อาการหอบ คือ อาการหายใจลำบาก มักมีหายใจเร็วร่วมด้วย ผู้ป่วยที่มีอาการหอบ สังเกตได้จากมักหายใจเร็วขึ้น ซี่โครงบานออก ทรวงอกยกสูงขึ้นขณะหายใจเข้า ช่องที่อยู่ระหว่าง และเหนือซี่โครงบุ๋มลง มักมีจมูกบานถ้าหอบเหนื่อยมาก อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หายใจเสียงดัง เป็นต้น
สาเหตุอาจเกิดจากโรคจากระบบต่างๆ ได้แก่
โรคระบบหายใจ เช่น โรคปอดอักเสบ ปอดบวมน้ำ โรคหืด โรคหืดมักเริ่มเป็นในเด็ก ในวัยรุ่น หรือหนุ่มสาว อาจจะเกิดจากการแพ้อากาศ ร้อนไป หนาวไป ชื้นเกินไป แห้งเกินไป ฝุ่นมากเกินไป หรืออื่นๆ แพ้กลิ่น เช่น กลิ่นน้ำหอม กลิ่นควันไฟ กลิ่นพริกคั่ว หรืออื่นๆ แพ้อาหาร อาหารทะเล หรืออาหารอื่นๆ บางรายเวลาโกรธจะหอบ หรือแพ้ฝุ่นแพ้ไร แพ้เกสรดอกไม้ หรืออื่นๆ เมื่อเจอกับสิ่งที่แพ้เข้า จะมีอาการแน่น หายใจไม่สะดวก อาจจะไอ หายใจมีเสียงหวีด อาจได้ยินเอง หรือดังลั่นจนคนอื่นได้ยินด้วย และถ้าเป็นมาก ก็จะมีอาการหอบเหนื่อยรุนแรง สำหรับโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและโรคปอดโป่งพองส่วนใหญ่เกิดจากการสูบบุหรี่ เรื้อรัง ทำให้มีอาการไอ หายใจมีเสียงหวีด และเสียงเสมหะ และมีอาการหอบเหนื่อยเมื่อเป็นมานาน หรือเมื่อโรคกำเริบเวลาเป็นไข้หวัด หรือมีการติดเชื้ออื่นๆ กรณีโรคหลอดลมโป่งพอง โรคปอดบวม ปอดอักเสบ และโรคปอดหลอดลมอื่นๆ จะทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยได้เช่นเดียวกัน
โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจล้มเหลวจากภาวะต่างๆ โรคหัวใจเกือบทุกชนิด ถ้าเป็นมาก หรือทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนเปลี้ย และทำงานไม่ไหวแล้วจะทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อย เพราะเลือดไปคั่งในปอด และทำให้ปอดบวมน้ำได้ ส่วนใหญ่คนที่เป็นโรคหัวใจ และเคยหัวใจล้มมาแล้ว จะรู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ตนเกิดอาการหอบเหนื่อยขึ้นมา ทั้งที่โรคหัวใจก็ยังเป็นเท่าเดิมอยู่ สาเหตุเหล่านั้น ได้แก่ ออกกำลังมากเกินไป กินอาหารมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารเค็ม นอนไม่หลับหรือขาดการพักผ่อน เป็นไข้หวัดหรือไข้จากการติดเชื้ออื่นๆ เกิดอารมณ์ หรือความเครียดกังวลรุนแรง เป็นต้น
โรคระบบสมอง เช่น โรคสมองอักเสบ เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน หรืออื่นๆ ก็ทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยได้ แต่ผู้ป่วยจะมีอาการทางสมองอื่นๆ ชัดเจน เช่น อัมพาต อัมพฤกษ์ ชัก สับสน หมดสติ เป็นต้น
