พลังของเทพอัคคี (ภาพจาก The Last Airbender)
หลังจากรับตำแหน่งประมุขสูงสุดของคริสตจักรได้ไม่นานนัก สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ได้ทรงเขียนพินัยกรรมไว้ว่า หากพระองค์สิ้นพระชนม์ลง ขอให้ฝังพระศพไว้ใต้ดิน ไม่ใช่ในอุโมงค์ ไม่มีคำตอบแน่ชัดนักว่า ทำไมพระองค์ทรงสั่งเสียไว้เช่นนั้น แต่ก็เป็นที่แน่ชัดว่าพระองค์ให้ความสำคัญกับดิน แหล่งกำเนิดของสรรพสิ่ง และทุกสิ่งจะหวนคืนสู่พระแม่ธรณี
ดินถือเป็นธาตุสำคัญมาตั้งแต่อดีต ในแทบทุกอารยธรรมให้ความสำคัญกับดินว่าเป็นผู้ให้ กำเนิด และส่วนใหญ่จะมีความเชื่อกันว่าดินเป็นเพศแม่ เช่น ในตำนานกรีก ที่พระแม่ธรณีหรือจีอา ก็เป็นเทพรุ่นแรกๆที่มีผู้ให้ความเคารพนับถืออย่างสูง ส่วนในจีน พระแม่ธรณีก็เป็นเพศหญิงเช่นกัน คือ พระแม่ตี้หมู่เหนียงเหนียง แต่ก็มีบ้างในบางความเชื่อ ที่ดินเป็นเพศชาย เช่น ในตำนานเทพของไอร์แลนด์ เทพแดกดา ในรูปลักษณ์ชายร่างอ้วนได้รับการยกย่องให้เป็นเทพแห่งแผ่นดิน
เทพจีอา พระแม่ธรณีในตำนานกรีก.
นอกจากดิน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญแรกๆที่คนเราให้การยอมรับมาแต่อดีตแล้ว ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์ ต่างๆจะรู้ว่าสรรพสิ่งบนโลกเราเกิดจากธาตุมากกว่าร้อยชนิด เมื่อก่อนโน้น แทบทุกอารยธรรมของโลกเชื่อกันว่า ธาตุหลักของโลกมีเพียง 4 ธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ให้ กำเนิดทุกสิ่งทุกอย่าง ทำให้ดิน น้ำ ลม ไฟ มีคุณลักษณะที่สำคัญใน 2 ด้าน คือ ด้านหนึ่งเป็นธาตุ อันเป็นองค์ประกอบของสรรพสิ่ง และอีกแง่หนึ่งคือ เป็นเทพที่สำคัญ และได้การยอมรับนับถือ
...
ในฐานะเทพ ย้อนกลับไปที่ตำนานไอร์แลนด์ เทพแดกดาซึ่งเป็นเทพแห่งแผ่นดินนั้น เป็นพระสวามีของโบอานน์ เทพผู้เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำ ในขณะที่ธิดาของพระองค์คือบริจิต ก็เป็นเทพแห่งเตาไฟ ทั้งหมดล้วนสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น
เทพอะมะเตระสุ โอมิกามิ เจ้าแม่สุริยะของญี่ปุ่น.
ด้านเทพเจ้าของนอร์ส หรือไวกิ้ง มหาเทพโอดินผู้เป็นใหญ่ได้สังหารยักษ์ จนเกิดเป็น แผ่นดิน ในขณะที่โอรสของพระองค์คือบัลเดอร์ ก็เป็นเทพแห่งแสงสว่าง หรือนัยหนึ่งก็คือไฟ ส่วนนจอร์ด เป็นเทพแห่งทะเล และการที่พวกไวกิ้งผูกพันกับทะเล ทำให้เจอคลื่นลมบ่อยๆ นจอร์ดจึงเป็นเทพแห่งลมด้วย เพราะเชื่อกันว่า พระองค์สามารถควบคุมทั้งคลื่น และความแปรปรวนของทะเล เช่นเดียวกับความปรวนแปรในจิตใจของพระองค์
ใน ตำนานนอร์ส ถือว่าเทพของทะเลเป็นเพศชาย ซึ่งต่อมาถ่ายทอดมาสู่ตำนานกรีก ซึ่งโพไซดอน ผู้กำยำก็เป็นเทพแห่งมหาสมุทรผู้ควบคุมท้องน้ำ แต่ก็มีหลายตำนานที่เชื่อว่า น้ำน่าจะเป็นเทพเพศหญิงมากกว่า ซึ่งน่าจะเป็นเพราะว่า ทะเลมักจะแปรปรวนบ่อยๆ เสมือนอารมณ์ของสตรี ดังนั้น ในหลายตำนาน โดยเฉพาะตำนานทางเอเชีย น้ำจึงเป็นเพศแม่ เช่น พระแม่ คงคาแห่งภารตเทพ แต่บางตำนานของเอเชียก็เชื่อว่า ความแปรปรวนของทะเลเกิดจากความซุกซน ของผู้ชายเหมือนที่ชาวยุโรปคิด เช่น ตำนานของญี่ปุ่น ซึ่งเทพซุซาโนะ โนมิโกโตะ ซึ่งเป็นโอรสแห่งมหาเทพ ก็เป็นเทพบุรุษผู้ควบคุมมหาสมุทร และทำให้มันคึกคะนองตามแต่พระทัยของท้าวเธอ
เทพแดกดา เทพแห่งแผ่นดินของไอร์แลนด์.
