"มีเดียมอนิเตอร์" ถลกวงการ "ละครไทย" เน้นขายความรุนแรงเผยช่องทหารขายซีนซาดิสต์มากที่สุด ชี้สอดไส้ จัดเรตติ้งจากเฉพาะเป็นดูได้ทั่วไป แนะปิดทีวีดีที่สุด...

เกิดเป็นกระแสหนักหน่วง เมื่อละครไทยกลายเป็นต้นเหตุการฆ่าตัวตายของเด็ก และเยาวชน ด้วยการจดจำพฤติกรรมมาจากละคร แล้วนำมาใช้กับชีวิตจริง เช่น การผูกคอตาย การดิ่งตึกสูง การนำเอาเรื่องความรักมาเป็นเหตุให้ฆ่าตัวตายตามแบบตัวละคร และการที่อยากจะเหาะเหินเดินอากาศได้ ก็ทำให้พลาดท่าเสียชีวิตก็มีมาแล้ว

จากเหตุการณ์ข้างต้นเป็นเพียงเสียงหนึ่งที่กลายเป็นภาพซ้ำ ที่ละครน้ำเน่าฆ่าคนไทย ประเด็นที่หลายฝ่ายสงสัยก็คือ ทำไม? บทเรียนที่ว่าไม่ได้รับการแก้ไข หรือแท้จริงแล้วชีวิตที่เสียไปนั้น เป็นเพราะความไม่รู้ หรือไม่มีค่าสำหรับผู้เกี่ยวข้องเลย

เรื่องนี้ นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ โครงการศึกษาเฝ้าระวังสื่อและพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อสุขภาวะของสังคม (มีเดียมอนิเตอร์) วิเคราะห์กับไทยรัฐ ออนไลน์ ถึงสาเหตุที่ทำให้ละครมีอิทธิพลต่อคนไทยว่า มาจาก 5 สาเหตุ ดังนี้

1. ช่วงเวลา ในการฉายละครทีวี
2. ช่วงหลัก คือ ก่อนข่าวภาคค่ำ และหลังข่าวภาคค่ำเป็นช่วงเวลาที่พอดีกับเด็กส่วนใหญ่ได้ชมทั้ง 2 ช่วงคือหลังกลับจากโรงเรียนและก่อนนอน
3. รูปแบบฟรีทีวีไทยไม่มีทางเลือกอื่นๆ ละครที่มีมากมายดูง่าย ทำให้เด็กเข้าถึงละครได้ง่าย ผิดกับประเทศอื่นที่เขาจะจัดโซนนิ่งปิดกั้นละครเอาไว้หลัง 4 ทุ่ม
4. การขาดความหลากหลายที่เอามานำเสนอ ซึ่งละครบ้านเราเกือบ 90% ธีมหลักเป็นเนื้อหาชิงรักหักสวาท เรื่องความรัก-ใคร่ อีก 5-10% เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักของครอบครัว
5. พฤติการณ์การนำเสนอภาพความรุนแรงบ้านเรามีปัญหา เพราะทุกครั้งที่นำเสนอเขาไม่คิดว่ามีใครดูบ้างถึงแม้จะมีการระบบจัดเรตติ้งก็ตาม

"หลายคนถามว่ามีการจัดเรตติ้งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทีวีไทยจะสะอาด แต่ระบบการจัดเรตติ้งละครส่วนใหญ่มักจะใช้โลโก้แปะฉากด้านหน้าก่อนละครฉายแล้วก็ใช้การตั้งระบบออโต้เพื่อแปะโลโก้เรตติ้งเอาตามแต่จะตั้งเวลาเท่านั้น ผิดกับเรตติ้งต่างประเทศที่มีคนควบคุมด้วยคนไม่ใช่การตั้งเวลา ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ ผู้ผลิตบ้านเราไม่มีสุนทรียศาสตร์ในการนำเสนอ อย่างฉากฆ่าตัวตายในต่างประเทศเวลาเขาถ่ายทำเขาจะถ่ายเป็นสัญลักษณ์ เช่น ถ่ายเชือกตึง ถ่ายเก้าอี้ล้ม เป็นต้น แต่บ้านเราจะทำอะไรก็ทำชัดๆ ฆ่าตัวตายก็ให้เห็นกันเป็นขั้นเป็นตอน เพราะขาดศิลปะในการนำเสนอ"