โรคระบบต่อมไร้ท่อและเมตาโบลิค เช่น ภาวะเลือดเป็นกรด เบาหวานอย่างรุนแรง หรือที่เรียกว่าโรคเบาหวานเป็นพิษ ซึ่งเกิดจากการควบคุมโรคเบาหวานไม่ดี ทำให้เกิดของเสีย และกรดคั่งในร่างกาย จึงเกิดอาการหอบเหนื่อย และอาจหมดสติได้ โรคคอพอกเป็นพิษที่เป็นมากก็จะทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยได้ ซึ่งเมื่อมีอาการหอบเหนื่อยแล้ว อาการอื่นๆ ของโรคคอพอกเป็นพิษมักจะปรากฏให้เห็นชัดเจน เช่น ผอมลงมาก ชีพจรเต้นเร็ว ผิวหนังจะเนียนละเอียดกว่าคนอื่นในเพศ และวัยเดียวกัน ตาดุ และอาจจะตาโปนด้วย มือสั่น หงุดหงิดง่าย เป็นต้น
โรคระบบไต เช่น ภาวะไตวาย เป็นต้น ถ้าเป็นมากจะทำให้เกิดการคั่งของเกลือ และน้ำในร่างกาย ถ้าน้ำ และเกลือคั่งมาก ก็จะทำให้เท้าบวม หน้าบวม และปอดบวมน้ำจนเกิดอาการหอบเหนื่อยได้ โรคไตยังทำให้ของเสียคั่งในร่างกาย เมื่อของเสียคั่งมากๆ จะทำให้เลือดเป็นกรด ซึ่งทำให้ต้องหายใจเร็ว และลึก
อาการหอบในเด็ก
อาการหอบก็พบได้เสมอในวัยเด็ก ซึ่งจะดูได้จากการที่มีการหายใจเร็วขึ้นกว่าปกติ และมีลักษณะของการหายใจลำบาก เช่น มีปีกจมูกบานเข้าออก อาการกระสับกระส่าย ช่องซี่โครงบุ๋ม ถ้าเป็นมากอาจมีอาการเขียวบริเวณริมฝีปาก เล็บ หรือที่หน้า ผู้ป่วยบางรายต้องอยู่ในท่านั่งจึงจะสบาย
สาเหตุการหอบส่วนใหญ่เกิดจากโรคในระบบทางเดินหายใจ ในวัยแรกคลอดอาจเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะ เช่น รูจมูกตัน มีท่อติดต่อระหว่างหลอดลมกับหลอดอาหาร ความพิการของกะบังลม นอกจากนั้นการสำลักนม ปอดอักเสบ ปอดแฟบ พบว่าเป็นสาเหตุของการหอบในทารกแรกคลอด
สาเหตุของการหอบในเด็กโตที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินหายใจมักเกิดจากการติดเชื้อ การอักเสบของหลอดคอ ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อคอตีบ หรือเชื้ออื่น ปอดอักเสบเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดซึ่งอาจเกิดจากเชื้อจุลินทรีย์หลายชนิด หรือจากการสำลักอาหาร หรือสารพวกน้ำมันก๊าดซึ่งเด็กมักดื่มโดยการเข้าใจผิดว่าเป็นน้ำ เพราะบิดามารดามักใส่น้ำมันก๊าดในขวดเครื่องดื่ม และตั้งไว้ในที่ที่เด็กสามารถหยิบได้
การอุดกั้นในหลอดลมเป็นสาเหตุของการหอบ เช่น วัตถุแปลกปลอมตกลงในหลอดลม โรคหืดซึ่งเกิดจากการหดเกร็งของหลอดลม การอักเสบของหลอดลมฝอยทำให้ผนังหลอดลมบวม ทำให้ทางผ่านอากาศมีน้อยลง
ภาวะผิดปกติในโพรงช่องเยื่อหุ้มปอดอาจทำให้ปอดแฟบ ไม่สามารถทำหน้าที่หายใจเอาอากาศเข้าไปฟอกโลหิตดำได้ ก็จะทำให้เกิดอาการหอบ ภาวะเหล่านี้ ได้แก่ การมีสารน้ำ หนองลม หรือเลือดในโพรงช่องเยื่อหุ้มปอด
นอกจากโรคของระบบทางเดินหายใจที่ทำให้เกิดการหอบได้แล้ว โรคของระบบอื่นก็สามารถทำให้เด็กเกิดการหอบได้ ภาวะซีด หัวใจวาย ภาวะมีกรดในเลือด เช่น ภายหลังท้องร่วงอย่างรุนแรง โรคเบาหวาน การได้รับพิษ เช่น ได้ยาประเภทแอสไพรินเกินขนาด โรคไตเรื้อรัง หรือแม้แต่ภาวะจิตใจที่ผิดปกติ เด็กบางคนอาจมีอาการหอบได้