ในแทบทุกตำนานกล่าวถึงดินในแง่ดีเสมอ แต่กล่าวถึงน้ำใน 2 ด้าน คือ มีประโยชน์ และคลุ้มคลั่ง แล้วแต่เหตุการณ์จะเป็นไป ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นกับไฟ ด้วยเช่นกัน ไฟมีทั้งลักษณะแห่งการเป็นผู้สร้าง ผู้ให้แสงสว่างอันเป็นสิ่งจำเป็น และสุดท้ายคือเป็นผู้ทำลายล้าง
ใน ภารตเทพนั้น พระอัคนี หรือพระเพลิง มีภาวะอยู่ใน 3 ภพ คือ อยู่บนสวรรค์ ในฐานะสุริยาทิตย์ อยู่บนอากาศในฐานะสายฟ้า และอยู่บนโลกในฐานะไฟ ที่เป็นทั้งผู้ให้และผู้ทำลายดังกล่าว
ไฟ สายฟ้า หรือพระอาทิตย์ มักจะถูกมองเป็นสิ่งเดียวกัน และส่วนใหญ่ได้รับการยกย่องให้เป็นเพศชาย อาจจะเป็นเพราะสังคมโลกเรานี้เป็นสังคมที่บุรุษเป็นใหญ่ บุรุษจึงเป็นสัญลักษณ์ ของดวงอาทิตย์มาตั้งแต่ดั้งเดิม เช่น สุริยเทพราแห่งอียิปต์ หรืออพอลโลของกรีก ผู้เป็นเทพแห่งแสงสว่าง ยกเว้นในบางประเทศ เช่น ตำนานญี่ปุ่น ที่ยกย่องให้เทพนารีอะมะเตระสุ โอมิกามิ เป็นเจ้าแม่สุริยะ
รูปปั้นพระแม่คงคาในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอินเดีย.
ด้านลมนั้น อาจจะเป็นเพราะเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ค่อยจะได้ ทำให้เทพแห่งลมมีไม่มากเท่าเทพอื่นๆ แต่ก็มีหลายประเทศนับถือเทพแห่งลม เช่น พระวายุ หรือพระพาย ผู้ซึ่งกำเนิดจากการบำเพ็ญเพียรของนางทิตี และพระพายก็ถือกำเนิดมาเป็นลมพัดไปทั้งบนโลก และเทวโลก
...
ส่วนในตำนาน กรีก เอโอลัส เป็นราชาแห่งวายุ แต่แม้จะได้ชื่อเช่นนั้น พระองค์ก็เป็นเพียงตัวแทนของเทพแห่งลมที่แท้จริงทั้ง 4 คือ โบเรอัส หรือลมเหนือ, เซเฟอร์ ลมตะวันตก, โนทัส ลมใต้ และยูรัส ลมตะวันออก
และ ดังที่กล่าวมาแล้วว่า นอกจากฐานะของเทพ ดิน น้ำ ลม ไฟ ยังมีฐานะเป็นธาตุตั้งต้นของโลก ทำให้ในหลายตำนานเชื่อกันว่าการกำเนิดขึ้นของไม้กางเขนนั้น ที่แท้แล้วเป็นสัญลักษณ์ ของนักเล่นแร่แปรธาตุ หรือนักเคมีในอดีต กล่าวคือ ปลายทั้ง 4 ของไม้กางเขน ก็เป็นตัวแทนของธาตุทั้ง 4 ซึ่งในช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 17 นั้น เหล่านักเล่นแร่แปรธาตุได้พยายามกันอย่างหนักที่จะเปลี่ยนให้ดิน น้ำ ลม ไฟ กลายเป็นสิ่งสำคัญอื่น เช่น พยายามเปลี่ยนน้ำ หรือไฟ ให้เป็นทองคำ เป็นต้น
เทพเอโอลัส ราชาแห่งวายุในตำนานกรีก.
