จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากจะเป็นแหล่งวิชาการให้ความรู้แล้ว รอบรั้วจามจุรียังเป็นพื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง ที่ร่มรื่นไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด มิใช่มีแต่เพียงต้นก้ามปูหรือจามจุรี อันเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้เท่านั้น เพื่อให้รู้จักพรรณไม้ที่น่าสนใจเหล่านี้ ศ.ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด และคณะ จากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับสำนักพิมพ์จุฬาฯ ได้จัดทำหนังสือทรงคุณค่า “พรรณไม้ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 100 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาฯ และสร้างจิตสำนึกในการร่วมมือกันอนุรักษ์พรรณไม้ในมหาวิทยาลัย

...

ในการเปิดตัว หนังสือทรงคุณค่า “พรรณไม้ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ได้ มีการเสวนาเกี่ยวกับพรรณไม้นานาชนิดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย ซึ่ง ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2505 พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯมาทรงปลูกต้นจามจุรี จำนวน 5 ต้น ที่จุฬาฯ และได้พระราชทานกระแสพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “ฝากต้นไม้ไว้ห้าต้น ให้เป็นเครื่องเตือนใจตลอดกาล” ที่ผ่านมาชาวจุฬาฯ ได้ร่วมมือร่วมใจกันทำให้จุฬาฯเป็นอุทยานจามจุรี ที่ร่มรื่นและร่มเย็นด้วยต้นไม้ ส่งผลให้จุฬาฯได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับ 1 ของประเทศไทย และอันดับ 30 ของโลก ประจำปี 2015 นอกจากนี้ยังมีการขยายการปลูกต้นไม้จำนวนกว่า 200,000 ต้นที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี นอกจากต้นจามจุรีแล้ว ยังมีต้นไม้ประจำคณะอีกมากมาย ต้นไม้แต่ละชนิดมีความหมายทั้งสิ้น ซึ่งส่วนหนึ่งของพรรณไม้เหล่านี้จะนำไปปลูกในอุทยานจุฬาฯ 100 ปี บน พื้นที่ 30 ไร่ บริเวณจุฬาฯ ซอย 9 จรดถนนบรรทัดทองเพื่อเป็นของขวัญชิ้นสำคัญที่ชาวจุฬาฯ จะมอบให้แก่แผ่นดิน ในวาระครบ 100 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาฯ ในปี 2560

...

ขณะที่ ศ.ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด ผู้เขียนหนังสือ “พรรณไม้ในจุฬาฯ” กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ใช้เวลาในการจัดทำนานกว่า 5 ปี เนื้อหาในหนังสือแบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ จากอดีตสู่ปัจจุบัน รวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับลักษณะทางกายภาพของมหาวิทยาลัย ความเกี่ยวพันของต้นไม้กับอาคารต่างๆ ต้นไม้ประจำคณะ ตลอดจนภาพรวมของพรรณไม้ในปัจจุบัน, จามจุรีศรีจุฬาฯ นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับต้นจามจุรีในหลายมุม และจุฬาฯ นานาพรรณ เป็นการ แนะนำต้นไม้ในจุฬาฯ พร้อมภาพประกอบที่งดงาม ซึ่งผู้สนใจสอบถามได้ที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ.