ด้วยความอลังการ ความงดงาม และความละเมียดละไม กับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถประจำปี พ.ศ.2559 ตอน พิเภกสวามิภักดิ์ ซึ่งมีความพิเศษมากมาย โดยเฉพาะปักรายละเอียดต่างๆ ของเครื่องโขน ทอผ้ายกสุดตระการตา ไทยรัฐออนไลน์พาไปเจาะเบื้องหลัง เป็นอีกหนึ่งงานที่คนไทยทั้งประเทศไม่ควรพลาด
 
1. ความพิเศษแรก ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นต่อคนไทย ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงอนุรักษ์และฟื้นฟู การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ให้กลับมามีชีวิตเป็นประจำทุกปี เป็นเวลา 1 ทศวรรษมาแล้ว และในปีนี้ที่นับเป็นวาระอันเป็นมหามงคล 2 วาระมาบรรจบกัน

2. วาระแรก ได้แก่ การครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ 70 ปี และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 84 พรรษา จึงได้จัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” 

3. อย่างไรก็ดีก่อนถึงวันแสดงจริง หนึ่งในไฮไลต์ที่ควรค่าแก่การรับรู้ก่อนเข้าชมนั่นคือ งานฝีมือสุดวิจิตรของการปักเครื่องโขนที่ใช้สำหรับการแสดง รวมถึงการทอผ้ายกทองของสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง ที่ได้รับการฝึกปรือฝีมือการทอผ้าจากครูต้นตำรับจากเนินธัมมัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

...

4. เรื่องนี้ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “โขนพระราชทาน” ฉายภาพย้อนกลับไปว่า “นับเป็นเวลาครบ 1 ทศวรรษ ที่คนไทยได้มีโอกาสชมความวิจิตรตระการตาของการแสดงระดับชาติที่ได้รับการสืบทอดไว้ ตามพระราชเสาวนีย์ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยฟื้นฟูการแสดง “โขน” ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง นับตั้งแต่ พ.ศ.2550 เป็นต้นมา

5. ท่านผู้หญิงบอกต่ออีกว่า องค์ประกอบต่างๆ ของโขนพระราชทาน ล้วนสร้างความประทับใจและความซาบซึ้งในความงดงามของศิลปะไทย ไม่ว่าจะเป็นฉาก แสง สี เสียง พัสตราภรณ์และเครื่องประดับต่างๆ ที่ประดิษฐ์ขึ้นอย่างประณีต ตามจารีตโบราณ รวมถึงผ้ายกทองที่นักแสดงใช้นุ่งตามบทบาทต่างๆ ที่ได้มีความพยายามในการฟื้นฟูการทอผ้ายกแบบโบราณมาหลายปี โดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จนประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งได้รับการฟื้นฟูในการสืบลายผ้ามาจาก จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ด้วยกระบวนการในการปักเครื่องโขน และการทอผ้า ต้องใช้ระยะเวลากันเรียกได้ว่าปีชนปี จึงมีการสืบสานงานในส่วนนี้ โดยมาพัฒนาอาชีพให้กับสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จังหวัดอ่างทอง ในการเป็นแรงกำลังสำคัญในครั้งนี้

6. นับเป็นความภาคภูมิใจของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านแล้ว ยังนับเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์การปักเครื่องโขน และการทอผ้ายกแบบโบราณให้คงอยู่สืบไป

7. ขณะที่ อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ การแสดงโขนฯ ระบุว่า “จากที่ได้มีการฟื้นฟูการผลิต “ผ้ายกเมืองนคร” มรดกวัฒนธรรมผ้าทอไทยที่ครั้งหนึ่งเหลือเป็นเพียงโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ให้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของพัสตราภรณ์สำหรับการแสดงโขนฯ อีกครั้ง โดยช่างทอของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่เนินธัมมัง และศูนย์ศิลปาชีพบ้านตรอกแค จังหวัดนครศรีธรรมราช นั้น บัดนี้ เราได้มีการพัฒนาฝีมือสมาชิกของศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จ.อ่างทอง เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง ด้วยชาวบ้านในพื้นที่กว่า 100 คน

...

8. ทั้งนี้กำลังสำคัญในการผลิตชิ้นงานหลัก แผนกชุดปักโขน จำนวน 14 คนนั้น จะมีหน้าที่ในการปักเครื่องโขน ซึ่งเป็นการปักดิ้นทองลงบนผ้า ตามแบบลายที่มีอยู่ โดยต้องอาศัยความประณีตและความตั้งใจทำ โดยการปักเครื่องโขน ที่อำเภอสีบัวทองแห่งนี้นั้น จะมีการทำอยู่ทั้งหมด 4 ลาย ได้แก่ 1. ลายราชวัตรดอกลอย 2. ลายแย่งพุ่มข้าวบิณฑ์หน้าขบดอกใน 3. ลายราชวัตรย่อมุมไม้สิบสอง และ 4. ขนทักษิณาวัตร

9. และในแต่ละปีจะมีการปักเครื่องโขนเพื่อใช้สำหรับ พัสตราภรณ์ในการแสดงที่แตกต่างกันออกไป โดยเครื่องโขนฝีมือสมาชิกศูนย์นั้น ประกอบไปด้วย เสื้อ, แขนเสื้อ, อินทรธนู, กรองศอ, รัดเอว, สนับเพลา และเกราะด้านหน้า โดยใช้สำหรับตัวละครที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น พิเภก, ทศกัณฐ์, เสนายักษ์ ฯลฯ”

...

