ไม่น่าเชื่อว่าอยู่ดีๆ โรคติดต่ออย่าง "ซิฟิลิส" จะกลับมาระบาดอีกครั้งในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น วัยเรียน ที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน จนทำให้ปี 2561-2562 มีอัตราผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าตกใจ! สถานการณ์มาแบบนี้แล้ว "ผู้หญิง" ที่มีคู่ มีแฟน คงต้องระมัดระวังตัวเองให้ดี และต้องอย่าลืมป้องกันทุกครั้ง
Thairath Women จะชวนสาวๆ มารู้ลึกเกี่ยวกับโรค "ซิฟิลิส" ให้มากขึ้น รวมถึงวิธีป้องกัน วิธีหลีกเลี่ยงโรคซิฟิลิส และวิธีรักษาโรคซิฟิลิสที่ถูกต้อง ต้องทำยังไงบ้าง? มาดูค่ะ
โรคซิฟิลิส คืออะไร?
ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า "ทริปโปนีมา พัลลิดุม" ซึ่งเป็นเชื้อที่มีขนาดเล็กมาก สามารถอาศัยอยู่ได้เกือบทุกส่วนในร่างกาย ซิฟิลิสเคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ทุกคนกลัว แต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการฉีดยา หรือรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง
แต่เนื่องจากผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการของโรคออกมาอย่างเด่นชัด จนกระทั่งระยะท้ายๆ จึงจะแสดงอาการ นี่ก็เลยเป็นสาเหตุทำให้ผู้ที่ติดเชื้อมักไม่รู้ตัวและไม่แสดงอาการ รวมทั้งกลายเป็นพาหะของโรคไปโดยไม่ตั้งใจ
...
"ซิฟิลิส" อาการเป็นยังไง?
นายแพทย์วัชระ พุ่มประดิษฐ์ ที่ปรึกษามูลนิธิแพธทูเฮลท์ ประเทศไทย อธิบายอาการของโรคนี้ว่า ผู้ที่ติดเชื้อในระยะแรก จะเริ่มมีแผลบริเวณช่องคลอด ทวารหนัก องคชาต หรือปาก ถ้าติดเชื้อในระยะที่สอง เชื้อจะลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดและต่อมน้ำเหลือง ทำให้มีผื่นขึ้นตามตัว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า (ไม่มีอาการคัน) อาจมีไข้ อ่อนเพลีย ผมร่วง และถ้าติดเชื้อลุกลามถึงระยะที่สาม ผู้ป่วยรู้สึกตัวชา และตาค่อยๆ เริ่มบอด
How to ป้องกัน "ซิฟิลิส" ทำยังไง?
1. ตรวจสุขภาพ ตรวจเลือดประจำปี
นายแพทย์วัชระ แนะนำว่า วิธีที่ดีสุดในการป้องกัน "โรคซิฟิลิส" คือ "การตรวจสุขภาพ" ไม่ว่าจะเสี่ยงหรือไม่เสี่ยงก็ตาม หากมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัยให้ตรวจเลือดทุกเดือน แต่หากมีเพศสัมพันธ์แบบไม่เปลี่ยนคู่นอนให้ตรวจเลือดทุก 6 เดือนถึง 1 ปีอย่างต่อเนื่อง หากทิ้งไว้อาการจะลุกลามทั่วร่างกาย ทำให้เดินขาถ่าง อั้นปัสสาวะ-อุจจาระไม่ได้ หูหนวก ตาบอด ซึ่งส่งผลเสียต่ออวัยวะสำคัญและอาจเสียชีวิตในที่สุด
2. ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง
ไม่ใช่แค่ผู้ชายเท่านั้นที่ควรพกถุงยางอนามัย แต่ "ผู้หญิง" อย่างเราๆ ก็ควรพกติดตัวไว้เช่นกัน ไม่ใช่เรื่องน่าอาย เพราะหากคุณจำเป็นต้องใช้ขึ้นมาจริงๆ มีไว้ใกล้ตัวก็หยิบมาใช้ได้สะดวกมากกว่า ดีกว่าเสี่ยงไม่มีใช้ เสี่ยงทำให้คุณไม่ได้ป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์ จนเป็นสาเหตุให้คุณติด "โรคซิฟิลิส" เอาเป็นว่า...กันไว้ดีกว่าแก้จะดีกว่า
...
3. งดออรัลเซ็กซ์ (oral sex)
เนื่องจากเชื้อแบคทีเรีย "ทริปโปนีมา พัลลิดุม" ที่เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคซิฟิลิส สามารถแพร่กระจายและอาศัยอยู่ได้ทุกส่วนในร่างกายของคุณ ไม่ว่าจะเป็นทางอวัยวะเพศหรือทางปาก เมื่อมีเพศสัมพันธ์โดยการสวมถุงยางแล้ว อีกหนึ่งข้อควรระวังเลยก็คือ ไม่ควรทำออรัลเซ็กซ์ เพราะทำให้ติดเชื้อผ่านทางช่องปากได้
4. ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
การเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ ถือเป็นการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัย เสี่ยงต่อการจะไปเจอคู่นอนที่เป็นพาหะของโรคซิฟิลิส เสี่ยงที่คุณจะติดเชื้อมาได้ง่ายกว่าคนที่ไม่เปลี่ยนคู่นอน
5. มีอาการผิดปกติ ให้รีบพบแพทย์
ถ้าคุณเผลอลืมป้องกัน หรือมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัย ต้องหมั่นสังเกตอาการของตัวเอง เช่น มีแผล บวม หรือตุ่มพองที่บริเวณอวัยวะเพศ ช่องทวารหนัก หรือที่ปาก มีอาการแสบ เจ็บเมื่อปัสสาวะ หรือมีหนองไหลจากอวัยวะเพศหรือทวารหนัก คัน เจ็บ ฯลฯ อาการเหล่านี้อาจจะเป็นสัญญาณของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันที ไม่ควรซื้อยากินเอง และอย่าปล่อยทิ้งไว้นาน เพราะเชื้อโรคอาจลุกลามไปยังระยะที่ 2 หรือ 3 จนอาจทำให้เสียชีวิตได้
...
ติดตามอ่านเรื่องราวที่น่าสนใจและความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ "ผู้หญิง" ได้ที่นี่ ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ :
ที่มา : thaihealth, แพทยศาสตร์ ม.มหิดล