ธุรกิจรีเทลคือเรื่องของดีเทลล้วนๆ ต้องอาศัยความละเอียด อ่อนมาก ถึงจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในวงการได้ เพราะการแข่งขันขับเคี่ยวรุนแรงสาหัสสากรรจ์ กระนั้น แม้จะเติบโตมาในครอบครัวนักธุรกิจที่ไปตั้งรกรากเปิดร้านอาหารและโรงแรมในแอลเอ ไม่ถนัดแฟชั่นแม้แต่น้อย แต่เพียงระยะเวลาไม่กี่ปี “โอภาส เลวิจันทร์” ซีอีโอหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง ก็สามารถปลุกปั้นกลุ่มบริษัทแปซิฟิกา ให้เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นระดับท็อปของเมืองไทย มี 14 แบรนด์ดังระดับโลกอยู่ในมือ และเตรียมสยายปีกขยายธุรกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดดไม่หยุดยั้ง โดยได้ภรรยาคนเก่ง “โศภนา เลวิจันทร์” เป็นคู่คิดคอยสร้างทัพหลังให้แข็งแกร่ง
“ผมโตที่อเมริกา ครอบครัวไปตั้งรกรากอยู่แอลเอ ทำธุรกิจโรงแรม อสังหาฯ และร้านอาหาร หลังจากเรียนจบปริญญาตรีและปริญญาโทด้านไฟแนนซ์และเอ็มบีเอ ผมก็ทำงานด้านไฟแนนซ์กับคอนซัลท์อยู่ที่ซานฟรานซิสโก และนิวยอร์ก ยังไม่คิดกลับเมืองไทย ปกติผมไม่ใช่คนชอบ แต่งตัวเยอะ จะออกแนวสบายๆใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์ทุกวันนี้ก็เป็นอย่างนั้น แต่ที่เกิดความคิดว่าอยากทำรีเทล เอาแบรนด์ “โค้ช” มาเปิดเมืองไทย เพราะเดินผ่านแฟล็กชิพสโตร์ของโค้ชในย่านเมดิสัน เห็นร้านคนแน่นมาก หลังจากโค้ชเพิ่งปรับสินค้าและร้านใหม่หมด เน้นแฟชั่นมากขึ้น ก่อนหน้านั้นโค้ชเป็นสินค้าขายดี แต่ไม่อินแฟชั่นมาก ยุคผมเริ่มทำงานใหม่ๆ คนเรียนจบใหม่ต้องมีโค้ชทุกคน อย่างน้อยก็ต้องถือกระเป๋าใส่เอกสารของโค้ช คนรับปริญญายุคนั้นจะได้ของขวัญชิ้นแรกก็เป็นบรีฟเคสของโค้ช” คุณโอบอกเล่าที่มา
...
เป็นหนุ่มหน้าใสไม่เคยทำรีเทล เกลี้ยกล่อมยังไงให้ผู้บริหารโค้ชไว้วางใจ
สมัยนั้นในเอเชียอาคเนย์ยังไม่มีร้านโค้ช เพิ่งเริ่มเปิดที่ญี่ปุ่นและฮ่องกง ผมกลับไปโรงแรมก็รีบเสิร์ชอินเตอร์เน็ตหาทางติดต่อซีอีโอโค้ช ตอนแรกเลขาไม่ยอมให้เข้าพบ ผมโทร. จิกเช้าเย็นๆ จนยอมให้ส่งบิสเนสแพลน แล้วนัดให้เข้าไปคุยกับซีอีโอ ตอนนั้นอายุแค่ 29-30 ปี ใช้ชื่อว่า “โรเบิร์ต เลวิ-จันทร์” เขานึกว่าผมเป็นฝรั่งเศส นามสกุลเลวิชองอะไรแบบนั้น พอเจอกันเลยงงๆ โชคดีเราทำบิสเนสแพลนดี ซีอีโอโค้ชเห็นถึงความตั้งใจของผม และมองต่างมุมว่าการให้แบรนด์โค้ช กับเจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่ น่าสนใจกว่าการให้แบรนด์กับดิสทริ- บิวเตอร์ที่ทำรีเทลอยู่แล้ว เพราะโค้ชจะเป็นแค่หนึ่งแบรนด์ในเครือ แต่ถ้าให้กับดิสทริบิวเตอร์ที่เป็นผู้ประกอบการเองน่าจะทำแบรนด์โค้ชได้ดีกว่า พอเจรจาสำเร็จเลยได้เปิดร้านโค้ชร้านแรกที่เอราวัณ แบงค็อก เมื่อปี 2002 ปีแรกปิดยอดขายที่ 60 ล้านบาท ซึ่งถือว่าดีมาก เราไม่เคยทำรีเทลมาก่อน ผมยังมีโรงงานผลิตสีที่เมืองจีนด้วย ทำงานอยู่เมืองจีน 6 ปี และทำร้านโค้ชไปด้วย ก็บินไปบินมาระหว่างเมืองจีนกับไทย ตอนหลังขายธุรกิจสีในเมืองจีนให้ฝรั่ง แล้วกลับมาบุกเบิกกลุ่มบริษัทแปซิฟิกาเป็นหลัก
ธุรกิจของแปซิฟิกาสยายปีกเติบโตเร็วขนาดไหน
3 ปีแรก เรามีแค่ 3 แบรนด์คือ โค้ช, เคนเนธ โคล และแคมเปอร์ จนถึงปี 2009 เอาแบรนด์เครื่องหนังจากอิตาลีคือ “ค็อกซิแนล” มาเพิ่ม กระทั่งปี 2012-2013 ผมกลับมาบริหารแปซิฟิกาเต็มตัว เลยนำเข้าแบรนด์อีกเยอะ มีทั้งเครื่องสำอางนิกซ์, สตรีทแวร์ “อเมริกัน อีเกิ้ล เอาท์ฟิตเตอร์”, โจส์ ยีนส์, แบรนด์รองเท้า เคดส์, โปรเคดส์ และสเปอร์รี่, แบรนด์แฟชั่นพรีเมี่ยม เช่น เซี่ยงไฮ้ แทง, สปอร์ตแม็กซ์, แม็กซ์ แอนด์ โค และล่าสุดเพิ่งนำเข้า “แม็กซ์ มาร่า” ถามว่าเราโตเร็วไหม จากปี 2005 เรามียอดขายอยู่ที่ 100 กว่าล้านบาท ปีนี้ยอดขาย พุ่งขึ้นเป็น 1,400 ล้านบาทแล้ว
...
เสน่ห์ของธุรกิจค้าปลีกอยู่ตรงไหน อะไรคือความยากง่าย
รีเทลคือเรื่องของดีเทลล้วนๆ มันเป็นอะไรที่ไม่ง่าย ต้องอาศัยความละเอียด อ่อนมาก เวลาผมไปร้านต้องดูทุกอย่าง ต้องคุยกับลูกค้าว่าพวกเขาต้องการอะไร เป็นธุรกิจที่มีคู่แข่งเยอะมาก ต้องอาศัยความพยายามสูง และใช้เงินทุนสูง ธุรกิจรีเทลมีความเซ็กซี่น่าดึงดูดใจที่ใครๆก็อยากเข้ามาทำ แต่จริงๆแล้วต้องทำงานหนักมาก และหาจุดเด่นแตกต่างให้ได้ ถึงจะประสบความสำเร็จ
อะไรคือกลยุทธ์สร้างเอกลักษณ์ความต่างให้แบรนด์ ในเครือแปซิฟิกา
เราต้องมองขาดว่าตลาดไทยต้องการบริโภค อะไร อย่างแบรนด์ “อเมริกัน อีเกิ้ล” เติบโตรวดเร็ว มาก เพราะคนไทยชอบใส่กางเกงยีนส์ ตลาดเราใหญ่มาก ถ้าเรามีกางเกงยีนส์ราคาดี คุณภาพดี มีดีไซน์ให้เลือกเยอะ มันโดนแน่ การทำรีเทล ไม่ใช่ดูว่าเราชอบอะไร แต่ต้องอ่านใจให้ออกว่า ผู้บริโภคอยากได้อะไร ต้องดูแบรนด์ละเอียดว่าเหมาะกับคนไทยไหม แบรนด์ท็อปขายดีสุดของเราคือ นิกซ์, อเมริกัน อีเกิ้ล และโค้ช ก่อนจะเอาโปรดักส์มา เราต้องทำการบ้านเยอะมาก ต้องดูว่าในตลาดมีคู่แข่งอะไรบ้าง ต้องไปคุยกับห้างฯว่า โปรดักส์ไหนยอดโต ซึ่งเดนิมเป็นอะไรที่โตเร็วมาก
...
อยากปลุกปั้นแบรนด์ไหนอีกไหม และทำไมไม่คิดจับแบรนด์ไฮเอนด์
ผมว่าการทำแบรนด์ไฮเอนด์เปิดบูติกได้ไม่กี่แห่ง เฉพาะในกรุงเทพฯ ต้องลงทุนลงแรงเยอะ สำหรับผมมองว่าการทำธุรกิจรีเทลให้ประสบความสำเร็จจริงๆที่เราจะลงทุนเพิ่มได้ ต้องมียอดขายสูง ถ้าคุณเอาแบรนด์มาทำ แล้วเปิดได้ร้านสองร้านมันไม่คุ้ม ผมจ้างเด็กเก่งๆจบฮาร์เวิร์ดมาเป็นเฮดมาร์เก็ตติ้ง เด็กพวกนี้มีแอมบิชั่นของตัวเองที่อยากทำธุรกิจให้เติบโตประสบความสำเร็จ ถ้าผม เอาแบรนด์มาแล้วเปิดได้ช็อปเดียว มันไม่ใช่!! อย่างอเมริกัน อีเกิ้ล ผมเอามาทำ เปิดได้ 20-30 สาขา หรือแบรนด์โค้ช ก็สามารถเปิดได้ 9 สาขา ผมสนใจตลาดพรีเมี่ยมและแมสมากกว่า เพราะโตรวดเร็วต่อเนื่องกว่า ผู้บริโภคไทยมีความโซฟิทิเคท มีความรู้เรื่องแฟชั่นและเทรนดี้มาก คนไทยแพ้แค่ญี่ปุ่นกับเกาหลี ถ้าเป็นตลาดคอสเมติก เราเป็นตลาดใหญ่อันดับหนึ่งหรือสองในเอเชียอาคเนย์ ส่วนตลาดเดนิม “อเมริกัน อีเกิ้ล” ในเอเชียอาคเนย์ เราก็เป็นตลาดใหญ่สุด ส่วนแบรนด์โค้ช ถ้านับเฉพาะตลาดในประเทศอย่างเดียวเราเบอร์หนึ่ง
...
ช่วง 2-3 ปีนี้ เศรษฐกิจไทยค่อนข้างซบเซา กระทบยอดขายเยอะไหม
สินค้าของเราเน้นตลาดพรีเมี่ยมและแมส เลยไม่ค่อยได้รับผลกระทบเท่าไหร่ แต่ตลาดไฮเอนด์ ผมว่าเหนื่อย อย่างเมืองจีน ปีนี้หลุยส์ วิตตอง และปราด้า ปิดสาขา เยอะมาก ขณะที่โค้ชเติบโตเยอะเลย เพราะเราเป็นเฟิร์สต์เอนทรีของลักชัวรี่ ยังไงพอคนเริ่มทำงานมีเงินเดือนก็อยากซื้อแบรนด์เนม ซึ่งโค้ชคือคำตอบ
คุณโศเข้ามาช่วยงานด้านไหนบ้าง
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว “โศ”เข้ามาช่วยดูเรื่องการตลาดทั้งหมด ก่อนหน้านั้นเคยทำธุรกิจเท็กซ์ไทล์และอสังหาฯกับคุณพ่อ หน้าที่ของโศคือเข้ามาทำให้มีความเป็นโปรเฟสชั่นแนลมากขึ้น คุณโอให้นโยบายว่าเราไม่มีทางโตเป็นธุรกิจ 2-3 พันล้านได้ ถ้าไม่มีพนักงานที่เก่งจริง โศมีหน้าที่ฟอร์มทีมให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น เราต้องเอาแบรนด์ที่ใช่เลยเข้ามาทำ ถึงจะดึงคนเก่งๆมาทำงานด้วย ถ้าไม่เห็นอนาคตว่าจะโตได้ เด็ก พวกนี้ไม่มีวันมาทำงานกับเราหรอก คือคุณโออยากสร้างทีมแข็งแกร่งที่สุด เขาจะให้สตรัคเจอร์ของแต่ละแบรนด์ แล้วปล่อย