จากโครงการ “ผู้นำเยาวชนชาวเขา” ที่มุ่งปลูกคนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อกว่า 30 ปีก่อน ซึ่งปัจจุบันคือ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ไม่เพียงให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กชาวเขาตามถิ่นทุรกันดารในภาคเหนือเท่านั้น หากยัง “ปลูกรัก” หลากเรื่องราวลงในใจเยาวชน ให้รักในวัฒนธรรมและถิ่นกำเนิด เพื่อจะได้ไม่หลงลืมคุณค่าแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่นของตน

เพื่อดำเนินงานตามพระราชปณิธานของสมเด็จย่าอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่พัฒนาคน และการเติบโตของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เผยว่า ปัจจุบันพันธกิจในการสร้างอาชีพ ที่สุจริตและยั่งยืน และการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้บนดอยตุงสำเร็จแล้ว รายได้ของชาวบ้านบนดอยตุงเพิ่มขึ้นจาก 3,772 บาท ในปี 2531 เป็น 78,457 บาทในปัจจุบัน และกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ 93,515 ไร่ของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เปลี่ยนเป็นป่าอนุรักษ์และป่าเศรษฐกิจ ที่อำนวยประโยชน์ให้ชุมชนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่าง ยั่งยืน นอกจากนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังขยายการดำเนินงานไปยัง จ.เชียงราย, จ.น่าน รวมถึงอีก 3 ประเทศคือ สหภาพเมียนมา, อัฟกานิสถาน และอินโดนีเซีย จนได้รับการยกย่องให้เป็น ต้นแบบการพัฒนาทางเลือกที่ยั่งยืนในเวทีระหว่างประเทศหลายแห่ง และมีบทบาทสำคัญในการจัดทำแนวปฏิบัติสหประชาชาติ ว่าด้วยการพัฒนาทางเลือก สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติอีกด้วย ปัจจุบันโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในการพลิกฟื้นผืนป่าดอยตุง และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้านในพื้นที่ ให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และช่วยเหลือผู้อื่น ด้วยการฝึกอาชีพและสร้างงานให้ชาวบ้านบนดอยตุง ผ่านการดำเนินงานของ 5 หน่วยธุรกิจ ได้แก่ ท่องเที่ยว หัตถกรรม การเกษตร อาหารแปรรูป และคาเฟ่ดอยตุง ซึ่งสร้างรายได้เพียงพอเลี้ยงตัวเองมาตั้งแต่ปี 2545

...

ในฐานะผู้บริหาร งาน ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า ทุกวันนี้ โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ได้รับการยอมรับให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคมอันดับต้นๆ ของประเทศ ที่ผสมผสานแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนกับการพัฒนาศักยภาพของชุมชนด้านการผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และการตลาด โดยหวังว่าจะเป็นตัวอย่างหนึ่งให้คนอื่นนำไปปรับใช้ได้ต่อไป ตอนนี้เราวางแผนที่จะเป็นฐานช่วยต่อยอดธุรกิจ เพื่อสังคมอื่นๆ ให้ยืนขึ้นได้



ตัวอย่างการปลูกคนของมูลนิธิฯ เพชรัช วิบูลศรีกุล หรือ อาฉาย ชาวจีน-อาข่า ถือเป็นคนดอยตุงรุ่นใหม่ ที่ตัดสินใจกลับมาทำงานที่บ้านเกิดและพัฒนาชุมชนของตนเอง หลังจากเคยทำงานที่โรงงานเซรามิกของดอยตุง และไปทำงานที่ไต้หวันนานถึง 6 ปี เมื่อกลับมายังหมู่บ้านสวนป่าอีกครั้ง เขาเริ่มศึกษางานด้านการเกษตร จนมีไร่เสาวรสเป็นของตัวเอง เมื่อพัฒนาตัวเองสำเร็จ เขาหันมาพัฒนาหมู่บ้านผ่านการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์ ถ่ายทอดภูมิปัญญาของพี่น้องอาข่าให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส โดยหวังว่า หมู่บ้านสวนป่าแห่งนี้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนต่อไป.