“การเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้น ต้องเป็นตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีเวลาหยุดได้” ตลอดระยะเวลายาวนานหลายทศวรรษ นับตั้งแต่ทรงขึ้นครองแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงงานอย่างหนักและตรากตรำพระวรกายมายาวนาน เพื่อต่อสู้กับความยากจน และสร้างความอยู่ดีมีสุขแก่พสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ โดยได้พระราชทานพระราชดำริและโครงการพัฒนาไว้มากกว่า 4,350 โครงการ เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี กินดี มีสุขภาพอนามัยแข็งแรง มีการศึกษา มีอาชีพมั่นคง และดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี นับเป็นการวางรากฐานการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนให้ปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง

“...เวลานี้เราทุกคนมีภาระสำคัญรออยู่ ที่จะต้องร่วมมือกันเสริมสร้างความเป็นปกติเรียบร้อยให้แก่บ้านเมือง เพื่อให้ประชาราษฎร์ชาติภูมิมีความผาสุกสงบ ภาระทั้งนี้มิใช่หน้าที่ของบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ หากเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของทุกฝ่ายทุกคนที่จะต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำให้พรักพร้อม และสอดคล้องเกื้อกูลกัน โดยมีจุดมุ่งหมายและอุดมคติร่วมกัน ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอให้ท่านทั้งหลายในมหาสมาคมนี้ ตลอดจนประชาชนทุกหมู่เหล่า ทำความคิดจิตใจให้หนักแน่นแน่วแน่ และเที่ยงตรงเสมอเหมือนกัน ที่จะร่วมมือร่วมคิดกัน ให้เต็มกำลังความสามารถและสติปัญญา ด้วยความสุจริตบริสุทธิ์ใจ และด้วยความสามัคคี ปรองดอง โดยยึดเอาประโยชน์ยั่งยืนยิ่งใหญ่ คือความมั่นคงผาสุกของบ้านเมืองเป็นเป้าหมายสูงสุด...” พระราชดำรัสดังกล่าวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จออกมหาสมาคม งานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย วันที่ 5 ธันวาคม 2547 ตอกย้ำถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการทุ่มเททรงงานหนักอย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อประชาชนของพระองค์ โดยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้เสด็จฯไปทรงงานพัฒนาราษฎรทั่วทุกถิ่นของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ถิ่นทุรกันดารห่างไกลความเจริญ ทรงวางรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการพระราชทาน “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทางปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ

...

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าถึงการทรงงานพัฒนาราษฎรในถิ่นทุรกันดารของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ในหนังสือ “พระมหากษัตริย์นัก พัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา” ความตอนหนึ่งว่า “เป้าหมายในการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ การพัฒนา ที่ยั่งยืน เพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ให้ คนมีความสุข โดยต้องคำนึงเรื่องสภาพภูมิศาสตร์ ความเชื่อทางศาสนา เชื้อชาติ และภูมิหลัง ทางเศรษฐกิจ สังคม แม้ว่าวิธีการพัฒนามีหลากหลาย แต่ที่สำคัญคือ นักพัฒนาจะต้องมีความรัก ความห่วงใย ความรับผิดชอบ และการเคารพในเพื่อนมนุษย์...ทรงมีวิธีการของพระองค์ คือ การเสด็จฯ ไปในป่า บนเขา ตอนแรกจะเสด็จฯแบบยังไม่ได้มีการตัดถนนเข้าไป พระองค์ต้องเสด็จฯเข้าไปอย่างลำบาก เพราะว่าไม่ต้องการจะให้คนอื่นมาเอาเปรียบคนข้างใน ในขณะที่พวกเขายังไม่เข้มแข็งพอ เมื่อพัฒนาให้พวกเขาเข้มแข็งแล้ว พวกเขาจะออกมาเอง คือระเบิดจากข้างใน...”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงเล่าว่า “ก่อนจะเสด็จฯไปทรงงานตามที่ต่างๆ จะทอดพระเนตรจากแผนที่ทางอากาศ ก่อนว่าควรจะเสด็จฯที่ไหน หรือจะทรงแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างไร เช่น สามารถนำน้ำจากตรงนี้ไปเลี้ยงนาตรงโน้น ได้ประโยชน์และจะต้องมีรายจ่ายจากการก่อสร้าง หรือดำเนินงานเท่าไหร่ จะได้ผลจ่ายกลับคืนภายในกี่ปี และที่สำคัญต้องไปคุยกับชาวบ้านก่อนว่าเขาต้องการไหม ถ้าเขายังไม่ต้องการ ยังไม่สบายใจที่จะทำเราก็ไปทำที่อื่นก่อน นั่นคือทรงทำประชาพิจารณ์ด้วยพระองค์เอง ทรงทำตรงนั้นเลย”

ในบรรดาพระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4,350 โครงการ ที่ล้วนเป็นการทรงงานเพื่อมุ่งประโยชน์สุขแก่ประชาชนและประเทศชาติ ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาดิน และการเกษตรไทย ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยและศึกษาปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงมองและเข้าใจถึงความจริงในทฤษฎีความสมดุลของธรรมชาติ อันได้แก่ป่าไม้, น้ำ, ดิน และสิ่งมีชีวิต ซึ่งพึ่งพิงกัน อย่างมีปฏิสัมพันธ์และเชื่อมโยงด้วยวิถีทางธรรมชาติอย่างเป็นวัฏจักร ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

“...อาจมีบางคนเข้าใจว่าทำไมจึงสนใจเรื่องชลประทาน หรือเรื่อง ป่าไม้ จำได้เมื่ออายุ 10 ขวบ ที่โรงเรียนมีครูคนหนึ่ง ซึ่งเดี๋ยวนี้ตายไปแล้ว สอนเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องการอนุรักษ์ดิน แล้วให้เขียนว่าภูเขาต้องมีป่าไม้อย่างนั้น เม็ดฝนลงมาแล้วจะชะดินลงมาเร็ว ทำให้ไหลตามน้ำไปทำความเสียหาย ดินหมดจากภูเขาเพราะไหลตามสายน้ำไป ก็เป็นหลักของป่าไม้เรื่องการอนุรักษ์และเป็นหลักของชลประทานที่ว่า ถ้าเราไม่รักษาป่าไม้ข้างบน จะทำให้เดือดร้อนตลอด ตั้งแต่ดินบนภูเขาจะหมดไป กระทั่งการที่จะมีตะกอนลงมาในเขื่อน มีตะกอนลงมาในแม่น้ำจะทำให้น้ำท่วม เรียนเรื่องนี้มาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ...”

พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกๆด้านนั้น ทรงระมัดระวังมิให้เป็นการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีสภาพดีขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าพระราชกรณียกิจและโครงการพระราชดำริด้านต่างๆ ล้วนแล้วแต่ส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ แหล่งน้ำและฟื้นฟูสภาพดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ จนทำให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน น้อมนำเอาแนวพระราชดำริไปปฏิบัติตามจนเกิดผลประโยชน์มากมายทั่วประเทศ

และเนื่องจากประเทศไทยมีรากฐานจากสังคมเกษตรกรรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงริเริ่มโครงการต่างๆด้านการพัฒนาเกษตรขึ้นมากมายอย่างต่อเนื่อง โดยจะทรงเน้นแก้ปัญหาของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ และแบ่งปันการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติจนชั่วลูกชั่วหลาน ขณะเดียวกัน ยังเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางเกษตร ทั้งค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืช ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจ หรือพืชเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน ทรงให้ความสำคัญกับ “ดิน” เป็นพิเศษ ด้วยทรงเห็นว่าดินเป็นปัจจัยพื้นฐานเช่นเดียวกับน้ำ ทรงริเริ่มโครงการพัฒนาที่ดิน เมื่อปี 2511 เพื่อพลิกผืนดินที่แห้งแล้งให้กลับมาอุดมสมบูรณ์

...

“...ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้งทรัพยากรธรรม-ชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญเราจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้สิ้นเปลืองไปโดยไร้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หากแต่ระมัดระวังใช้ด้วยความประหยัดรอบคอบ ประกอบด้วยความคิดพิจารณาตามหลักวิชา เหตุผล และความถูกต้องเหมาะสม โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยืนยาว...” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานไว้ในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ถือเป็นหลักในการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืน

นับเป็นความภาคภูมิใจยิ่งที่ได้เกิดมาเป็นพสกนิกรขององค์พ่อหลวงผู้ทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขและสร้างความสุขยั่งยืนแก่ประชาชนของพระองค์.

ทีมข่าวสตรีไทยรัฐ