มหกรรมรื่นเริงเพื่อการกุศลที่ยิ่งใหญ่ประจำปี ที่ทุกคนรอคอย “งานกาชาดประจำปี 2559” จะเริ่มขึ้นแล้ว ระหว่างวันที่ 30 มี.ค.-7 เม.ย. ศกนี้ ภายใต้คำขวัญ “ใต้พระบารมี สดุดี 84 พรรษา สภานายิกาสภากาชาดไทย” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ องค์สภานายิกาสภากาชาดไทย ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา
ม.ร.ว.ปรียางค์ศรี วัฒนคุณ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย ฝ่ายการจัดหารายได้ รองประธานกรรมการอำนวยการจัดงานฯ กล่าวว่า งานกาชาดปีนี้จัดขึ้นบริเวณสวนอัมพร ลานพระบรมรูปทรงม้า สนามหน้าที่ทำการสำนักพระราชวัง (สนามเสือป่า) ถนนศรีอยุธยา และถนนราชดำเนินนอกเช่นทุกๆปี โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม ราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย จะเสด็จฯเปิดงานในวันที่ 30 มี.ค. เวลา 17.00 น. และทอดพระเนตรกิจกรรมในงาน โดยปีนี้มี 3 กิจกรรมพิเศษ ประกอบด้วยการแสดง แสง สี เสียง ชุด “ราชการุณย์” โดยโครงเรื่องเกี่ยวกับเมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระ ราชดำเนินเยี่ยมศูนย์อพยพเขาล้าน จ.ตราด เพื่อเป็นการระลึกถึงพื้นที่แห่งมนุษยธรรมและความช่วยเหลือกัน จนกลายเป็นศาลาราชการุณย์
...
และในปีนี้ยังเป็นปีแรกที่มีขบวนแห่รถประดับไฟเฉลิมพระเกียรติฯ จาก 12 หน่วยงาน นำขบวนโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทำการประดับตกแต่งขบวนรถประดับไฟฯ ส่งเข้าประกวด โดยขบวนรถทั้งหมดจะร่วมร้อยเรียงเรื่องราวพระราชกรณียกิจ ภายใต้ความพอเพียง เรียบหรู อลังการ ซึ่งจะมีให้ชมเพียง 3 วัน ในช่วงเวลาเย็นของวันที่ 30 มี.ค. วันแรกของงานฯ บริเวณหน้าพระ ที่นั่งอนันตสมาคม จากนั้นในวันที่ 31 มี.ค.-1 เม.ย. ที่ถนนพิษณุโลก กิจกรรมสุดท้ายจัดให้มีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ บนอาคารใหม่ สวนอัมพร ภายใต้แนวคิด “ใต้ร่มพระบารมี สดุดี 84 พรรษา สภานายิกาสภากาชาดไทย” แสดงพระราชกรณียกิจในการทำนุบำรุงชาวไทยให้อยู่ดีกินดี
นอกจากนี้ บริษัทไปรษณีย์ จำกัด ได้จัดทำดวงตราไปรษณียากร ร่วมเฉลิมพระเกียรติองค์สภานายิกาสภา กาชาดไทย ชุดงานกาชาด 2559 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ใช้เทคนิคพิมพ์สองด้าน ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่อัญเชิญมาเป็นภาพบนแสตมป์ เป็นเหตุการณ์เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมผู้อพยพชาวกัมพูชา ในปี 2522 ด้านหลังแสตมป์ทุกดวงพิมพ์รหัสคิวอาร์โค้ด เมื่อสแกนจะได้ชมวีดิทัศน์พระราชกรณียกิจครั้งเสด็จฯ เยี่ยมศูนย์อพยพเมื่อ 37 ปีก่อน บนมือถือสมาร์ทโฟน ความยาว 4 นาที พร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษ ซึ่งผลิตขึ้นเพียง 8 แสนดวงเท่านั้น.