ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่า เรื่องราวในนิยายไซไฟอย่างการแช่แข็งมนุษย์ หรือที่เรียกว่า ไครโอนิกส์ (Cryonics) จะกลายมาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ ในยุคนี้ แถมยังกลายเป็นธุรกิจที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากบุคคลชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรชื่อดังของ CNN อย่าง ลาร์รีย์ คิง, ปารีส ฮิลตัน, บริทนีย์ สเปียร์ และ ไซมอน โคเวลล์ ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า พร้อมจะแช่แข็งตัวเองเมื่อถึงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับความตายจริงๆ

2 ปีก่อน การเสียชีวิตของแชมป์และตำนานมวยโลกชื่อดังอย่าง มูฮัมหมัด อาลี ก็เป็นหนึ่งในลูกค้าของเทคโนโลยีไครโอนิกส์ ที่ได้รับการแช่แข็งหลังจากที่เสียชีวิต

แม้จะไม่มีคำยืนยันทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนของการฟื้นคืนชีพภายหลังการแช่แข็ง ซึ่งอาจเป็นในอีก 20-200 ปีข้างหน้า แต่เชื่อว่าแรงบันดาลใจของเรื่องนี้น่าจะมาจากหนังสือที่ชื่อ The Prospect of Immortality ของ Robert Ettinger ครูคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ชาวอเมริกัน ที่เสนอแนวคิดการมีชีวิตอมตะของมนุษย์ด้วยการแช่แข็งร่างกายไว้ที่อุณหภูมิต่ำมากๆถึงขั้นติดลบ เพื่อคงสภาพเซลล์ของร่างกายเอาไว้

...

James Bedford คือ มนุษย์คนแรกที่ถูกแช่แข็ง เขาป่วยเป็นมะเร็งไตและลุกลามไปที่ปอด เจมส์ บอกกับทุกคนก่อนตายว่า เขาต้องการแช่แข็งตัวเองไว้ เผื่อว่าสักวันหนึ่งจะมีวิธีการคืนชีพและรักษามะเร็งของเขาได้

เบดฟอร์ด เสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 มกราคม ปี 1962 ซึ่งกลายมาเป็นวันสำคัญของการแช่แข็งมนุษย์ ที่เรียกว่า Bedford Day เพื่อรอการฟื้นคืนชีพ

ไครโอนิกส์ (Cryonics) หรือการแช่แข็งร่างกาย โดยหลักการก็คือ การรอให้มนุษย์เข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า “ตายในทางการแพทย์” หรือหัวใจหยุดเต้นเสียก่อน ซึ่งหลังจากที่หัวใจหยุดเต้น ร่างกายจะมีเวลาสักพักก่อนที่สมองและอวัยวะภายในจะล้มเหลว บรรดา ไครโอนิกส์ ทีม ก็จะเข้าไปย้าย ผู้ป่วย เรายังเรียกร่างกายของผู้ที่จะเข้าสู่กระบวนการไครโอนิกส์ ว่า ผู้ป่วย ไม่ใช่ ผู้ตาย ซึ่งต้องทำในระยะเวลาที่เร็วที่สุด โดยในระหว่างการเคลื่อนย้ายอาจมีการสูบฉีดเลือดเข้าไปหล่อเลี้ยงอวัยวะภายใน และฉีดยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยด้วย

เมื่อมาถึงยังสถานที่ที่จะทำการแช่แข็ง ผู้ป่วยจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการที่เรียกว่า ทำให้เป็นแก้ว หรือ Vitrification คือการเปลี่ยนเอาสารเคมีเข้าไปแทนเลือดและน้ำในเซลล์ ซึ่งจะทำให้เมื่อทำการแช่แข็งแล้วร่างกายและเซลล์จะกลายเป็นแก้ว ทำให้ไม่เกิดความเสียหายต่อเซลล์ หลังจากนั้นก็เข้าสู่การแช่แข็งที่ความเย็นระดับติดลบมากกว่า-100 องศาเซลเซียส โดยใช้ไนโตรเจนเหลวและเมื่อร่างกายและเซลล์แข็งเป็นแก้วไปแล้ว การเก็บรักษาผู้ป่วยก็จะเก็บไว้ในแคปซูลหรือห้องเย็นขนาดใหญ่ หลังจากนั้นก็ทำการเก็บรักษาโดยเติมไนโตรเจนเหลวในห้องเพื่อรักษาอุณหภูมิ รอความหวังที่จะฟื้นคืนชีพได้จริงๆเท่านั้น

