นอกจาก “โรคต้อกระจก” ซึ่งเป็นโรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ดังที่ได้กล่าวไปในบทความเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังมีโรคตาในผู้สูงอายุที่พบบ่อยอีก ดังนี้
โรคตาแห้ง
โรคตาแห้ง เป็นโรคของผิวหน้าดวงตาชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย โดยลักษณะสำคัญของโรคตาแห้ง คือ การสูญเสียสภาวะสมดุลของน้ำตา ควบคู่กับการมีอาการทางตา ได้แก่ ความไม่สบายตาต่างๆ และการมองเห็นที่ผิดปกติไป
สาเหตุ
สาเหตุของการเกิดโรคตาแห้งแบ่งออกได้เป็นจาก 2 ปัจจัย คือ
- ปัจจัยภายใน ได้แก่
• อายุที่มากขึ้น ซึ่งทำให้ต่อมน้ำตาทำงานลดลง มีผลให้ตาแห้ง
• เชื้อชาติ พบว่าในคนเอเชียมีความชุกของโรคตาแห้งมากกว่าคนผิวขาว
• โรคประจำตัวทางกายบางชนิด ได้แก่ โรคภูมิคุ้มกันไวเกิน โรคโจเกรน โรคเอสแอลอี และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น
• โรคทางตาบางชนิด ได้แก่ โรคเปลือกตาอักเสบ และโรคภูมิแพ้ที่ตา เป็นต้น
- ปัจจัยภายนอก ได้แก่
• การใช้ยาบางประเภท ทั้งในรูปแบบยารับประทาน หรือยาหยอดตา
• การผ่าตัดทั้งภายในและภายนอกดวงตา ได้แก่ การผ่าตัดแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์ การผ่าตัดต้อกระจก และการผ่าตัดหนังตา เป็นต้น
• การปลูกถ่ายไขกระดูก
• การใช้สายตากับเครื่องมือดิจิตอล ได้แก่ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์
• การใส่คอนแทคเลนส์
...
อาการ
อาการของโรคตาแห้งมีหลากหลาย ตั้งแต่อาการแสบตา ขัดเคืองตา เหมือนมีฝุ่นในตา รู้สึกว่าตาแห้ง ลืมตาไม่ค่อยขึ้น สู้แสงไม่ได้ น้ำตาไหล หรือเมื่อยล้าดวงตา ซึ่งอาการต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นอาจมีความคล้ายคลึงกับอาการของโรคผิวหน้าดวงตาอื่นๆ แต่สิ่งที่ช่วยสนับสนุนว่าอาการเหล่านี้เป็นอาการของโรคตาแห้งคือ อาการดังกล่าวนี้จะเป็นมากขึ้นเมื่อต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นต่ำ หรือเมื่อต้องใช้สายตาเป็นระยะเวลายาวนาน
การรักษา
การรักษาโรคตาแห้งนั้นควรแก้ไขที่สาเหตุของโรคก่อน ร่วมกับการรักษาอาการของโรค และการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของโรค แต่หากไม่สามารถแก้ไขที่สาเหตุของโรคได้ จำเป็นต้องรักษาที่ตัวโรคตาแห้งอย่างเดียว
โดยในเบื้องต้นสามารถรักษาโรคตาแห้งด้วยการใช้น้ำตาเทียม เพื่อช่วยให้ตามีความชุ่มชื้นขึ้น นอกจากนี้อาจใช้ยากระตุ้นการสร้างน้ำตา เพื่อช่วยให้ต่อมน้ำตาสร้างน้ำตาออกมาได้ดีขึ้น ส่วนในรายที่เป็นรุนแรง อาจต้องรับการอุดท่อทางออกของน้ำตา หรือการผ่าตัดอื่นๆ เพิ่มเติม
การปรับสภาพแวดล้อมในที่อยู่อาศัย หรือที่ทำงาน อาจช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
ใช้สายตาให้ถูกวิธี องค์การอนามัยโลกแนะนำสูตรในการถนอมดวงตาคือ สูตร 20 : 20 : 20 กล่าวคือ ใช้สายตา 20 นาที พัก 20 วินาที โดยการมองไปที่ไกลๆ ประมาณ 20 ฟุต และควรกะพริบตาบ่อยๆ เพื่อไม่ให้น้ำตาระเหยจากผิวหน้าดวงตามากเกินไป
• จัดคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตาที่พอดี ไม่ต้องก้ม หรือแหงนหน้ามองจอคอมพิวเตอร์
• หลีกเลี่ยงการหันเครื่องปรับอากาศ หรือพัดลมเข้าสู่ใบหน้าโดยตรง
• การปรับความชื้นในสภาพแวดล้อมที่ทำงานและที่บ้าน
• การใส่แว่นป้องกันดวงตา เพื่อช่วยลดการปะทะของดวงตากับอากาศที่แห้งๆ
ยังมีโรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุที่น่าสนใจอีก ติดตามในสัปดาห์หน้านะคะ
-------------------------------------------------
แหล่งข้อมูล
รศ. พญ.เกวลิน เลขานนท์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล