คุณเพิ่งถูกให้ออกจากงานใช่ไหม โถๆๆๆ เรื่องแบบนี้คงทำให้คุณเสียใจ เสียเซลฟ์ไม่ใช่เล่น การตกงานเป็นเรื่องน่ากลัวอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัว ปัจจุบันครอบครัวอเมริกันเกือบสองในสามมีผู้หญิงเป็นคนหารายได้หลักเข้าบ้าน เมื่อสถานการณ์บังคับให้คุณต้องเปลี่ยนงาน เรามีวิธีปรับใจให้คุณกลับมาไฟแรงอีกครั้ง เพื่อข้ามผ่านจากการเป็นคนตกงานมาเฉิดฉายเป็นพนักงานบริษัทอีกครั้ง
ขั้นที่ 1 แย่แล้ว! ฉันโดนยื่นซองขาว
ต่อรองกันก่อน
อย่าด่วนเซ็นเอกสารใดๆ นะคุณ ลูอีส เคอร์สมาร์ก (Louise Kursmark) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการย้ายงานจากบริษัท Best Impression Career Services ในเมืองรีดดิง รัฐแมสซาชูเซตต์ บอกว่า “คุณมีอำนาจต่อรองมากกว่าที่คิด นายจ้างอาจไม่อยากให้ขั้นตอนนี้ยืดเยื้อและลำบากเกินไป” สิ่งที่คุณต่อรองได้มีดังนี้ ขอเพิ่มค่าชดเชยกรณีเลิกจ้าง ขอรับเงินค่าจ้างในฐานะฟรีแลนซ์ที่ต้องทำโปรเจกต์ต่อให้เสร็จ และขอจดหมายอ้างอิงที่เป็นกลาง (ในจดหมายต้องระบุวันที่เริ่มต้นและสิ้นสุดการว่าจ้าง) ลองสอบถามด้วยว่า คุณขอเปลี่ยนเป็นลาออกเองแทนที่จะถูกไล่ออกได้หรือไม่ ถ้าคุณยอมเสียผลประโยชน์ที่จะได้รับในกรณีถูกเลิกจ้าง เพราะในกรณีคุณลาออกเองจะไม่เข้าข่ายได้รับผลประโยชน์จากการถูกเลิกจ้าง
ทุกข์ใจกับการสูญเสีย
แนะนำให้นัดเจอเพื่อนสนิทมาปรับทุกข์ กินเค้กช็อกโกแลตลาวาสักชิ้น (หรือจะกินแก้กลุ้มสัก 3 ชิ้นก็ไม่ว่ากัน) แต่อย่าคุยเรื่องนี้ให้เพื่อนฟังทางโซเชียลมีเดีย เพราะผลการสำรวจพบว่า 38% ของพนักงานที่ถูกไล่ออกหรือโดนให้ออกจากงาน เนื่องจากบริษัทต้องการลดพนักงานมักพูดไม่ดีถึงนายจ้างในโลกออนไลน์ จอน เอคัฟฟ์ (Jon Acuff) ผู้เขียนหนังสือ Do Over: Rescue Monday, Reinvent Your Work and Never Get Stuck ระบุว่า “ไม่มีบริษัทไหนสนใจดูข้อความที่คุณบ่นถึงงานเก่าในทวิตเตอร์แล้วคิดว่า “ว้าว! เราน่าจะชวนเธอมาทำงานกับทีมเรานะเนี่ย” แต่ผู้ที่สนใจดูอะไรแบบนี้กลับเป็นบริษัทจัดหางานข้อมูล จากงานวิจัยเผยแพร่ว่า บริษัทจัดหางาน 93% ยอมรับว่าเคยเข้าไปดูข้อมูลของผู้สมัครงานทางสื่อออนไลน์ ส่วนอีเมลที่คุณคิดจะแจ้งให้เพื่อนร่วมงานและลูกค้าทราบว่ากำลังจะออกจากงานเก่า และไม่ควรเขียนอะไรแรงๆ ที่พาดพิงถึงคนอื่น ลูอีสแนะนำให้เขียนว่า “คุณรู้สึกดีแค่ไหนที่ได้ร่วมงานกับพวกเขา”
...
