดุล กล่าวคือ ทำให้สัดส่วนฮอร์โมนเพศชายมากกว่าเพศหญิง และหากไม่ได้ไปพบแพทย์ ก็อาจส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในอนาคต หรือเป็นสัญญาณเตือนของความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนที่ควบคุมการสร้างน้ำนม (prolactin)

• รู้สึกเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ เกิดจากการที่ช่องคลอดเกิดการอักเสบ ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง อาทิ เกิดจากความสัมพันธ์ของคู่สมรส เพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม ภาวะพังผืดในอุ้งเชิงกรานทั้งจากการผ่าตัดในอดีตหรือภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ และภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบติดเชื้อ

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คงพอจะทำให้เห็นภาพความผิดปกติของมดลูกและรังไข่กันพอสมควร ดังนั้นหากใครที่มีอาการต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นอย่านิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบสูตินรีแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและรักษาโดยด่วน 

----------------------------------------------------------

แหล่งข้อมูล

ผศ. พญ.อรวิน วัลลิภากร สาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล