จากกระแสพระราชดำรัสของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสอนแพทย์ทุกคนให้รู้จัก “อ่อนน้อม ถ่อมตน ทุกคนมีดี อย่าไปดูถูกใคร” ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ อดีตกรรมการแพทยสภา และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เห็นว่า ถ้าทุกคนประพฤติดีต่อกันด้วยไมตรี ให้เกียรติกัน ทั้งแพทย์ ผู้ป่วย และญาติก็จะ เกิดความสัมพันธ์อันดี จึงได้น้อมนำกระแส พระราชดำรัสมาให้แพทย์และบุคลากรในศิริราชได้นำไปปฏิบัติ เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยและญาติได้ และในเวลาต่อมาแพทยสภาเห็นควรนำพระบรมราโชวาทนั้น มาสร้างเป็นหลักสูตร “ธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหารทางการแพทย์ (ปธพ.)” โดยความร่วมมือจัดทำโครงการของสถาบันพระปกเกล้าและแพทยสภา เพื่อสร้างธรรมาภิบาลในวงการแพทย์ไทยและสังคมไทยโดยรวม ตามแนวทางพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนี้เปิดการอบรมเป็นรุ่นที่ 5 แล้ว

โดยถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของพิธีเปิดอบรมหลักสูตรฯ นายกแพทยสภา “ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา” และ พล.อ.ต.นพ. อิทธิพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ในฐานะผู้อำนวยการหลักสูตร จะต้องนำคณะผู้เข้าอบรมในหลักสูตรดังกล่าว ไปถวายสักการะสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน ณ พระบรม ราชานุสาวรีย์ รพ.ศิริราช ในวันมหิดล ซึ่งตรงกับวันที่ 24 ก.ย.ของทุกปี

...

โอกาสนี้ ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล มาเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับธรรมาภิบาล” ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของหลักสูตร ปธพ.แก่ผู้เข้าอบรมรุ่นที่ 5 ที่ห้องบรรยายอวย เกตุสิงห์ รพ.ศิริราช โดยกล่าวว่า สมเด็จพระบรมราชชนก และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้ง 2 พระองค์ได้ทรงเป็นตัวอย่างที่ดีในการมีธรรมาภิบาล และได้ทรงทำให้ดูเป็นตัวอย่างด้วย

สมเด็จพระบรมราชชนก ได้ทรงมีพระราชดำรัสถึงคุณสมบัติการเป็นแพทย์ แก่สมาชิกสโมสรแพทย์แห่งจุฬาฯ ซึ่ง นพ.อุดมกล่าวว่า ตนเห็นว่าใช้ได้ในทุกอาชีพ คือ ต้องมีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง แต่ไม่ใช่อวดดี ซึ่งเป็นปัญหาของคนเก่ง และเป็นปัญหาของชาติ คือต้องเก่งและดี แต่ไม่ใช่อวดดี, เป็นที่ไว้วางใจระหว่างแพทย์ด้วยกัน คือ การทำงานเป็นทีม มีความเข้าใจกัน และได้รับความมั่นใจจากคนไข้ ไม่ว่าเราจะอยู่อาชีพไหน ถ้าเรามี 3 อย่างนี้ทำอะไรก็สำเร็จ นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีคำสอนลูกศิษย์อีกว่าผลสำเร็จแห่งการเรียนรู้ไม่ใช่แค่ตอนนี้ แต่ต้องเอาไปประยุกต์ใช้ก่อผลพวงต่อมนุษยชาติ และขอให้เห็นประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ 2 ประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ 1 ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์

ส่วนพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงยึดพระราชดำรัสที่จะครองแผ่นดินโดย ธรรมมาโดยตลอด สิ่งที่พระองค์ทำมาต่อเนื่องคือ ทรงอยู่ในทศพิธราชธรรมอย่างเคร่งครัด ทรงเสียสละส่วนตนเพื่อความสุขส่วนรวม พระองค์ท่านทรงยึดตามที่ทรงประกาศไว้จริง อาทิ ทรงศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ เวลาจะทรงทำสิ่งใด พระองค์จะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาพูดคุยตลอด ทั้งเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน, มองภาพรวมแล้วแก้ปัญหาจากจุดเล็กๆ, ประหยัดเรียบง่าย ให้ประโยชน์สูงสุด ต้องประยุกต์ใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด, ตามเทคโนโลยีแต่ไม่เป็นทาสเทคโนโลยี, เน้นการมีส่วนร่วม, การพึ่งตนเอง, พออยู่พอกิน, ความซื่อสัตย์ สุจริต, ทำงานอย่างมีความสุข, มีความเพียร, รู้รักสามัคคี อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความพอเพียง หมายถึง ความพอ ประมาณ ความมีเหตุผลไม่มากไป น้อยไป ไม่ใช่ประหยัดขี้เหนียว อยู่บนเหตุบนผล เป็นต้น

...

อธิการบดี ม. มหิดลกล่าวตอนท้ายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงสอนตลอดว่า ให้อ่อนน้อม ถ่อมตน ทุกคนมีดี อย่าดูถูกใคร ทรงให้เกียรติทุกคน พระองค์ทรงทำหน้าที่พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ตลอดเวลา แม้ขณะประทับที่โรงพยาบาลศิริราช พระองค์ทรงมาตรวจงาน ในโรงพยาบาล ทรงเห็นการจราจรที่ติดขัด ทรงมีพระราชดำริให้สร้างทางคู่ขนานลอยฟ้า ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเคยเล่าว่า ในหลวงทรงเป็นองค์ที่เคร่งครัดหน้าที่นิยม คือ ในฐานะพระเจ้าแผ่นดิน จะต้องดูแลราษฎร ในอีกมิติ พระองค์เป็นประชาชน ที่ต้องเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ เห็นอะไรที่จะทำเพื่อบ้านเมืองได้ เราต้องทำ น้อยก็ทำ แล้วจะเป็นผลพลังอันยิ่งใหญ่ ทั้งหมดนี้หากเราสามารถนำแนวทางของพระองค์ไปปรับใช้ ก็จะช่วยให้การทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่น เป็นประโยชน์และมีความสุขได้อย่างแท้จริง.