ยิ่งล่าสุดมีเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า ดีเซลลูไลซ์เซชั่น (decelluarization) หรือการลบล้างเซลล์ในอวัยวะเพื่อให้เกิดอวัยวะเปล่าเพื่อจะใส่เซลล์ใหม่เข้าไป ความหวังในการฟื้นคืนชีพ... ก็ดูเหมือนจะใกล้เป็นจริงมากขึ้น

ปัจจุบันบริษัท Cryonics ซึ่งตั้งอยู่ ณ รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นบริษัทพัฒนาและนำเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้จริงในเชิงพาณิชย์ ที่นอกจากจะเก็บรักษาร่างกายของผู้ที่เสียชีวิตแล้ว บริษัทยังให้บริการแก่ผู้ป่วยที่มีความเจ็บป่วยจากโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ โดยผู้ป่วยสามารถเลือกที่จะแช่แข็งตนเองและถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งเมื่อวิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามากพอที่จะรักษาโรคร้ายนั้นได้ โดยอ้างว่า “การเสียชีวิต” เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการรักษาไม่ใช่จุดจบของชีวิตราคาสำหรับการแช่แข็งร่างกายด้วยเทคโนโลยี Cryonics ในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันอยู่ที่ 200,000 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับการแช่แข็งทั้งร่าง และ 80,000 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับการแช่เฉพาะสมอง

...

ขณะที่บริษัทที่ทำธุรกิจเดียวกันอย่าง KrioRus ในรัสเซีย ประกาศตัดราคาการแช่แข็งมนุษย์ที่ถูกกว่าเกินครึ่ง โดยเสนอราคาแช่แข็งทั้งตัวอยู่ที่ 36,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.2 ล้านบาท และ 12,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 4 แสนบาท สำหรับการแช่แข็งแค่หัว และยังมีแผนที่จะขยายกิจการไปให้ทั่วภาคพื้นทวีปยุโรปเนื่องจากบริการนี้ยังเป็นสิ่งที่หายากในยุโรปด้วย

แม้จะมีการดำเนินการอย่างแพร่หลายไปพอสมควรสำหรับการทำไครโอนิกส์ แต่ในทางจริยธรรม ก็ยังมีข้อถกเถียงมากมายจากทั้งแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ที่มองว่า ไครโอนิกส์ เป็นวิทยาศาสตร์ที่อยู่บนพื้นฐานของการสร้างความหวัง ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานองค์ความรู้ที่มีจริง ยังไม่รวมถึงการที่หากเก็บรักษาร่างกายของมนุษย์ได้ยาวนานถึงพันปี เมื่อวันหนึ่งวิทยาศาสตร์สามารถปลุกพวกเขาขึ้นมาได้ พวกเขาจะยังคงอัตลักษณ์ของตนเองและมีความรู้สึกนึกคิดเช่นมนุษย์ปกติได้อีกครั้งหรือไม่ ที่สำคัญ พวกเขาจะไม่มีเพื่อนหรือครอบครัวหลงเหลืออยู่ และอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นข้อถกเถียงกันมาก ก็คือ เทคโนโลยีนี้นอกจากจะขัดแย้งต่อความเชื่อที่เกี่ยวกับความตายในหลายๆศาสนาแล้ว ยังอาจเป็นการสนับสนุนการการุณยฆาต (euthanasia) ที่คนซึ่งเป็นโรคร้าย เช่น โรคมะเร็ง โรคสมองเสื่อม หรือแม้แต่แก่ชรา ยอมแช่แข็งตัวเองก่อนที่โรคร้ายหรือความชราจะคร่าชีวิตของพวกเขา

...

เช่นเดียวกับเด็กหญิงชาวอังกฤษอายุ 14 ปี ผู้ซึ่งกำลังจะเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นสูงเพื่อขอแช่แข็งร่างกายของเธอ โดยให้เหตุผลว่า “ฉันยังไม่อยากตาย ฉันยังอยากมีชีวิตอยู่ยาวนานกว่านี้ อยากมีโอกาสที่จะได้มีชีวิตอีกครั้ง” และศาลได้ตัดสินให้แม่ของเด็กหญิงเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งแม่ของเธออนุญาตให้ทำการแช่แข็งร่างกายของลูกสาวอย่างที่ตั้งใจ ในเดือนตุลาคม 2559

นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลแล้ว ไครโอนิกส์ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนของวิทยาการในอนาคตที่ต้องจับตากันต่อไป.