ปัญหาอีกส่วนหนึ่ง หนุ่มแห่งมีเดียมอนิเตอร์บอกว่า อยู่ที่เด็กไทยวันนี้ ฟังอย่างเดียวแต่ไม่ได้คิด

"วันนี้เราบอกว่าเรามีทั้งอินเทอร์เน็ต ทีวี วิทยุ ให้ดูทั้งวันทั้งคืน แต่ลืมไปว่าตลอด 24 ชม. เด็กๆ ฟังวิทยุกับดูโทรทัศน์ และก็เล่นอินเทอร์เน็ตก็จริง แต่การเสพแบบนี้ทำให้วัฒนธรรมการอ่านการเขียนมันไม่มี ฉะนั้นวันนี้เด็กไทยมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อลักษณะเชิงรับมาตลอด เราดูทีวีเราฟังวิทยุเล่นอินเทอร์เน็ต แต่เราไม่ต้องใช้ความคิดโดยตรง ซึ่งถ้าเด็กไปอ่านหนังสือไปเขียนวาดภาพ เขียนรายงาน ทำการบ้าน สมองมันก็จะได้คิด เพราะฉะนั้นการเสพสื่อปัจจุบันมันไม่เอื้อให้เด็กได้คิด ได้ใช้สมอง อย่างเมื่อปี 2549 เราวิจัยมาว่า ละครเด็กไม่ได้เอื้อ หรือทำให้เด็กคิดวิเคราะห์ มีแต่ให้จำกับสอน คือเด็กไม่ได้ใช้สมองเลย"

ยกตัวอย่าง เนื้อเรื่องของการ์ตูนต่างประเทศ ซึ่งแตกต่างจากการ์ตูนในประเทศไทยว่า ที่นั่นนอกจากสอนเรื่องการล้างมือ การปลูกต้นไม้ ซึ่งเขาได้บอกโต้งๆ เขาบอกผ่านผลดีผลร้ายของมันว่าเกิดอะไรขึ้นแต่บ้านเราบอกให้จำ บอกให้ทำ มันขาดกระบวนการคิดไตร่ตรอง ถ้าบอกว่าความอ่อนไหว ผมว่าไม่ใช่เชิงความรู้สึก แต่เป็นการอ่อนในการใช้สติปัญญาในการคิดมากกว่า

"จริงๆ ถ้าพูดถึงเรื่องละครน้ำเน่าแล้ว ปัญหาเรื่องเรตติ้งที่จัดไม่จริงเป็นปัญหาแค่ส่วนหนึ่ง แต่มันไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด ปัญหาหลักๆ มาจากผู้ผลิตละครมากกว่า เนื่องจากโจทย์มันถูกล็อกตายอยู่แล้วว่า ถ้าคุณจะขายละครไพร์มไทม์ (ช่วงละครหลังข่าว) ต้องทำละครแบบนี้ สปอนเซอร์ก็บอกว่าอยากได้ เรตติ้งทั่วไป (ท.) เพราะว่ามันจะดูดีกับสินค้า แต่หากเป็นเรตติ้งหลัง 22.00 น. จะเป็นเรตติ้ง น.13 น.18 สินค้าบางอย่างมันไม่ลง เพราะว่ากลุ่มคนดูมันคงไม่ใช่กลุ่มหลักอายุ 25 ปี ละครบางเรื่องอยากจะเจาะกลุ่มวัยรุ่น มัธยมต้น มัธยมปลาย เพราะฉะนั้นการตลาดจึงเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นตัวกำหนดว่าเนื้อหาต้องแบบนี้ เอาง่ายๆ เอาความรักความใคร่มาแสดงให้ดูกัน เพราะว่าคนดูส่วนมากก็เป็นวัยรุ่น มีความสนใจเรื่องเพศ มันจึงกลายเป็นเรื่องของการตลาด ทุนคุณคือใคร คุณก็ต้องทำอย่างนั้นอยู่แล้ว"

