อีกหนึ่งวิธี "ลดน้ำหนัก" ที่หนุ่มสาวสายเฮลตี้ในต่างประเทศกำลังฮิตหนักมาก นั่นคือการลดน้ำหนักแบบ "One Meal A Day" หรือ "OMAD" เป็นการกินอาหารเพียงมื้อเดียวต่อวัน เพื่อช่วยให้น้ำหนักลดลงฮวบฮาบเร็วดั่งใจ แต่ก็มีคนออกมาโต้ว่า วิธีนี้มันไม่ดีต่อสุขภาพ แล้วแบบนี้...มันดีจริงหรือเปล่า?

Thairath Women ชวนมาหาคำตอบพร้อมกันว่าการ "ลดน้ำหนัก" แบบ One Meal A Day มันคืออะไร? มีวิธีการปฏิบัติตัวยังไงให้ได้ผล? และมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง?

"One Meal A Day" หรือ "OMAD" คืออะไร?

วิธีลดน้ำหนักแบบ One Meal A Day หรือการกินเพียงมื้อเดียวต่อวัน ว่ากันว่าวิธีนี้ช่วย "ลดน้ำหนัก" ได้ด้วยการอดอาหาร หลักการคือให้กินอาหารแค่วันละ 1 มื้อ โดยทั่วไปให้กินเป็นมื้อเย็น และไม่โหลดแคลอรีอื่นๆ เข้าไประหว่างวัน (งดกินนั่นแหละ)

จะว่าไปแล้ว...การลดน้ำหนักแบบนี้ก็คือหนึ่งประเภทของการลดน้ำหนักแบบ I.F. (การแบ่งเวลาอดอาหาร และแบ่งเวลากินอาหาร 18:6 เพื่อลดน้ำหนัก) ที่หลายๆ คนรู้จักกันดี เพียงแต่วิธีการของ One Meal A Day จะโหดกว่า คือ ให้กินแบบ 23:1 หมายความว่าให้งดอาหาร 23 ชั่วโมง แน่นอนว่ารวมเวลานอนหลับด้วย และให้มีเวลากินได้เพียง 1 ชั่วโมง! โอ้ว...มายกอต

คือโดยระหว่างวัน จะไม่กินหรือดื่มอะไรที่มีแคลอรีเข้าไปในร่างกายเลย ยกเว้น "น้ำเปล่า" ไม่มีแคลอรี ที่ดื่มได้ และเนื่องจากเป็นการลดน้ำหนักที่โหด...ถึงโหดมาก จึงไม่ใช่ทุกคน ที่จะลดน้ำหนักแบบนี้ได้ เพราะอาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพร่างกายมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ

...

OMAD "ลดน้ำหนัก" ได้แค่ไหน?

มีบทความต่างประเทศที่บอกเล่าและรีวิวเกี่ยวกับการ "ลดน้ำหนัก" ด้วยวิธี One Meal A Day แบบนี้ ซึ่งพบว่า...มันสามารถช่วยให้ลดน้ำหนักได้ดีเป็นที่น่าพอใจ

ยกตัวอย่าง สาวบิ๊กไซส์คนหนึ่งชื่อ Jennifer Still เธอเคยลดน้ำหนักด้วยการกิน Keto มาก่อน ทำบ้างหยุดบ้างมานานถึง 4 ปี แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ตั้งใจไว้ เธอเลยตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้วิธีการกินแบบ OMAD ในเดือนมิถุนายนปี 2018 ทำต่อเนื่องมา 7-8 เดือน บวกกับการออกกำลังกาย ผลปรากฏว่าเธอสามารถลดน้ำหนักลงไปได้ถึง 120 ปอนด์ หรือประมาณ 50 กิโลกรัม OMG!!

How to OMAD กินยังไงดี?

1. เลือกกินซุปเปอร์ฟู้ด

แม้ว่าวิธีนี้คุณจะสามารถกินอะไรก็ได้ กินเท่าไหร่ก็ได้จนกว่าจะครบ 1 ชั่วโมง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไปกินพิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ หรือดื่มเบียร์ทุกวันนะจ๊ะ ทางที่ดีควรเลือกอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารจำเป็นต่อร่างกาย กินให้ได้พลังงานที่ร่างกายต้องการต่อวัน

ส่วนอาหารให้เน้นเป็นเมนูแคลต่ำ โปรตีนสูง เพิ่มผัก ผลไม้ และธัญพืชซุปเปอร์ฟู้ดต่างๆ เช่น ข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่ ควินัว เมล็ดเชีย เมล็ดแฟล็กซ์ ฯลฯ งดของหวานจัด เค็มจัด งดแอลกอฮอล์  

2. กินให้หลากหลาย

เนื่องจากคุณกินได้แค่มื้อเดียว ดังนั้นควรจัดอาหารให้สมดุลระหว่างโปรตีน คาร์โบไฮเดรต (เน้นแบบเชิงซ้อน) และไขมัน พยายามสรรหาเมนูอาหารให้หลากหลายเข้าไว้ เพื่อที่ร่างกายจะได้รับสารอาหารครบถ้วนสมบูรณ์