โรคระบบหายใจ อาการหอบในเด็กพบมีสาเหตุมาจากโรคระบบหายใจมากที่สุด โดยอาจเกิดจากโรคที่ทำให้เกิดการอุดตันทางเดินหายใจส่วนบน เช่น กล่องเสียง และหลอดลมคออักเสบหรือ ครุ้ป (croup) โรคที่ทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หลอดลมฝอยอักเสบ โรคหืด โรคของเนื้อปอด เช่น ปอดอักเสบ ปอดบวมน้ำ เป็นต้น
โรคหอบหืดในเด็ก
โรคหอบหืดเป็นโรคที่เกิดขึ้น เนื่องจากหลอดลมของผู้ป่วยตอบสนองต่อสิ่งที่มากระตุ้นมากกว่าภาวะปกติ ทำให้หลอดลมของผู้ป่วยหดเกร็ง มีขนาดตีบแคบลง และมีอาการบวม เนื่องจากมีการอักเสบ รวมทั้งจะมีการสร้างเสมหะมากกว่าปกติ
อาการจับหืด คือ มีอาการหอบ ไอ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจขัด เสียงหายใจมีเสียงดังหวีด อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเป็นๆ หายๆ และเป็นเรื้อรัง อาการจับหืดมักเกิดในตอนกลางคืน หรือเมื่อมีการสัมผัสกับสิ่งที่แพ้หรือระคายเคือง เมื่อเด็กอยู่ในภาวะปกติหรือเมื่อได้รับการรักษาแล้ว เด็กจะดูเหมือนเด็กปกติทั่วไป และอาจตรวจไม่พบอาการผิดปกติเลยก็ได้
สาเหตุของโรค โรคหอบหืดไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยตรงเสมอไป แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการหืดจับร่วมกับมีประวัติโรคภูมิแพ้ หรือหอบหืดในครอบครัว ก็มีโอกาสที่ผู้ป่วยจะเป็นโรคนี้ บางรายเกิดจากสิ่งกระตุ้นต่างๆ อาจเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นบ้าน ตัวไรฝุ่น ละอองซากแมลงสาบ เกสรดอกไม้ ละอองเชื้อรา ขน หรือสะเก็ดรังแคผิวหนังสัตว์เลี้ยง อาหารบางชนิด ควันบุหรี่ ควันพิษจากสิ่งแวดล้อม หรือการเป็นหวัด
ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การออกกำลังกายอย่างหักโหม การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เช่น เวลาใกล้ฝนตก อากาศเย็นจัด และแห้งแล้ง
ผลของโรคหอบหืดในเด็ก ในเด็กที่มีอาการไม่มาก จะมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อชีวิตประจำวัน การใช้ยาเพื่อควบคุมอาการอาจจะมีความจำเป็นเฉพาะเวลาที่มีอาการจับหืดเท่า นั้น ส่วนในเด็กที่มีอาการของโรคหอบหืดที่มีอาการรุนแรง และเป็นบ่อยๆ จะมีผลกระทบต่ออารมณ์ จิตใจ การเรียน และการดำรงชีวิตประจำวันได้มาก อาจต้องขาดเรียนบ่อย ทำให้ผู้ป่วยกลัวเรียนไม่ทันเพื่อนๆ อาจถูกห้ามเล่นกีฬา หรืองดกิจกรรมการเล่นบางอย่าง อาจทำให้ขาดความมั่นใจในตนเอง
ข้อควรปฏิบัติเมื่อมีอาการหอบ
ถ้ามีอาการหอบในช่วงกำลังวิ่งเล่น หรือมีอาการเหนื่อย ควรหยุดเล่น หรือออกกำลังกายทันที
สงบสติอารมณ์ อย่ากลัว หรือตกใจจนเกินไป
หายใจเข้าอย่างปกติ และหายใจออกทางปาก โดยห่อปากขณะเป่าลมหายใจออก ค่อยๆ เป่าลมหายใจออกอย่างช้าๆ ทีละน้อยให้นานมากที่สุด
สูดยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์เร็ว อย่างถูกต้องตามวิธีการ
ดื่มน้ำอุ่นมากๆ
ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้นภายในระยะเวลาที่แนะนำตามแนวทางการดูแลรักษาที่บ้านควรรีบพบแพทย์
