นาทีนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก แฟลชม็อบแพนด้า ตุ๊กตาที่ประดิษฐ์ขึ้นจากศิลปะเปเปอร์มาเช่จำนวนกว่า 1,600 ตัว ที่เข้ามาบุกเมืองไทยพร้อมตะลอนไปเที่ยวตามสถานที่สำคัญต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

คนรัก แพนด้า ทั้งหลาย ต่างอดใจไม่ได้ที่จะเดินทางไปชมและแชะภาพสวยๆ กับแพนด้าเหล่านี้ พร้อมอัพโหลดโชว์ภาพมุมเด็ดๆ ในโลกโซเชียลกันอย่างคึกคัก นอกจากความน่ารักที่คุณเห็น รู้หรือไม่? จริงๆ แล้วพวกมันไม่ได้เป็นแค่ตุ๊กตา แต่เป็นสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์สัตว์ป่าทั่วโลก

แนวคิดอันน่าทึ่งนี้ ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยฝีมือของ เปาโล กรองจีอง (Paulo Grangeon) ศิลปินชาวฝรั่งเศส วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ ได้เจอตัวจริงเสียงจริง เลยถือโอกาสคว้าตัวมาพูดคุยกันถึงโปรเจกต์ครั้งนี้เสียหน่อย ถ้าพร้อมแล้ว อย่ารอช้า ตามมาอ่านกันเลย

Q : โปรเจกต์นี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่คะ

โปรเจกต์นี้เริ่มต้นในปี 2008 (พ.ศ. 2551) ตอนที่ WWF ของฝรั่งเศสครบรอบ 35 ปี ก็เลยมีโปรเจกต์ทำแพนด้าน้อยขึ้นมา เริ่มแรกเราทำแพนด้าขึ้นมาทั้งหมด 1,600 ตัว ซึ่งเท่ากับจำนวนแพนด้าที่ยังหลงเหลืออยู่ทั่วโลกในขณะนั้น แล้วก็พาแพนด้าเดินทางจัดแสดงและสร้างสีสันตามเมืองท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญต่างๆ กว่า 100 แห่งในหลายประเทศทั่วโลก ได้แก่ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ไต้หวัน เกาหลี มาเลเซีย ที่ฮ่องกง และล่าสุดที่ประเทศไทย

...

แต่ว่าตอนที่ออนทัวร์ที่ยุโรปช่วงนั้น ผมไม่ได้ไปด้วยตลอด เพราะว่าการจัดงานทุกอย่าง ทาง WWF ฝรั่งเศส เป็นคนจัด แต่พอได้มาจัดแสดงที่เมืองไทย ผมมาออนทัวร์ด้วยตัวเอง เพราะว่ามีพาร์ตที่ผมต้องมาร่วมกิจกรรมด้วย

Q : ทำไมถึงเลือกประดิษฐ์เป็นตุ๊กตาแพนด้า

ถ้าผมทำเป็นเสือหรือลิง มันก็คงไม่น่ารักเท่าแพนด้า เสือ เป็นสัญลักษณ์ของความดุร้าย ไม่เชื่อง ส่วน ลิง ในแง่ของเปเปอร์มาเช่มันก็ทำยาก อาจจะต้องใช้พลาสติกมาทำส่วนของแขนขา แต่ว่าแพนด้าเขามีบุคลิกที่น่ารัก เป็นมิตร เวลาเด็กๆ เห็นก็จะตื่นเต้นกันมาก และให้ความสนใจ เป็นธรรมชาติของคนทั่วไปที่เวลามองเห็นแพนด้าก็จะรู้สึกว่ามันน่ารัก อยากเข้าใกล้ อยากเล่นด้วย

อีกอย่างผมเองชอบดูสารคดีเกี่ยวกับแพนด้า และชื่นชอบแพนด้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เวลาเห็นแม่แพนด้าเลี้ยงลูก มันแสดงให้เห็นถึงความรักที่อบอุ่น ความอ่อนโยน ซึ่งผมประทับใจมาก ในมุมมองของผม คิดว่าแพนด้าเป็นสัตว์ที่สวยงามที่สุดแล้ว