ถามว่าละครช่องไหนอันตรายต่อเยาวชนมากที่สุด มีเดียมอนิเตอร์ฟันธงว่า ถ้าเป็นละครแนวชิงรักหักสวาทนั้นละครของฟรีทีวีช่องทหารมีความรุนแรง และเลือดเย็นมากที่สุด

"ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าช่องที่ผลิตละครทั้งหมดมีอยู่แค่ 3 ช่อง คือ ช่องน้อยสี, ช่องสีมาก และช่องทหาร ที่ถือว่าเป็นตัวหลักในการผลิต ซึ่งรวมแล้วได้ 85% ซึ่งละครของช่องทหารรุนแรงมากๆ ซึ่งเขามีคนเขียนบทที่เก่งในการดึงอารมณ์ให้คนดูอยู่กับละครได้ตลอดเวลา ซึ่งเขาจะเน้นใช้ความรุนแรงมาขายเพื่อจะดึงคนดูให้ดูต่อเนื่อง เด็กๆ จะติดกันงอมแงมเลย ผู้ใหญ่อย่างเราก็เป็น แต่ปัญหาใหญ่ก็คือวันนี้ละครไทยมีการสอดไส้ ด้วยการโกงเรตติ้ง เช่นบอกว่าผมทำละครเรตติ้งที่ดูได้ทั่วไป แต่จริงๆ แล้ว เป็นละครที่ควรแนะนำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องเข้ามาจัดการ เพราะว่ากลุ่มเป้าหมายหรือเจ้าของสินค้าที่มาลงแฮปปี้มากกว่าเรตติ้งอื่นๆ"

สำหรับวิธีแก้ไข ต้องมีการตระหนักแต่ไม่ใช่บอกว่าเลิกผลิต ที่ต่างประเทศจะมีละครน้ำเน่า อย่างที่ อินเดีย, ญี่ปุ่น และจีน ก็มีหมด เพียงแต่ว่า ต้องไปแก้ที่การนำเสนอแบบมีสุนทรียะ อันนี้สำคัญ ในการนำเสนอแบบมีศิลปะ ซึ่งไม่ใช่เราบอกว่าแค่การฆ่าตัวตาย แค่เก้าอี้ล้ม มันไม่ใช่แค่นั้น มันต้องหมายถึงการเขียนบท

"ขณะนี้เรื่องที่น่าเป็นห่วงมากๆ คือปัจจุบันเขามีความพยายามขายบทที่มีความรุนแรงมากๆ โดยใช้จิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องในการเขียนบท เช่น ทุกๆ กี่วินาทีเขาจะทำให้ต่อเนื่องๆ อย่างละครช่องทหารเขาจะมีวิธีคิด เหมือนอย่างเกมโชว์ที่เขาจะมีการกระตุ้นทุกๆ วินาที โดยเฉพาะทุกๆ 1 นาทีต้องมีจุดไคลแมกซ์ 4-5 จุด มันอันตราย ซึ่งก่อนจะมาทำเป็นละคร บทประพันธ์อาจจะไม่แรง แต่พอมาเขียนเป็นบทละครแล้วมันเพิ่มให้มีองค์ประกอบความรุนแรงมากขึ้น"

ดังนั้นทางแก้ไขที่ดีต้องมีการจัดโซนนิ่งฟรีทีวี ทางแก้ไขที่ยั่งยืนก็คือ แนะนำนอกจากการดูสารคดี หรือใช้เวลาในการทำการบ้าน "ปิดทีวี" เป็นคำตอบที่ดีที่สุดกับการป้องกัน "ละครน้ำเน่า"...

...