น้องๆลงมือทำ ทุกอย่างที่ประสบความสำเร็จก็มาจากการทำงานหนักและความพยายามของทุกคน โศเข้ามาสร้างทีมให้ใหญ่ขึ้น จนตอนนี้เรามีทีมมาร์เก็ตติ้ง 12 คน โศเดินทางเยอะ ทำให้มีประสบการณ์เรื่องแฟชั่น รู้ว่าคอนเซปต์ของแต่ละแบรนด์น่าจะไปทางไหน เราก็จะอินพุทสิ่งเหล่านี้ให้เด็กๆ สมัยก่อนการตลาดของเราไม่มี คีย์เพอร์ซัน โศเข้ามาเป็นตัวแทนของแปซิฟิกา เวลาไปติดต่อกับเจ้าของแบรนด์ทำให้คุยกันรู้เรื่อง ใครก็ทำได้เรื่องซื้อมิเดีย แต่ที่ยากคือคนจะมาเป็นตัวแทนของแบรนด์ในการคุยกับลูกค้าคุยกับเมืองนอก สมัยก่อนไม่เคยมีตรงนี้ นอกจากคุณภาพของโปรดักส์แล้ว โศยังเน้นเรื่องการบริการ และสโตร์เอ็กซ์พริเรียนส์ การที่ลูกค้าเข้ามาในร้าน แล้วได้สัมผัสบรรยากาศในร้าน ได้พูดคุยกับพนักงาน ทำให้เข้าใจถึงดีเอ็นเอของสินค้ามากขึ้น ดีกว่าเห็นในแอดโฆษณา ตรงนี้เราเห็นความสำคัญ และพยายามเทรนเด็กให้เข้าใจคอนเซปต์มากที่สุด เพื่อสร้างความแตกต่าง
ในสายตาคุณโศ คุณโอเป็นซีอีโอสไตล์ไหน
เป็นซีอีโอที่โหดมาก ดีมานด์มาก (หัวเราะ) เขาเป็นคนมีวิสัยทัศน์ หลายเรื่องที่เราไม่เห็นด้วย แต่สุดท้ายมันก็ออกมาถูกอย่างที่เขาคิด เช่น เรื่องโลเคชั่น, เรื่องแบรนด์ และเรื่องกลยุทธ์การตลาด เวลาเขามั่นใจ ส่วนมาก 99% จะถูก หน้าที่เราคือพูดความคิด ของเรา แล้วเขาจะเอาไอเดียเราไปประมวลผลเอง เขาเป็นคนที่เก่งมาก แต่ในการ ทำธุรกิจมันไม่ใช่เก่งอย่างเดียว ยังมีแง่มุมอื่นๆอีกเยอะ โศก็ได้นำแง่มุมอื่นๆที่เรียนรู้จากคุณพ่อมาช่วยเสริมให้ความคิดของเขาสมบูรณ์แบบมากขึ้น นิสัยคุณโอเป็นอเมริกัน มาก แต่เรื่องแฟมิลี่มีความเป็นไทย เขาชอบอยู่บ้านชอบทำกับข้าวให้ลูกกิน เดี๋ยวนี้คุณโอไม่ค่อยเดินทางแล้ว โศต้องเดินทางแทน เขาเลยมีเวลาอยู่กับลูกๆเยอะขึ้น
มาถึงวันนี้ประสบความสำเร็จอย่างที่คิดหรือยัง
ผมไม่ได้ตั้งเป้าเป็นตัวเลขนะ เพราะตัวเลขไม่มีคุณค่าอะไรกับผม แต่ผมมองว่าเราทำอะไรแล้วภูมิใจไหม ผมรู้แต่ว่าชีวิตนี้ไม่คิดเกษียณ ความสำเร็จตอบได้ ตอนที่เรามองย้อนหลังกลับไป แล้วเห็นว่าเราทำใช้ได้เลย แต่บริษัทของเราตอนนี้ยังมีอะไรที่ทำได้อีกเยอะ ยังมีโอกาสอีกเยอะ ยังไม่ถึงจุดสำเร็จ เพราะเรายังเติบโต ได้อีกเยอะ.
ทีมข่าวหน้าสตรี