อาการ "ภูมิแพ้" จากขน "แมว" เป็นอาการที่คนรักสัตว์ ไม่ปลื้มเป็นที่สุด! ก็อยากเลี้ยง "แมว" อยากเล่นกับ "แมว" ทำไมต้องมีอาการป่วยเหล่านี้ด้วย? แล้วมีวิธีรักษาหรือบรรเทา "ภูมิแพ้" จากขนแมวหรือเปล่า? มาหาคำตอบกัน...
ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐ ชวนสาวๆ มารู้จักกับอาการ "ภูมิแพ้" ที่เกิดจากขน "แมว" เป็นหลัก ที่มักจะมีอาการที่เฉพาะเจาะจงจนสังเกตได้ รวมถึงวิธีบำบัดและบรรเทาอาการ "ภูมิแพ้ขนแมว" ให้ดีขึ้น
อาการ "ภูมิแพ้" ขนแมว
อาการแพ้ขนสัตว์มีได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่อาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล จามบ่อย หรือรุนแรงถึงขั้นหายใจไม่ออก หลอดลมตีบ และมีอาการหอบ, อาการทางผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสโดยตรง เช่น เกิดผื่นแดง มีอาการคัน หรือเกิดผื่นลมพิษ, อาการทางดวงตา เช่น อาการระคายเคืองตา ตาแดง คันตา น้ำตาไหล และมีอาการตาบวมอย่างเห็นได้ชัด
วิธีสังเกต "ภูมิแพ้ขนแมว"
หากคุณอยู่ใกล้สัตว์เลี้ยงอย่าง แมว สุนัข หรือสัตว์ชนิดอื่นๆ แล้วมีอาการดังกล่าวข้างต้น ให้ลองอยู่ห่างจากสัตว์ชนิดนั้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วสังเกตว่าอาการดีขึ้นหรือไม่ หากอาการดีขึ้น หรืออยู่ใกล้สัตว์เลี้ยงชนิดนั้นแล้วมีอาการกลับมาอีก ก็สันนิษฐานได้เลยว่าคุณอาจเป็นโรคภูมิแพ้ขนสัตว์
...
แต่ก็ควรไปทดสอบอาการแพ้เพิ่มเติมที่โรงพยาบาลด้วย เพื่อคอนเฟิร์มว่าคุณเป็นโรคภูมิแพ้จากขนสัตว์แน่ๆ คุณจะได้สามารถควบคุม หรือหลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ได้
วิธีทดสอบ "ภูมิแพ้ขนแมว"
การทดสอบภูมิแพ้ขนสัตว์ทำได้เช่นเดียวกับการทดสอบโรคภูมิแพ้อื่นๆ แพทย์จะใช้การทดสอบที่เรียกว่า "การตรวจภูมิแพ้ทางผิวหนัง" (Skin-prick test) โดยนำสารภูมิแพ้จากสัตว์ หรือสารก่อภูมิแพ้ที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นตัวการ มาหยดลงบนผิวหนัง และใช้เข็มขนาดเล็กที่ปราศจากเชื้อสะกิดผิวหนังบริเวณที่หยดของเหลว เพื่อให้ของเหลวนั้นซึมเข้าสู่ผิวหนัง หลังจากนั้นจะสังเกตดูว่าผิวหนังบวม แดง หรือมีสัญญาณของอาการแพ้อื่นๆ เกิดขึ้นหรือไม่ อาการแพ้จะเกิดขึ้นภายใน 15-20 นาที
วิธีรักษา "ภูมิแพ้ขนแมว"
ปัจจุบันนี้ยังไม่มีการรักษาใดที่ช่วยรักษาโรคภูมิแพ้ให้หายขาดได้ วิธีที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ และรับการรักษาตามอาการของภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้จะช่วยแนะนำว่าการรักษาใดเหมาะสมสำหรับคุณที่สุด โดยทั่วไปใช้วิธีบรรเทาและรักษา 3 วิธี คือ
1. ใช้ยาพ่นสเตียรอยด์
หากผู้ป่วยมีอาการ "ภูมิแพ้" จากขนแมว โดยมีอาการทางจมูก เช่น จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล หายใจลำบาก หลอดลมตีบ อาการหอบ ฯลฯ แพทย์มักรักษาด้วยยาสเตียรอยด์แบบพ่นจมูก ยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน และยาชนิดรับประทานอื่นๆ
2. ยาหยอดแก้แพ้
ส่วนผู้ป่วย "ภูมิแพ้" คนไหนที่มีอาการแพ้ทางดวงตา แพทย์จะรักษาด้วยยาแก้แพ้ชนิดหยอดตา
3. ภูมิคุ้มกันบำบัด
นอกจากนี้ มีการรักษาอีกวิธีที่ช่วยป้องกัน "ภูมิแพ้" ได้ในระยะยาวและเห็นผลดี คือ การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ทำโดยการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกายทีละน้อย และค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ ได้ด้วยตัวเอง
เอาล่ะค่ะ...พอทราบวิธีบำบัดและรักษาอาการ "ภูมิแพ้" แบบนี้แล้ว คุณคงเบาใจไปได้บ้าง แม้จะรักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่อย่างน้อยอาการเหล่านี้ก็บรรเทาลงได้ และควรหาวิธีป้องกัน "ขนแมว" ควบคู่ไปด้วย ก็น่าจะช่วยได้อีกทางนะคะ
...
ติดตามเรื่องราว "สุขภาพ" ดีๆ สำหรับผู้หญิงกันต่อได้ที่นี่ : เจาะวิธีป้องกัน "ภูมิแพ้" จากขน "แมว" และ Thairathwomen
ที่มา : siph ศิริราช, honestdocs