Q : ทำไมครั้งนี้เลือกมาที่เมืองไทย

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมได้เดินทางมาเรียนการทำเปเปอร์มาเช่ที่เมืองไทย หลังจากนั้นในปี 2008 เจ้าแพนด้าน้อยก็ถูกทำขึ้นที่เมืองไทยเป็นครั้งแรก

นอกจากนี้ ในฐานที่เป็นศิลปินผมมองว่า เมืองไทยมีสถานที่สวยงามเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นวัด พระราชวัง หรือสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่นๆ ผมรู้สึกแฮปปี้มากที่ได้มีโอกาสมาจัดแสดงผลงานที่นี่ เพราะว่าแบ็กกราวด์ตามสถานที่เหล่านั้น สวยงามจริงๆ แล้วแต่ละแห่งก็เป็นสถานที่สำคัญของเมืองไทยด้วย ซึ่งมองเทียบกันถ้าเป็นเมืองจีน ผมก็คงอยากไปจัดแสดงที่กำแพงเมืองจีน เพราะว่ามันเป็นสถานที่สำคัญของประเทศจีน

Q : ผลงานแพนด้าทั้ง 1,600 ตัว ทำเองทั้งหมด? 

ผมทำเองด้วย แต่ส่วนใหญ่เป็นฝีมือคนไทย ตุ๊กตาพวกนี้ผลิตขึ้นจากฝีมือกลุ่มแม่บ้านในพื้นที่ชุมชนภาคกลางของไทย กลุ่มแม่บ้านกลุ่มนี้ ถ้าไม่ใช่ฤดูกาลทำเกษตรกรรม ก็จะมีช่วงที่ว่างอยู่ ผมได้เข้ามาสนับสนุนตรงนี้เป็นอาชีพเสริม ผมเองก็ภูมิใจที่ได้ให้งานกับชุมชน และที่สำคัญมันเป็นงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องใช้เครื่องจักร เป็นงานแฮนด์เมดทุกขั้นตอน ในขั้นตอนการทำไม่ทำลายธรรมชาติ ฉะนั้นมันจึงไม่สร้างมลภาวะ และยังได้แสดงออกถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติด้วย จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่สะอาดปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อม

...

Q : การจัดแสดงครั้งที่ผ่านๆ มา ช่วยเรื่องการอนุรักษ์ได้จริงจังแค่ไหน

มีการจัดแสดงตามประเทศต่างๆ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ได้รับการตอบรับอย่างดีจากแต่ละประเทศ จนปัจจุบันทีมงานได้เพิ่มเครื่องหมายบวก (+) ในชื่อโครงการ 1600 Pandas+ World Tour นั้นมาจากจำนวนประชากรแพนด้าที่เพิ่มขึ้น 17% หมายถึงความสำเร็จในการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่มากขึ้น

แพนด้าผสมพันธุ์แค่ปีละครั้ง ภายในเวลา 2-3 วันเท่านั้นเอง ฉะนั้นการขยายพันธุ์จึงใช้เวลานาน ประชากรแพนด้าเพิ่มขึ้นทีละน้อย ตอนแรกที่เริ่มทำโปรเจกต์นี้ มีแพนด้าในธรรมชาติ (ไม่นับรวมที่อยู่ในสวนสัตว์) ทั้งโลกแค่ 1,600 ตัว พอทำโปรเจกต์นี้มาเรื่อยๆ ปรากฏว่า ล่าสุดที่มีการสำรวจพบว่า ประชากรแพนด้าเพิ่มขึ้นเป็น 1,923 ตัวแล้ว แสดงว่าจำนวนก็เพิ่มขึ้น ซึ่งก็ดีมาก ทำให้เห็นว่าโปรเจกต์นี้ก็น่าจะมีส่วนช่วยให้การอนุรักษ์ได้ผล

Q : แล้วผลตอบรับจากชาวไทย พอใจไหม

ผมเองเพิ่งบินมาถึงเมืองไทยเมื่อวานนี้ ก็เลยยังไม่ได้สำรวจดูมากนัก แต่เท่าที่เปิดดูในอินเทอร์เน็ต ก็เห็นว่าคนไทยให้การต้อนรับแพนด้าเยอะมาก เดินทางมาชม ให้ความสนใจมากๆ ผมเองก็ประทับใจตรงนี้ และแพนด้าสำหรับผมนี่มันไม่ใช่ของเล่น หรือเป็นแค่ตุ๊กตานะครับ แต่มันเป็นสัญลักษณ์ของการดูแลและอนุรักษ์สัตว์ป่าทั่วโลก พอเห็นภาพที่มีคนไปชมไปถ่ายรูปกับแพนด้าก็แฮปปี้ที่มีคนติดตามกันเยอะ และสถานที่ที่ทีมงานเลือกไปจัดแต่ละที่ก็มีฉากที่สวยงามทั้งนั้นเลย ก็ประทับใจครับ

...