10. ขณะเดียวกัน อาจารย์วีรธรรม ฉายภาพให้ฟังเพิ่มเติมว่า "ลายต่างๆ จะใช้สำหรับส่วนต่างๆ ของชุดนักแสดง อาทิ ลายราชวัตรดอกลอย และลายแย่งพุ่มข้าวบิณฑ์หน้าขบดอกใน ใช้สำหรับ ตัวละครเสนายักษ์ และตัวละครเอก, ลายราชวัตรย่อมุมไม้สิบสอง สำหรับตัวละครพิเภก และ ขนทักษิณาวัตร สำหรับตัวละครหนุมาน โดยขั้นตอนการปักเครื่องโขนนั้น จะมีการใช้ดิ้น-เลื่อม โดยเริ่มจากร่างแบบลายลงบนกระดาษไข แล้วนำไปทำบล็อกซิลค์สกรีน, หลังจากสกรีนลายลงบนผ้าด้วยกาวกระถินผสมดินสอพองแล้วนั้น จะขึงสะดึงด้วยผ้าขาวให้ตึง แล้วนำผ้าที่จะใช้มาปักเย็บตรึงให้เรียบ และเริ่มดำเนินการปักตามลาย โดยเริ่มจากการปักขอบลายด้วยดิ้นข้อก่อน  เสร็จแล้วจึงปักด้านในของลายด้วยดิ้นโปร่งให้เต็มลาย

11. นอกจากการปักเครื่องโขนแล้ว ยังมีการทอผ้ายก โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง 2 ศูนย์ศิลปาชีพ ซึ่งจะมีการยกตะกรอมาจากศูนย์ศิลปาชีพ เนินธัมมัง มาสืบตะกรอที่สีบัวทอง และสามารถขึ้นกี่ทอได้เลยโดยสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง เพื่อทำหน้าที่ในการทอจนเสร็จเป็นผืนเพื่อใช้ในการแสดงต่อไป โดยผ้ายกทอง นั้นคือ ผ้าไหมที่ทอด้วยเทคนิคการยกลวดลายให้ปรากฏเด่นชัดขึ้น มีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาในฐานะที่เป็นผ้าราชสำนักซึ่งทอด้วยเส้นไหมเนื้อละเอียด แทรกลวดลายด้วยไหมเงิน ไหมทองที่บางเบา และทออย่างประณีต โครงสร้างของการวางลวดลาย อันประกอบด้วยท้องผ้าและกรวยเชิงมีลักษณะแบบราชสำนัก ที่ใช้สำหรับเจ้านายชั้นสูงในอดีต เป็นทั้งผ้านุ่งโจงและนุ่งจีบ โดยความพิเศษในอนาคตนั้น จะมีการพัฒนาลายให้ใหญ่เพิ่มเติมขึ้น เพื่อให้เห็นลวดลายชัดเวลานุ่ง จากเดิมที่เราใช้ 1,600 ลายไม้ ในอนาคตจะมีการทอ 2,000 ลายไม้  

12. นอกเหนือจากการปักเครื่องโขน และการทอผ้ายกแล้ว ภูมิปัญญาที่ชาวบ้านสีบัวทอง ร่วมสืบทอดนั้น ยังมีการทำหัวโขน โดยการใช้กระดาษข่อย โดยเริ่มต้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 เป็นต้นมา เป็นการทำแบบโบราณ มีข้อดี คือน้ำหนักเบา มีความทนทาน ไม่บุบและไม่ยุบ โดยผลงานการทำหัวโขนนี้ จะเริ่มนำไปใช้ในการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ปี พ.ศ.2560 รวมไปถึงการปั้นและวาดลวดลายเซรามิก โดยเริ่มต้นสร้างสรรค์ และมีการส่งไปเพื่อเป็นเครื่องใช้บนโต๊ะเสวย โดยลายแรกที่ทำนั้น ได้แก่ ลั่นทมขาว จากนั้น จึงมีการทำลายต่างๆ เพิ่มเติม ได้แก่ สัตตบงกช (บัวหลวง) และกำลังเริ่มต้นวาดลายดอกไม้ พระนาม

...

นอกจากนั้น เครื่องเซรามิก ได้จัดทำขึ้นเพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึกให้แก่ผู้เข้าชมโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ บริเวณด้านหน้าโถงการแสดง ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย อีกด้วย

สุดท้าย มาถึงตรงนี้คนอาจจะถามว่าหาชมได้ที่ใด สำหรับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประจำปี พ.ศ.2559 ตอน พิเภกสวามิภักดิ์ กำหนดจัดแสดง ระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน-5 ธันวาคม 2559 ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย