นักวิทยาศาสตร์จับยาหอมไทยมาวิจัยในห้องทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่ดีทั้งต่อระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินอาหาร ที่สำคัญไม่มีความเป็นพิษ
ผลการวิจัยร่วมกันของนักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัยในเมืองไทยภายใต้โครงการบูรณาการการวิจัยและพัฒนายาแผนโบราณเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ได้มีการวิจัยตั้งแต่ในส่วนประกอบของตำรับยาหอมไปจนกระทั่งถึงสรรพคุณ พบว่าในประเทศไทยมีตำรับยาหอมมากกว่า 500 ตำรับ แต่ละตำรับยานั้นประกอบด้วยสมุนไพรนับสิบชนิด เช่น ตำรับยาหอมนวโกฐ ประกอบด้วยสมุนไพร 54 ชนิด เครื่องยาที่ใช้มีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด กับเครื่องยาที่มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร
ด้านผลการวิจัยที่ศึกษาฤทธิ์ตามสรรพคุณ รศ.ดร.วิสุดา สุวิทยาวัฒน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สรรพคุณของยาหอมส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับระบบไหลเวียนโลหิต และระบบทางเดินอาหาร จากการศึกษายาหอม 4 ตำรับ ได้แก่ นวโกฐ และอินทรจักร (ตำรับกระทรวงสาธารณสุข) กับยาหอมของเอกชน ตำรับ ก. และตำรับ ข. พบว่า ยาหอมทุกตำรับเพิ่มความดันโลหิตได้ ทุกตำรับมีแนวโน้มเพิ่มแรงบีบตัวของหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น ทั้งยังเพิ่มการไหลเวียนโลหิตไปเลี้ยงสมองและตามอวัยวะต่างๆ
อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์กล่าวด้วยว่า สำหรับสรรพคุณต่อระบบทางเดินอาหารนั้น พบว่าการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารลดลง ทำให้การหลั่งเมือกที่เคลือบกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น ช่วยป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร และยังช่วยลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ กับลดการอาเจียนลง น่าสังเกตด้วยว่าในทุกตำรับยา เมื่อเทียบกับยาลดกรดแผนปัจจุบัน สามารถลดกรดในกระเพาะอาหารลงได้ ครึ่งหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่กำลังดี เมื่อพิจารณาถึงความเป็นพิษ หรือพิษเฉียบพลัน ไม่พบว่ามีหนูทดลองตายและไม่มีความผิดปกติในระดับเนื้อเยื่อ กล่าวได้ว่า จากการศึกษาในห้องทดลองพบว่ายาหอมให้ผลในการรักษาที่ดี.
...