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืด
หลีกเลี่ยงสารที่แพ้ จำให้ขึ้นใจว่าตัวเองแพ้อะไร และต้องรู้ว่าตนเองต้องใช้ยาอะไรเวลามีอาการจับหืด ควรรู้จักชื่อของยาที่ใช้ประจำ
หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่
ควรดูแลสุขภาพให้ดี กินอาหารให้ครบหมู่ ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะอย่างสม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้มีอาการหวัดเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ ซึ่งจะทำให้อาการโรค
ทำจิตใจให้สดชื่น แจ่มใส ขจัดความกังวล อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงมากๆ จะทำให้มีอาการจับหืดได้
เด็กที่มีอาการไอ หรือจับหืดอยู่ ไม่ควรดื่มน้ำเย็นจัด กินของเย็นจัด เพราะอาจจะทำให้อาการไอแย่ลงได้
กินหรือใช้ยาตามที่แพทย์ประจำแนะนำ อย่าหยุดยาเองหรือซื้อยามากินเองโดยไม่รู้จักยา และควรมาตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง
อาการหอบเหนื่อยที่ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน
หายใจไม่ออกทันที เช่น ถูกรัดคอ บีบคอ สำลักอาหารชิ้นใหญ่ที่ไปปิดกั้นหลอดลมหรือคอหอย เป็นต้น
ริมฝีปากเขียว เล็บมือ ปลายนิ้วมือ เป็นสีม่วงคล้ำ จากที่เคยเป็นสีชมพู แสดงว่าเลือดขาดออกซิเจน ถ้ามีออกซิเจนอยู่ใกล้ตัว ให้คนไข้ดมออกซิเจนไปก่อน ถ้าไม่มีออกซิเจนหรือได้ให้ออกซิเจนแก่คนไข้แล้วรีบนำคนไข้ส่งโรงพยาบาล
ซึมลง สับสน ชัก หรือหมดสติ ควรรีบส่งโรงพยาบาลทันที
ไข้สูง หรือตัวร้อนจัด คนไข้ที่หอบเหนื่อย และมีไข้สูง มักเกิดจากโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ โลหิตเป็นพิษ หรืออื่นๆ ควรส่งโรงพยาบาลทันที
ไอเป็นเลือด เสมหะเป็นฟองปนเลือดสีแดงสด มักเกิดจากภาวะปอดบวมน้ำเฉียบพลัน เสมหะเป็นหนองปนเลือดแบบสนิมเหล็ก หรือเลือดเก่าๆ มักเกิดจากปอดบวม ปอดอักเสบ ฝีในปอด วัณโรค หลอดลมโป่งพอง เป็นต้น ถ้าเป็นเลือดสดๆ และออกเป็นลิ่มๆ แสดงว่าเลือดออกในปอด ต้องรีบส่งโรงพยาบาลทันที
ทรวงอกข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างไม่มีการเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวน้อยมากขณะหายใจ แสดงว่าปอดข้างนั้นไม่มีลมเข้าออกเลยหรือไม่มีลมเข้าออกเท่าที่ควร เพราะปอดแฟบ หรือ มีลม น้ำ หนอง หรือเลือดในช่องอกซีดมาก หรือแดงก่ำผิดปกติ
หายใจมีเสียงหวีด หรือเสียงครืดคราด แสดงว่าหลอดลมตีบ หรือมีสิ่งอุดกั้นในหลอดลม เช่น เสมหะ น้ำ สิ่งแปลกปลอม สายเสียงอักเสบบวม หรืออื่นๆบวม คนไข้ที่หอบเหนื่อยและมีอาการบวมเท้า บวมหน้า หรือบวมทั้งตัว มักเกิดจากโรคหัวใจ ไต หรือตับที่เป็นรุนแรงแล้ว
...
ที่มา : ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
www.bangkokhospital.com
www.bangkokhealth.com