เชื่อหรือไม่ว่าประมาณ 30 – 40 % ของประชากร มักประสบปัญหาการมีกลิ่นปากและต้องการการรักษา

กลิ่นปาก นับเป็นปัญหาสุขภาพช่องปากอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยและขาดการได้รับการรักษา ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ หลายคนเก็บความกังวลใจกับปัญหากลิ่นปากเอาไว้จนทำให้เสียบุคลิกภาพ กลายเป็นคนขาดความมั่นใจในการสนทนากับผู้อื่นในระยะใกล้ๆ

กลิ่นปากเป็นอาการเรื้อรังซึ่งมีอยู่ทุกวัน และไม่สามารถขจัดให้หายไปได้ด้วยการแปรงฟัน หรือใช้น้ำยาบ้วนปากตามปกติ กลิ่นที่เกิดขึ้นเป็นกลิ่นของสารประกอบกำมะถันอันประกอบด้วย ไฮโดรเจน ซัลไฟด์, เมททิล เมอร์แคปแทน, และไดเมททิล ซัลไฟด์ ซึ่งเกิดจากการย่อยสลายของโปรตีนโดยแบคทีเรียในช่องปากประเภทที่ไม่ใช้ออกซิเจน โปรตีนเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากเศษอาหารที่ตกค้าง  และคราบจุลินทรีย์ที่สะสมอยู่บนลิ้น หรือมาจากเซลล์อักเสบที่พบในเลือดและร่องเหงือก (gingival crevice) หรืออาจมาจากน้ำมูก และเสมหะที่ไหลลงในลำคอทางด้านหลังจมูก (post nasal drip) ในผู้ป่วยที่มีการอักเสบเรื้อรังของทางเดินหายใจ


กลิ่นปากแท้จริงแล้วมีสาเหตุจากอะไร

สาเหตุจากภายในช่องปาก ได้แก่

- ฟันผุเป็นรู ฟันคุด
- โรคเหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์
- แผลถอนฟัน แผลผ่าตัดในช่องปาก หรือแผลที่เกิดจากการติดเชื้อต่างๆในช่องปาก           ตลอดจนแผลร้อนใน หรือแผลมะเร็ง เป็นต้น
- ฟันปลอมที่ไม่สะอาด ครอบฟันที่ขอบไม่แนบกับตัวฟัน หรือหรือวัสดุอุดฟันที่มีขอบเกิน ทำให้เป็นที่กักของเศษอาหาร
-  ฟันซ้อนเก หรือการใส่เครื่องมือจัดฟัน ทำให้มีเศษอาหารตกค้าง
-   ฝ้าขาวบนลิ้น ซึ่งเกิดจากการสะสมของเศษอาหารและแบคทีเรียบนพื้นผิวของลิ้น เป็นสาเหตุใหญ่ของการเกิดกลิ่นปาก เนื่องจากฝ้าขาวบนลิ้นทำให้เกิดสารประกอบกำมะถัน จำพวกไฮโดรเจน ซัลไฟด์ และการอักเสบในร่องเหงือก ทำให้เกิดสารจำพวกเมททิล เมอร์แคปแทน หากผู้ป่วยมีน้ำลายไหลน้อย หรือปากแห้งร่วมด้วยจะทำให้การสะสมของสารประกอบกำมะถันดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นถึง 6 เท่า

สาเหตุจากภายนอกช่องปาก ได้แก่

- อาหาร กลิ่นปากที่เกิดจากอาหารจะเป็นกลิ่นที่ไม่ถาวร คือจะหายไปเมื่อร่างกายย่อยสลายและขับออกหมด เว้นเสียแต่ว่าจะรับประทานอาหารเหล่านั้นเป็นประจำทุกวัน จนมีอยู่ในร่างกายอย่างต่อเนื่อง อาหารเหล่านั้นได้แก่ กระเทียม เครื่องเทศ หัวหอม อาหารที่มีโปรตีนสูงตลอดจนเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- บุหรี่
- โรคทางระบบอื่น ๆ เช่น
- โรคของระบบทางเดินหายใจ เช่น การอักเสบ หรือมะเร็งในโพรงจมูก ไซนัส  ทอนซิล คอหอย กล่องเสียง หรือปอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอักเสบเรื้อรังของทางเดินหายใจ  ซึ่งทำให้เกิดน้ำมูกที่ข้นเหนียวกว่าปกติ และไหลลงในลำคอทางด้านหลังจมูกเป็นประจำ
- โรคของระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ การอักเสบของหลอดอาหาร โรคกระเพาะ โรคลำไส้ ซึ่งในระยะหลังมีการวิจัยสนับสนุนว่าโรคกรดไหลย้อนเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุผิวในทางเดินหายใจ ซึ่งมีผลต่อการเกิด post nasal drip ได้ในระยะต่อมา
- โรคตับ โรคไต และโรคเบาหวาน สามารถทำให้เกิดกลิ่นปากได้เช่นกัน ซึ่งจะเป็นกลิ่นเฉพาะของแต่ละโรค


กำจัดกลิ่นปาก


กุญแจหลักของการรักษาผู้ที่มีปัญหากลิ่นปาก คือ การหาสาเหตุและขจัดสาเหตุนั้นให้หมดไป

หากมีโรคในช่องปาก  การรักษาคงเป็นการรักษาโรคนั้นๆ ให้หายดีเสียก่อน เช่น อุดฟันที่ผุหรือรักษาโรคเหงือก  แต่ถ้าในกรณีที่ไม่มีโรคในช่องปาก แต่ยังคงมีกลิ่นปากอยู่ วิธีลดกลิ่นปากที่สามารถทำได้ง่ายที่สุดและได้ผลมากที่สุดคือ การทำความสะอาดช่องปากของเราเองโดยการแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน และการแปรงลิ้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนมักมองข้าม ส่วนใหญ่แล้วมักแปรงแต่ฟันเพียงอย่างเดียว  จากเหตุผลข้างต้น ลิ้นของเรานั้นมีผิวขรุขระ เวลารับประทานอาหารเข้าไป  อาหารอาจหมักหมมอยู่ที่ลิ้นได้ รวมทั้งผู้ที่ชอบอมลูกอม และสูบบุหรี่ สีของลูกอม และคราบบุหรี่ จะติดสะสมไม่เพียงที่ฟันเท่านั้น แต่จะสะสมอยู่ที่ลิ้นด้วย  ดังนั้น การแปรงฟันนอกจากการทำความสะอาดฟันแล้ว การทำความสะอาดลิ้นก็เป็นสิ่งจำเป็น

การลดกลิ่นปากนั้น ทำได้ไม่ยากเพียงแต่ทำความสะอาดช่องปากรวมทั้งลิ้น ตามด้วยการใช้น้ำยาบ้วนปากหลังทำความสะอาดช่องปาก เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดกลิ่นปาก ปัญหาที่ไม่พึงประสงค์ลงได้

ปัญหาเรื่องกลิ่นปากเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข การเข้ารับการรักษากลิ่นปากไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เป็นการเสริมสร้างบุคลิกภาพให้ดีขึ้น และยังมีส่วนช่วยเพิ่มเสน่ห์ในการพูดคุยแก่คู่สนทนาอีกด้วย

คลินิกรักษากลิ่นปาก ศูนย์ทันตกรรมเดนดัลลิส โรงพยาบาลเวชธานี
www.vejthani.com

...