เปิดเวทีให้คนรุ่นใหม่โชว์ฝีมือในการออกแบบและสร้างสรรค์จินตนาการที่ใช้งานได้จริง สยามดิสคัฟเวอรี่ ดิเอ็กซ์พลอราทอเรี่ยม ร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และเอสซีจีแพคเกจจิ้ง จัดงานประลองพลังความคิดสร้างสรรค์รอบตัดสิน “100 ดีไซน์ 2016” ในหัวข้อ “การออกแบบถุงช็อปปิ้ง” โดยใช้กระดาษรีไซเคิลจากเอสซีจีแพคเกจจิ้ง ซึ่งเป็นกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของวัตถุดิบที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่กว่า 70% ผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ประกาศผลการตัดสิน ที่ชั้น 4 สยามดิสคัฟเวอรี่ เมื่อเร็วๆนี้

การประกวดครั้งนี้มีนิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไปส่งผลงานเข้าประกวดมากกว่า 600 ชิ้น และได้รับการคัดเลือกให้เหลือ 100 ชิ้น ซึ่ง ชนิสา แก้วเรือน ผู้บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า งาน “100 ดีไซน์ 2016” นี้จัดขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนมาร่วมค้นพบ (Explore), สร้างสรรค์ (Create) และพัฒนา (Cultivate) โดยการประกวดปีนี้ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม แต่ละผลงานมีไอเดียสร้างสรรค์ที่ล้ำสมัย และยังคำนึงถึงประโยชน์การใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติอย่างมีคุณค่าอีกด้วย ซึ่งถุงช็อปปิ้งที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้รับการผลิตเป็นถุงช็อปปิ้งเพื่อใช้จริงในสยามดิสคัฟเวอรี่ เป็นเวลา 3 เดือน จำนวน 44,000 ใบ โดยใช้กระดาษรีไซเคิลจากเอสซีจีแพคเกจจิ้งซึ่งเป็นกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของวัตถุดิบที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Recycled Content) กว่า 70% ผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ผลงานที่ผ่านเข้ารอบ 100 ผลงานจะจัดแสดงเป็นนิทรรศการที่สยาม เซ็นเตอร์ ตั้งแต่วันที่ 9-22 ม.ค. 2560 อีกด้วย

...

สำหรับผู้ชนะใจกรรมการคว้ารางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท ได้แก่ ภวิกา สุธีรพรชัย นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่สร้างสรรค์ผลงาน ภายใต้คอนเซปต์ “Non-width bag with origami style” บอกว่าใช้เทคนิคจากการพับกระดาษแบบโอริกามิ เป็นการพับเป็นชั้นสลับกัน มีคุณสมบัติยืดหยุ่น เหมาะสำหรับการใส่สิ่งของที่มีขนาดแตกต่างกัน เมื่อถือถุงแล้วขนาดของถุงจะพอดีกับสัดส่วนของที่อยู่ด้านใน ทำให้ใส่ของได้พอดี และไม่เปลืองพื้นที่ มาพร้อมแนวคิดที่ว่า สยามดิสคัฟเวอรี่โฉมใหม่เป็นตึกใหม่ที่สะดุดตา ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งภายนอก หรือภายใน ซึ่งการออกแบบถุงช็อปปิ้งให้เป็นสี่เหลี่ยมอาจดูธรรมดา จึงได้นำการพับแบบโอริกามิ มาดัดแปลง เพื่อเน้นฟังก์ชันการใส่ของ ทำให้ดูมีดีไซน์ ไม่เน้นกราฟฟิกมาก ลดค่าใช้จ่ายในการผลิต แต่คงความมีดีไซน์ที่เหมาะกับสยามดิสคัฟเวอรี่ให้มากที่สุด.