โทรนัดหมอ
เพราะสิทธิประกันสังคมของคุณคงยังใช้ได้อีก 6 เดือนหลังจากลาออก รีบนัดวันตรวจสุขภาพให้เร็วที่สุด ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th หรือสายด่วน 1506
เลิกหลอกตัวเอง
ทำใจยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้คุณโดนยื่นซองขาว แม้ความผิดพลาดนั้นจะเป็นเพียงเพราะคุณทนทำงานที่ไม่เหมาะกับตัวเองมานานเกินไป ลูอีสชี้แจงว่า “คุณจำเป็นต้องทบทวนว่าทำอะไรพลาดไปบ้าง เพื่อจะได้ไม่ทำผิดซ้ำอีก”
ขั้นที่ 2 ได้เวลาหางานใหม่
เลือกงานอย่างมีสติ
สัญชาตญาณอาจบอกให้คุณเริ่มหางานใหม่ก่อนเปิดกล่องข้าวของที่ขนกลับบ้านเพื่อเอาต้นไม้หน้าตาเฉาๆ บนโต๊ะทำงานออกมาเสียอีก แต่อารมณ์ที่ยังเดือดปุดๆ อาจส่งผลให้คุณเลือกสมัครงานที่ไม่เหมาะกับตัวเอง ทางที่ดีเก็บตัวเล่นโยคะอยู่ที่บ้านสักสัปดาห์ แล้วค่อยติดต่อคนที่รู้จัก ผลการสำรวจความคิดเห็นระบุว่า สี่ในสิบของคนที่กำลังหางานจะได้งานที่ ‘ถูกใจหรือดีที่สุด’ เพราะคนรู้จักช่วยแนะนำให้ สก็อต สไตน์เบิร์ก (Scott Steinberg) ผู้เขียนหนังสือ Make Change Work for You ชี้แนะให้บอกเพื่อนและอดีตเพื่อนร่วมงานว่าคุณกำลังมองหางานใหม่ ถ้าอยากให้เพื่อนช่วยอย่างไร (เช่น แนะนำให้คุณรู้จักกับใครสักคน) ก็พูดกับเพื่อนตรงๆ ถ้าเพื่อนคนไหนยินดีช่วยเหลือคุณจริงๆ ให้สารภาพไปตามตรงว่า คุณถูกไล่ออกจากที่ทำงานเก่า คุณคงไม่อยากให้เพื่อนรู้เรื่องนี้จากคนอื่นในภายหลังหรอกนะ
ปรับแต่งประวัติการทำงาน
ผู้เชี่ยวชาญเสนอความเห็นว่า คุณไม่จำเป็นต้องใส่ข้อมูลเกี่ยวกับงานที่ทำเพียงไม่กี่เดือนลงใน Resume แต่ถ้าถูกถามถึงช่วงที่ว่าง ให้ตอบไปว่า “ฉันอยู่ที่นั่นช่วงสั้นๆ และต้องการให้ Resume เน้นเฉพาะประสบการณ์ที่สอดคล้องกับงานใหม่ที่จะทำมากกว่า” คุณอาจจะเก็บงำสถานะ ‘มีงานทำ’ ไว้อีก 2 สัปดาห์หลังจากเลิกทำงานที่เก่า ลูอีส บอกว่า ถ้าคุณยังคงเก็บสถานะเดิมไว้นานกว่า 2 สัปดาห์ มันส่อแววว่าคุณพยายามจะโกหก
โลกนี้ไม่ได้มีแต่งานประจำ
จอนบอกว่า “เมื่อคุณทำงานตำแหน่งเดิมในบริษัทเก่าสัก 2 ปี คุณจะคล้ายกบในกะลา พอโผล่ออกมาอีกทีจะเห็นว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว” ดังนั้นต้องเปิดใจกว้าง เมื่อ 5 ปีก่อนคุณเจาะจงสมัครเฉพาะงานประจำ แต่เดี๋ยวนี้อาจลองสมัครงาน Part-time พนักงานชั่วคราว หรือเป็นที่ปรึกษาก็ได้ ส่วนใหญ่ตำแหน่งเหล่านี้มักนำไปสู่การจ้างเป็นพนักงานประจำในที่สุด ลองถามผู้สัมภาษณ์ว่า พอทำงานไปสักพัก คุณมีโอกาสปรับเปลี่ยนสัญญาจ้างจากพนักงานชั่วคราวไปเป็นพนักงานประจำหรือไม่
ขั้นที่ 3 สัมภาษณ์ให้ได้งาน
เลือกคนที่ให้ข้อมูลอ้างอิง
บริษัท Allison & Taylor ซึ่งให้บริการเช็กข้อมูลอ้างอิงแก่บริษัทผู้ว่าจ้างทั้งหลาย ประเมินว่าราว 50% ของผู้ให้ข้อมูลอ้างอิงจะให้ข้อมูลกลับมาในลักษณะไม่ยินดียินร้าย’ หรือไม่ก็เป็น ‘แง่ลบ’ ข้อมูลนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าคุณจะต้องขอความร่วมมือให้ชัดเจนในขั้นตอนสัมภาษณ์กับที่ทำงานเก่าก่อนพ้นสภาพการเป็นพนักงาน โชคดีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลส่วนใหญ่มักไม่พูดถึงพนักงานที่ถูกไล่ออกในทางไม่ดี เพราะพวกเขาไม่อยากถูกฟ้อง จะให้ดีคุณอาจขอให้เพื่อนร่วมงานในบริษัทเก่าหรือลูกค้า ช่วยเป็นผู้ให้ข้อมูลอ้างอิง วิธีนี้เข้าท่ามากที่สุด
ตอบคำถามที่แสนยาก
เตรียมคำตอบสั้นๆ ไว้บอกเหตุผลว่า ทำไมคุณถึงออกจากบริษัทเก่า และควรเป็นคำตอบที่คนฟังมองคุณในแง่ดีด้วย ถ้าหากคุณตอบว่างานเก่าไม่เหมาะกับคุณ ต้องบอกด้วยว่าคุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง (ตัวอย่างเช่น “การทำงานคนเดียวทำให้ฉันค้นพบว่าตัวเองเหมาะกับการทำงานเป็นทีมมากกว่า”) หัดซ้อมพูดประโยคเหล่านี้จนฟังเป็นธรรมชาติ เพราะคนสัมภาษณ์จะจับตาดูอารมณ์และความรู้สึกแสดงออกมาเวลาตอบคำถามนี้มากพอๆ กับสนใจคำตอบของคุณเลยทีเดียว ลูอีสบอกว่า “ถ้ายังรู้สึกอับอายหรือขมขื่น เขาสังเกตเห็นแน่นอน”
...
เรื่อง: Kate Sullivan | แปลและเรียบเรียง: จิตติมา มะโนทัย | ภาพ : Corbis Images
ที่มา - Women's Health Thailand
www.womenshealththailand.com