Q : ประเทศถัดไปที่อยากไปจัดแสดง 

ยังไม่ทราบแน่ชัดนะครับ แต่อยากให้ทราบว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการมาจัดแสดงในแต่ละประเทศ ก็คือ มันเป็นการระดมทุนให้กับ กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) เพื่อที่จะมาคุ้มครองสัตว์ป่าในเมืองไทยด้วย ซึ่งก็คือเสือโคร่งกับช้างป่า แล้วที่สำคัญคือ เด็กๆ วัยรุ่น หรือใครก็ตามที่เห็นแล้วชื่นชอบแพนด้าน้อยเหล่านี้ ก็สามารถเข้ามาร่วมกิจกรรม "รับเลี้ยง (Adopt)" แพนด้าน้อยได้ด้วย เป็นการอุดหนุนเพื่อกองทุน ซึ่งกองทุนตรงนี้สำคัญมากเพราะผมอยากให้มันเกิดผลลัพธ์ที่ดีกับทุกประเทศที่ไปจัดแสดง

Q : ฝากถึงแฟนๆ แพนด้าชาวไทย

ขอขอบคุณชาวไทยที่ให้ความสนใจกับโปรเจกต์นี้ ขอบคุณเซ็นทรัลเอ็มบาสซีที่ทำให้งานนี้เกิดขึ้น งานนี้ไม่ได้เป็นงานเชิงธุรกิจ แต่เป็นงานเชิงอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อม ขอบคุณสื่อมวลชนที่สนใจและตามไปถ่ายแพนด้าน้อยในสถานที่ต่างๆ ที่สำคัญคือ ขอบคุณอาสาสมัครคนไทยทุกคนที่มาช่วยงานตั้งแต่ต้นจนจบ มาช่วยจัดวางแพนด้าในแต่ละจุด เพราะว่ามันเป็นงานที่หนักมาก แล้วไปหลายที่มาก ทั้งแฟลชม็อบ ทั้งการไปจัดเพื่อถ่ายรูปกับสถานที่สำคัญ ทุ่มเทมากจริงๆ ขอบคุณครับ

...

*ล้อมกรอบ*
ผู้ที่สนใจจะบริจาคสมทบทุนให้กับกองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานประเทศไทย (WWF-Thailand) เพื่ออนุรักษ์ช้างไทยและเสือโคร่ง สามารถมาร่วมกิจกรรม Adopt Pandas ด้วยการลงทะเบียนได้ในงานที่จะจัดขึ้นในจุดสุดท้ายของเมืองไทยที่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี วันที่ 24 มี.ค. - 10 เม.ย. 2559

โดยมีตุ๊กตาแพนด้าให้เลือก 3 ขนาด ได้แก่ ขนาด S ราคา 800 บาท , ขนาด M ราคา 1,200 บาท และ ขนาด L ราคา 1,600 บาท รายได้ทั้งหมดมอบให้ WWF-Thailand โดยไม่หักค่าใช้จ่าย เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. 2559 และสามารถมารับตุ๊กตาแพนด้าได้ในวันที่ 10 เม.ย. 2559 (เปิดขายในเว็บไซต์และหน้างาน มี 1,600 ตัว หมดแล้วหมดเลย ไม่มีการผลิตอีกจนกว่าจะเกิดโปรเจกต์นี้ขึ้นอีกในอนาคต)

นอกจากนี้ ในงานยังมีกิจกรรมเวิร์กช็อป สอนทำแพนด้าจากเปเปอร์มาเช่ ใครที่เข้าร่วมเวิร์กช็อป สามารถนำตุ๊กตาที่ทำเองกลับบ้านได้เลย