นักทฤษฎีสมคบคิดกล่าวกันว่า ความเชื่อเรื่องธาตุทั้ง 4 เป็นความเชื่อที่ขัดกับความเชื่อในไบเบิล เพราะหากมีธาตุทั้ง 4 ที่เปลี่ยนแปรได้ ก็อาจจะหมายถึงการเกิดขึ้นเองของธาตุบนโลก ไม่ใช่เกิดจากพระเจ้าที่บันดาลขึ้น ทำให้มีผู้เชื่อว่า คริสตจักรพยายามขัดขวางการทำงาน และการเขียนตำราถึงธาตุทั้ง 4 แต่อันที่จริงแล้ว คริสตจักรเองก็ให้ความสำคัญกับธาตุเหล่านี้ ในฐานะองค์ประกอบของศาสนาด้วยเช่นกัน เช่น ในกรณีของน้ำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ และถูกนำมาใช้ในพิธีรับศีลล้างบาป ส่วนไฟ เป็นได้ทั้งลักษณะของรัศมีเจิดจ้าของพระเจ้าและนักบุญ แต่ในขณะเดียวกัน ไฟก็เป็นสัญลักษณ์ของซาตานในนรกด้วย
...
นอกจากนี้ ในแง่ของความหมายเชิงสัญลักษณ์ ดิน น้ำ ลม ไฟ ยังมีสิ่งที่แฝงอยู่ เช่น ดิน นอกจากจะเป็นสิ่งที่สื่อถึงการกำเนิดเป็นแม่ เป็นผู้ให้อาหารแล้ว ยังหมายถึงความมีชีวิต การโอบอุ้มให้มั่นคง และการเจริญเติบโตด้วย เชื่อกันว่า ผู้ที่เกิดในเดือนมกราคม พฤษภาคม กันยายน เป็นผู้ที่เกิดในธาตุดิน ดังนั้น จะมีลักษณะเป็นคนหนักแน่น มั่นคง
ส่วน น้ำ สื่อถึงสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิต แต่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง ผู้ที่เกิดในเดือนมีนาคม กรกฎาคม และพฤศจิกายนเป็นคนธาตุน้ำ ซึ่งจะดู เป็นคนลักษณะอ่อนหวาน ช่างฝัน อารมณ์อ่อนไหว
เทพนจอร์ด เทพแห่งทะเลและลม.
ด้านลม เป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหว การสื่อสาร อันนำมาซึ่งความรู้ ผู้ที่เกิดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มิถุนายน และตุลาคม เป็นคนธาตุลม เป็นคนบอบบาง อารมณ์พลิกผันง่าย
สุดท้ายคือ ไฟ เป็นทั้งผู้สร้าง และผู้ทำลาย ผู้ที่เกิดในเดือนเมษายน สิงหาคม และธันวาคมเป็นคนธาตุไฟ มักจะเป็นผู้ที่มีพลังในตัวอย่างเห็นได้ชัด มีความมุ่งมั่น และมั่นใจในตัวเองสูง แต่ก็ดังได้กล่าวแล้วว่า ธาตุนี้สามารถเป็นได้ทั้งผู้สร้างสรรค์และทำลายล้าง การจะใช้คนประเภทนี้จึงต้องใช้ให้เป็นจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด
...
ถึง วันนี้ ก็ยังมีผู้เชื่อว่า คนเราทั้งโลกนี้ เป็นธาตุใดธาตุหนึ่งใน 4 ธาตุ และแนวคิดนี้เองก็ก่อกำเนิดให้เป็นนิยาย และภาพยนตร์หลายเรื่อง ซึ่งในความเห็นของผู้เขียน หากจะพูดถึงความสำคัญของดิน น้ำ ลม ไฟแล้ว ผู้ที่จะสื่อสารได้ดีที่สุดในยุคปัจจุบันนี้ น่าจะเป็นผู้ที่มีความเชื่อแบบเอเชีย เพราะในยุโรป หรืออเมริกา ได้ละเลยเรื่องพวกนี้กันไปนานแล้ว ดังนั้น เมื่อภาพยนตร์ แอ็กชั่นแฟนตาซีเรื่อง The Last Airbender มหาศึก 4 ธาตุจอมราชัน ที่กล่าวถึงการต่อสู้กับไฟ โดยการร่วมมือของ ลม ดิน และน้ำ ผ่านฝีมือของเอ็ม ไนท์ ชายามาลาน ผู้กำกับเชื้อสายอินเดีย จึงทำให้เชื่อว่า น่าจะสื่อถึงได้อย่างเต็มที่ ทั้งในแง่ของสัญลักษณ์ และความสมดุล ที่โลกเรา
มิอาจขาดธาตุทั้ง 4 นี้ได้เลย.
ทีมงาน ต่วย'ตูน