3. เลือกกินไขมันดี

เนื่องจากคุณเลือกกินอะไรก็ได้ รวมถึงอาหารที่มีไขมัน แต่อย่างน้อยก็ควรเลือกกินไขมันชนิดดี (HDL) ให้มากๆ เข้าไว้ เพื่อใช้เป็นพลังงานระหว่างวัน แถมยังดีต่อสุขภาพ เพราะช่วยขจัดไขมันเลว (LDL) อกจากร่างกายได้ด้วย

4. งดขนมขบเคี้ยว

อีกหนึ่งอย่างที่ควรระวัง หากคุณตั้งใจจะลดน้ำหนักแบบ One Meal A Day นั่นคือเรื่อง "ขนมขบเคี้ยว" ระหว่างวัน ต้องงดให้ได้ เพราะมันมีทั้งไขมันสูง โซเดียมสูง กินเข้าไปมันอิ่มก็จริง แต่มันไม่มีคุณค่าสารอาหาร อย่าลืมว่า...คุณกินได้แค่มื้อเดียวต่อวัน แล้วจะเสียพื้นที่ในกระเพาะอาหารให้ขนมพวกนี้จริงเหรอ? คิดผิดคิดใหม่นะจ๊ะ

...

5. ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ

วิธีการ "ลดน้ำหนัก" แบบนี้ คุณยังคงสามารถออกกำลังกายได้ เพื่อกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญในร่างกาย ให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่ไม่ควรหักโหมมากเกินไป เนื่องจากการกินแค่มื้อเดียว จะทำให้คุณอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายกว่าปกติ แนะนำให้วิ่งบนลู่, วิ่งจ๊อกกิ้งในสวน, เต้นแอโรบิกเบาๆ แค่ 20-30 นาทีก็พอ 

ข้อดี VS ข้อเสีย OMAD

แต่เอาจริงๆ นะ มีนักโภชนาการและเหล่าเทรนเนอร์ออกมาเตือนเหมือนกันว่า การ "ลดน้ำหนัก" แบบ One Meal A Day ก็มีข้อเสียเหมือนกัน และไม่ได้เหมาะกับร่างกายของทุกคน ที่สำคัญ...มันเสี่ยงมากๆ ที่คุณจะเลือกกินของอร่อยแต่ไม่มีประโยชน์ มากกว่าอาหารที่มีประโยชน์แต่ไม่อร่อย เพราะการกินได้แค่มื้อเดียว เราก็มักจะตามใจปาก และนั่นจะทำให้คุณ "ลดน้ำหนัก" ไม่สำเร็จ!

ข้อดี

- "ลดน้ำหนัก" ได้รวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น

...

- ทำง่าย ไม่ต้องนับแคลอรี

- กินได้เยอะ กินได้เรื่อยๆ จนกว่าจะครบเวลา

- ไม่ต้องมี Cheat Day เพราะกินอาหารอะไรก็ได้ตามใจ (แต่ควรเลือกที่มีคุณค่าโภชนาการสูง)

- ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และดีต่อคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานประเภท 2

- ช่วยให้การย่อยทำงานได้ดีขึ้น ช่วยเรื่องการนอนหลับ ทำให้อายุยืน

- ดีต่อหัวใจและช่วยเรื่องความทรงจำ

ข้อเสีย

- อดอาหารแบบ 23:1 โหดเกินไป (มีนักโภชนาการแนะนำว่าจริงๆ แล้วให้ทำแค่ 18:6 ก็ได้ผลแล้ว)

- ตบะแตกง่าย เสี่ยงต่อการ "ลดน้ำหนัก" ไม่สำเร็จ

- เป็นโรคกระเพาะ 

- หิวมากจนหงุดหงิด

- ร่างกายอ่อนแอ เพลีย

- ไม่มีสมาธิทำงาน

- เหนื่อยง่าย เมื่อยล้าง่าย

- ไม่เหมาะกับคนที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เพราะคนที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จำเป็นต้องรับประทานอาหารเป็นประจำตลอดทั้งวัน เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่ร้ายแรง

- งานวิจัยบางชิ้นระบุว่า สำหรับบางคนที่ "ลดน้ำหนัก" ด้วยการอดอาหารเป็นพักๆ (ทั้งแบบ I.F. และ OMAD) พบว่า...น้ำหนักตัวไม่ได้ลดลงไปมากกว่าคนที่ "ลดน้ำหนัก" ด้วยการนับแคลอรีอาหารต่อวันเลย (อาจจะลดได้พอๆ กันนั่นแหละ)

...

เอาเป็นว่าคุณจะเลือก "ลดน้ำหนัก" แบบไหนก็สุดแท้แต่ความชอบและความสบายใจ ขอแค่ให้ลดน้ำหนักพร้อมกับการได้มาซึ่ง "สุขภาพดี" ก็พอ

ติดตามอ่านเรื่องราวที่น่าสนใจและความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ "ผู้หญิง" ได้ที่นี่ ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐ.

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ :


ที่มา : medicalnewstodayhealthlineinsiderhealth