งดงามอลังการและทรงคุณค่าหาชมได้ยากยิ่งนัก พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการครั้งใหญ่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระ ชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 โดยจัดนิทรรศการขึ้นใหม่ 2 นิทรรศการ ได้แก่ นิทรรศการ “งามสมบรมราชินีนาถ” และนิทรรศการ “เครื่องโขน” เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมในพระอัจฉริยภาพสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ถึงเดือนพฤษภาคม ปีหน้า ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ภายในพระบรมมหาราชวัง

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ กล่าวถึง 2 นิทรรศการใหม่ว่า เป็นการย้อนความ หลังเมื่อปี 2503 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯเยือนต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป โดยทรงนำศิลปวัฒนธรรมความงดงามของไทย พร้อมด้วยพระปรีชาสามารถ พระอัจฉริยภาพ พระราชจริยวัตรที่งดงามของทั้งสองพระองค์ไปสู่สายตาชาวโลก และในโอกาสเดียวกันนั้น สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลสตรีที่แต่งกายงามที่สุดในโลก ในปี 2503 และได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลดังกล่าวต่อเนื่องถึง 3 ปีด้วยกัน จนกระทั่งปี 2508 พระนามา-ภิไธยของพระองค์ได้รับการอัญเชิญเข้า ไปอยู่ในหอเกียรติยศแห่งนครนิวยอร์ก ซึ่งนำความภาคภูมิใจมาสู่คนไทยทั้งประเทศ ทุกคนที่ได้ชมนิทรรศการนี้จะได้เห็นถึงความงดงามของชุดฉลองพระองค์จริง รวมทั้งภาพวีดิทัศน์ การเสด็จฯเยือนต่างประเทศในครั้งนั้นอีกด้วย

...

ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ กล่าวถึงชุดฉลองพระองค์ที่เชิญมาจัดแสดงออกแบบและตัดเย็บโดย นายปิแอร์ บัลแมง ในการโดยเสด็จฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในปี 2503 ซึ่งการแต่งกายแบบคนปกติทั่วไปก็นับว่าค่อนข้างยากแล้ว แต่พระองค์ท่านต้องเสด็จฯ ในฐานะพระราชินีของประเทศไทย เสมือนเป็นตัวแทนของประเทศ การเตรียมฉลองพระองค์จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก และขณะนั้นประเทศไทยก็ยังไม่มีดีไซเนอร์คนใด พอจะ ทราบถึงการแต่งกายที่ถูกต้องตามธรรมเนียมของแต่ละประเทศ เมื่อคุณหญิงอุไร ลืออำรุง ช่างฉลอง พระองค์ในเวลานั้น ได้ทราบว่า “ปิแอร์ บัลแมง” เดินทางมาเมืองไทย จึงได้พาเข้าเฝ้าฯ และชักชวนนายปิแอร์ บัลแมง มาตัดเย็บฉลองพระองค์ถวาย ในตอนแรกทางรัฐบาลยุคนั้นได้เสนอให้คริสเตียน ดิออร์ เป็นผู้ตัดเย็บฉลองพระองค์ถวาย แต่ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งว่า ให้พระองค์ได้ดูแลพระราชินีของพระองค์ท่านเอง ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดก็เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งสิ้น และฉลองพระองค์ทุกองค์ก็ไม่ได้ทรงเพียงครั้งเดียว หลังจากการเสด็จฯเยือนต่างประเทศครั้งนั้นแล้ว พระองค์ท่านก็ทรงฉลองพระองค์อีกหลายๆโอกาสในประเทศไทย และจากการจัดแสดงฉลองพระองค์ครั้งนี้ จะได้เห็นชายฉลองพระองค์กระโปรง ที่ทรงนำมาใช้งานอีกรอบได้มีการเก็บชายฉลองพระองค์กระโปรงขึ้น เพื่อให้ดูร่วมสมัยยิ่งขึ้น เพราะเมื่อปี 2503 แฟชั่นที่นิยมเป็นชายกระโปรงยาว

นิทรรศการครั้งนี้ ต้องใช้เวลานานมากในการศึกษาหาข้อมูล รวมทั้งเกิดคำถามมากมาย เช่น ทำไมดีไซเนอร์ต้องเป็นบัลแมง ทั้งที่ฝรั่งเศสนั้นมีดีไซเนอร์มากมาย รวมถึงการที่พระองค์ท่านทรงมีส่วนร่วมในการออกแบบฉลองพระองค์ด้วย มิสซิสเมลิสา เลเวนตัน ที่ปรึกษาด้านภัณฑารักษ์ กล่าวว่า ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สนุกสนาน และยอดเยี่ยมมากๆ ซึ่งต้องศึกษาจากภาพถ่ายเก่าๆด้วย โดยเธอต้องเดินทางไปฝรั่งเศสถึง 2 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกไปเมซอง เลอซาจ (Maison Lesage) สถาบันปักผ้าที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งปักชุดฉลอง พระองค์ และครั้งที่ 2 ไปเมซอง บัลแมง (Maison Balmain) ซึ่งตื่นเต้นมาก เพราะได้ไปพบสมุดภาพ 2 เล่ม เล่มแรกเป็นสมุดภาพที่พระองค์ท่านเสด็จฯ ในปี ค.ศ.1960 ซึ่งบัลแมงได้จัดแฟชั่นโชว์ชุดพิเศษ ถวายทอด พระเนตรโดยเฉพาะ และเล่มที่ 2 เป็นการรวบรวมข่าวสารจากทั่วโลก ที่พระองค์ท่านได้ทรงฉลองพระองค์ที่ออกแบบโดย ปิแอร์
บัลแมง ในการเสด็จฯ ประเทศต่างๆ ซึ่งถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการต่อยอดข้อมูลสำหรับนิทรรศการครั้งนี้ขึ้นมา

ในส่วนของนิทรรศการเครื่องโขน ใจความหลักแล้วต้องการแสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงอุทิศพระองค์ด้านการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยหลายแขนง รวมถึงศิลปะการแสดงโขนด้วย ซึ่งพระองค์ท่านทรงเล็งเห็นว่า การแสดงโขน เป็นมหรสพที่รวบรวมศิลปะอันทรงคุณค่าไว้หลายแขนงด้วยกัน ทั้งงานทอผ้า งานปักสะดึงกลึงไหม เนื้อหาหลักแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ความเป็นมาของการแสดงโขน, จากแรงบันดาลใจสู่เครื่องโขน, เครื่องโขน และ พัฒนาการเครื่องโขน ที่จะแสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ฟื้นฟูการแสดงโขนพระราชทานขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่การฟื้นฟูเพียงแค่การแสดงโขนเท่านั้น แต่ยังเป็นการฟื้นฟูงานศิลปะ ทั้งงานหัตถศิลป์ งานประณีตศิลป์ชั้นสูงหลายแขนงด้วย ไม่ว่าจะเป็นงานทอผ้า งานปักสะดึงกลึงไหม รวมไปถึงการแต่งหน้าโขนด้วยนั่นเอง.

...