เชื่อว่าเกือบทุกคนจะมีประสบการณ์ “ฟันคุด” บางรายก็มีอาการปวดจนต้องไปพบหมอฟันเพื่อให้หมอช่วยผ่าฟันคุดออก แต่บางรายก็ไม่มีอาการปวดเลยแม้แต่น้อย กรณีนี้ควรผ่าออกดีหรือไม่ ในเมื่อไม่ปวดก็ไม่ต้องเอาออก ปล่อยไว้นานวันไปจะเป็นอันตรายหรือไม่
ก่อนจะไปสู่คำตอบของคำถามข้างต้น บางคนยังคงสับสนอยู่ว่าแล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าซี่ไหนคือฟันคุด ทพญ.ประไพพันธ์ ทองพัดภู่ สาขาศัลยกรรมช่องปาก ศูนย์ทันตกรรมเดนทัลลิส โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่าเราสามารถตรวจในช่องปากด้วยตนเองได้ หากพบว่าฟันซี่ใดโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือฟันซี่ใดหายไป ก็ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าน่าจะมีฟันคุด เพื่อให้แน่ใจก็มาพบทันตแพทย์เพื่อตรวจในช่องปาก และควรจะเอกซเรย์ดู ก็จะช่วยให้เห็นทิศทางของฟันคุดและเห็นอวัยวะข้างเคียงได้
ฟันคุดอาจเป็นฟันคุดตั้งตรง ฟันคุดเอียงๆ หรืออาจฝังอยู่ในแนวนอน ซึ่งการผ่าออก มีความยากง่ายแตกต่างกัน
ทำไมต้องผ่าฟันคุด…
บางคนอาจสงสัยว่าถ้าฟันคุดไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ จำเป็นต้องผ่าออกหรือไม่? คำตอบคือต้องผ่าออก เพราะการผ่าตัดฟันคุดมีจุดประสงค์หลายประการ คือ
1. เพื่อป้องกันการอักเสบของเหงือกที่ปกคลุมฟัน เพราะจะมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือก แล้วไม่สามารถทำความสะอาดได้ เชื้อแบคทีเรียที่สะสมอยู่จะทำให้เหงือกอักเสบ ปวด และบวมเป็นหนอง ถ้าทิ้งไว้การอักเสบอาจลุกลามไปที่แก้ม ใต้คาง หรือใต้ลิ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ ซึ่งบางคนเป็นๆ หายๆ นานวันผ่านไปอาจพัฒนากลายเป็นเนื้อร้ายได้
...
2. เป็นแหล่งหมักหมมของเชื้อโรคภายในช่องปาก ทำให้ปากมีกลิ่นตลอดเวลา และเป็นเหตุให้ฟันซี่ที่อยู่หน้าฟันคุด ซึ่งเป็นฟันที่ใช้สำหรับบดเคี้ยวอาหารเกิดการผุลุกลามจนทำให้เกิดโรคปริทันต์ หรือฟันคุดที่ขึ้นมาเอียงๆ อาจจะไปดันฟันที่ขวางอยู่ข้างหน้าทำให้ฟันซี่ที่อยู่ข้างหน้าฟันคุดได้รับความเสียหายไปด้วย ทำให้จากการที่ต้องถอนแค่ 1 ซี่ก็อาจจะเป็นมากกว่า 1 ซี่ได้
3. เพื่อลดอาการปวดจากแรงดันของฟัน ฟันคุดที่ขึ้นไม่ได้แต่พยายามดันตัวขึ้นมาจะทำให้เกิดอาการปวดได้ ผู้ที่มีฟันคุดหลายคนลงความเห็นว่ามีอาการปวดศีรษะบ่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ บางท่านมีอาการปวดตึงที่ฟันกรามอยู่ตลอดเวลาโดยไม่สามารถระบุอย่างแน่ชัดได้ว่ามาจากฟันซึ่ไหน
4. เพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำหรือเนื้องอก ฟันคุดที่ทิ้งไว้นานไปเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุด อาจจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำ แล้วโตขึ้นโดยไม่แสดงอาการเลย จนในที่สุดเกิดการทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกรอบ ๆ บริเวณนั้น
5. เพื่อป้องกันกระดูกขากรรไกรหัก เนื่องจากการที่มีฟันคุดฝังอยู่ จะทำให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นบางกว่าตำแหน่งอื่น เกิดเป็นจุดอ่อน เมื่อได้รับอุบัติเหตุ หรือกระทบกระแทก กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นก็จะหักได้ง่าย
ตัวอย่างในภาพนี้เป็นภาพเอกซเรย์ แสดงกระดูกขากรรไกรหักเนื่องจากอุบัติเหตุ จุดที่หักคือจุดที่มีฟันคุดฝังอยู่ บริเวณนี้กระดูกขากรรไกรจะบางกว่าปกติ
6. ผู้ที่มีฟันคุดแล้ว หากปล่อยทิ้งไว้มักเกิดการซ้อนเกของฟันหน้าล่าง เชื่อว่าเกิดจากแรงดันของฟันคุดมาทางด้านหน้า อาจนำมาซึ่งปัญหาหินน้ำลายเกาะมากที่บริเวณดังกล่าว เพราะทำความสะอาดยาก อันเนื่องมาจากการซ้อนกันของฟันเก
7. วัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น ในการจัดฟัน
เมื่อทราบถึงสารพันปัญหาที่มากับฟันคุดเช่นนี้แล้ว หากพบว่ามีฟันคุดก็อย่ารั้งรอ รีบพบทันตแพทย์เพื่อผ่าตัดออกเสียแต่เนิ่นๆ จะได้ไม่เกิดผลเสียในภายหลัง แล้วการผ่าตัดในช่วงที่อายุยังน้อย 18 - 25 ปี สามารถทำได้ง่าย แผลหายเร็ว และผลแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดก็มีน้อย
ศูนย์ทันตกรรมเดนทัลลิส โรงพยาบาลเวชธานี
www.vejthani.com